“ครูช้อย” เบโธเฟนเมืองไทย อัจฉริยศิลปินตาบอด ครูดนตรีฝีมือขั้นเทพ

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน (Ludwig Van Beethoven) นักดนตรีชาวเยอรมนี เข้าสู่เส้นทางสายดนตรีตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีพ่อเป็นตัวตั้งตัวตี สามารถแสดงเปียโนได้ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เขาได้ไปเรียนดนตรีที่เวียนนากับครูที่มีชื่อเสียงแต่เกิดขัดแย้งกันด้วยความคิดที่แตกต่าง จึงได้ออกตระเวนแสดงดนตรีไปตามวิถีทางของตัวเองจนมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่โชคร้ายที่จู่ๆ หูของเขาก็ไม่ได้ยิน ในสมัยนั้นคนพิการไม่ถูกยอมรับ แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ ยืนหยัดที่จะเป็นนักดนตรีต่อไป ผู้คนยอมรับในพรสวรรค์ของเขาไม่ปิดทางของเขาด้วยข้อจำกัดทางร่างกาย

แม้เบโธเฟนจะละโลกนี้ไปนานแล้วแต่ผลงานของเขาก็ยังคงเป็นอมตะอาทิเช่น Pastoral Symphony No.6, Triple Concert and Piano Sonata เป็นต้น

ครูช้อย สุนทรวาทิน

คนดนตรีที่มีข้อจำกัดทางร่างกายเป็นอุปสรรคในทำนองเดียวกันนี้ในเมืองไทยของเราก็มีให้เห็นอยู่ คือ อัจฉริยศิลปินตาบอด “ครูช้อย” นั่นเอง

ครูช้อย (ช้อย สุนทรวาทิน) ปรมาจารย์แห่งวงการดนตรีไทย ปราดเปรื่องทั้งเรื่องมโหรีและปี่พาทย์ เกิดในบ้านดนตรีมีพ่อเป็นครูดนตรี (ชื่อ ครูทั่ง ซึ่งเป็นครูดนตรีผู้ใหญ่รุ่นใกล้เคียงกับ พระประดิษฐ์ ไพเราะ (ครูมีแขก)) จึงผูกพันกับดนตรีมาตั้งแต่ยังเล็ก

แกมีใจใฝ่รักดนตรีแต่ครูทั่งไม่ได้สอนวิชาให้ ด้วยเห็นว่าแกตาบอด ตอนที่ครูช้อยเกิดมาได้ไม่นานก็ป่วยเป็นไข้ทรพิษทำให้ตาบอดสนิททั้งสองข้าง

แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเรียน เวลาที่ครูทั่งสอนดนตรีบรรดาลูกศิษย์คนอื่นอยู่บนเรือนส่วนครูช้อยก็จะนั่งฟังอยู่ที่ใต้ถุนเรือนครูช้อยเพียรที่จะเรียนมากถึงขั้นเอากะลามะพร้าวมาคว่ำวางเรียงกันเป็นลูกฆ้อง เวลาครูทั่งสอนอะไรๆ ครูช้อยก็จะนั่งฟังด้วย ทำแบบนี้อยู่ประจำ

เมื่อครูทั่งไม่อยู่บ้านครูช้อยก็จะขึ้นไปซ้อมกับเครื่องดนตรีจริงบนเรือน ได้ฝึกได้ซ้อมทุกชิ้นจนคล่องมือตรากตรำพร่ำเรียนพร่ำซ้อมมานานแต่ครูทั่งก็ไม่ยอมเปิดใจเปิดโอกาสให้สักที แต่โชคชะตาเข้าข้าง วันหนึ่งคนระนาดป่วยหาใครมาแทนไม่ได้ หนนี้ครูช้อยสบโอกาสได้แสดงฝีมือให้พ่อเห็น ปรากฏว่าทำได้ดี จนครูทั่งยอมรับยอมเปิดใจให้ลูกหลังจากที่ปิดกั้นมานานด้วยเห็นว่าตาบอด

นับจากวันนั้นครูช้อยเหมือนได้รับการปลดปล่อยได้ทำในสิ่งที่รักโดยอิสระไม่ถูกกีดกั้นใดๆ อีก ครูทั่งก็เต็มใจจะสอนวิชาให้ สอนให้ครูช้อยหมดทุกสิ่งสิ้น จากนั้นท่านยังได้ไปเป็นศิษย์ของครูมีแขก (พระประดิษฐไพเราะ) อีกด้วย ทำให้ท่านมีความรู้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น

ครูช้อยท่านสอนดนตรีทั้งตามบ้านตามวัด ไม่เว้นแม้แต่ในวัง ถึงแม้จะมองไม่เห็นแต่ประสาทสัมผัสของท่านไม่เคยพลาด เวลาคุมลูกศิษย์ซ้อมเพลง ศิษย์คนไหนเล่นผิดจังหวะ ผิดทำนองหรือบกพร่องตรงไหนท่านก็จะดีดเม็ดมะขามใส่ทิศทางของท่านแม่นยำมาก การดีดเม็ดมะขามก็เพื่อเป็นการเตือนสติให้รู้ตัวว่าผิด แล้วจึงบอกกล่าวให้ได้รู้ถึงข้อผิดพลาดนั้น

การเป็นคนเก่งของท่านได้สร้างประโยชน์ให้แก่วงการคีตศิลป์ไทย คือการเป็นครูดี มีศิษย์ดีช่วยสืบสานการดนตรี บรรดาลูกศิษย์ของท่านมีความสามารถ ได้แยกแตกสาแหรกออกไปตั้งสำนักมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมี สำนักพระยาประสานดุริยศัพท์ สำนักพระยาเสนาะดุริยางค์ สำนักครูเพชร จรรย์นาฏย์ เป็นสำคัญ

พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน) บุตรชายครูช้อย

นอกจากจะฝึกคนให้เก่งได้แล้ว ความสามารถพิเศษอย่างหนึ่งของครูช้อยคือสามารถฝึกนกได้ ท่านเลี้ยงนกฮูกไว้ตัวหนึ่ง เวลาท่านไปสอนลูกศิษย์ตามบ้านจะพามันไปด้วย พอขากลับก็ปล่อยให้มันบินกลับเอง มันจำทางไปบ้านทุกหลังได้ ท่านฝึกจนมันพูดคำว่า “พ่อเรียก” ได้ เวลามีคนมาติดต่อให้ไปแสดงปี่พาทย์ ก็จะสั่งมันว่า “ไอ้ฮูก ไปเรียกพวกพี่ๆ มา” มันก็จะบินไปเกาะที่บ้านลูกศิษย์และร้องว่า “พ่อเรียก” จนครบทุกหลัง พอรุ่งเช้าบรรดาลูกศิษย์ก็มาพร้อมเพรียงกันที่บ้านครูช้อย

เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าคนตาบอดสามารถฝึกนกได้ขณะที่คนตาดีบางคนก็ยังไม่สามารถ ความสามารถอีกอย่างที่แม้แต่คนตาดีๆ ยังต้องยกให้คือการใส่สายซอสามสายท่านทำด้วยความชำนาญมาก

ครูช้อยกับเบโธเฟนนั้นคล้ายกันตรงที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ต่างกันตรงที่ครูช้อยตาบอดแต่เบโธเฟนนั้นหูหนวกภายหลัง ครูช้อยต้องต่อสู้การถูกสบประมาทจากบิดาฝ่าฟันจนท่านยอมรับ ขณะที่เบโธเฟนต้องต่อสู้กับความพิการของตัวเองที่มาสูญเสียการได้ยินในภายหลังถือเป็นเรื่องที่ยากแก่การทำใจ แต่เขาก็ก้าวข้ามผ่านความรู้สึกนั้นมาได้

ถ้าจะบอกว่าเบโธเฟนเป็นผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความพิการ ครูช้อยก็เป็นผู้ไม่ยอมแพ้แก่การถูกสบประมาทในความพิการเช่นกัน หากถือเอาคุณสมบัติที่มีหัวใจแกร่งข้อนี้จะกล่าวว่าครูช้อยนั้นเป็น บีโธเฟนของเมืองไทยก็ย่อมได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

ถาวร สิกขโกศล . “สำนักดนตรีไทย จากต้นรัตนโกสินทร์ถึงครูเลื่อน สุนทรวาทิน”. ศิลปวัฒนธรรม. 28 : 9 กรกฎาคม 2550, หน้า 131-136.

โกวิทย์  ขันธศิริ. ดุริยางคศิลปะปริทัศน์ (ตะวันตก). กรุงเทพฯ : บริษัทโรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, 2528.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2562