เผยสูตร (ไม่) ลับต้นรัตนโกสินทร์ แก้อาการ “สะอึก” ชงัด ด้วยหางนกยูง?!

ตำรา สมุดไทย ฝีดาษ โรคระบาด
เวชศาสตร์ - แผนฝีดาษที่ฝีออก

“สะอึก” เป็นอาการหนึ่งที่คาดว่าเกิดมาจากสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น ระบบประสาทที่ควบคุมกระบังลมถูกรบกวน, การขยายตัวของกระเพาะอาหารมากเกินไป, ร่างกายพบเจอกับอุณหภูมิห้องที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว, การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงปัญหาทางด้านจิตใจ 

การสะอึกสร้างความรำคาญใจให้แก่ผู้ที่ประสบพบเจอไม่มากก็น้อย ทุกยุคทุกสมัยจึงล้วนต่างหาวิธีแก้ รวมถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ถึงกับมีบันทึกวิธีการบรรเทาให้อาการนี้หายไป โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือหางนกยูง

วิธีการบรรเทาอาการ “สะอึก” ให้หายเป็นปลิดทิ้ง ปรากฏอยู่ในจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร แผ่นที่ 7 ในหมวดตำรับยาแก้โรคสันนิบาต

“สิทธิการิยะ ท่านกล่าวสันนิบาตทั้งหลาย 7 ประการไว้โปรดคนทั้งหลาย คือสันนิบาตเพื่อเลือด 1 เพื่อลม 1 เพื่อเสลด 1 แลดีพลุ่ง 1 เพื่อน้ำเหลือง 1 เพื่ออัมพฤกษ์ 1 แลสันนิบาตสะแกเวียน 1 สันนิบาตทั้ง 7 ประการนี้ ถ้าจะแก้ให้เอาพริก 1 ขิง 1 ว่านน้ำ 1 โกฐสอ 1 โกฐเขมา 1 โกฐหัวบัว 1 ทั้งนี้เอาเท่ากันบดให้ละเอียด เอาพิมเสนรำหัดกินจำเพาะสันนิบาตตาเหลืองฯ 

ยาต้มภายในกินแก้สันนิบาตตาเหลือง เอาฝักราชพฤกษ์ 3 ฝัก ใบบีป 1 ใบสะเดา 1 บอระเพ็ด 1 รากเจตมูลเพลิง 1 จันทน์ทั้งสอง ขัณฑสกร 1 ต้ม 3 เอา 1 กินแก้สันนิบาตตาเหลืองแลฯ ถ้าแลสะท้านเอารากสลอดน้ำ 1 จันทน์ขาว 1 กระวาน 1 ขิง 1 ฝนด้วยชโลมแก้สะท้านแล ถ้าร้อนนักเอาผักเป็ด 1 ใบสะเดา 1 ใบสหัสคุณ 1 บอระเพ็ดฝน 1 เปลือกสะเดา 1 ใบหมากผู้ 1 ดินสอพอง 1 ละลายน้ำซาวข้าวชโลมแก้ร้อนแล

ถ้าสะอึก เอาหางนงยูงเผา 1 ตาไม้ไผ่ป่าเผา 1 บดด้วยน้ำละลายกินแก้สะอึก

ถ้าให้ราก เอาผักเสี้ยนผีเผา 1 เปลือกมะกรูดเผา 1 พริก 1 ขิง 1 บดให้ละเอียด เอาพิมเสนรำหัดละลายน้ำส้มซ่ากินแก้ราก

ถ้านอนมิหลับ เอาเปลือกมะรุม 1 รากสมอ 1 สันพร้ามอญ ไพล 1 ขมิ้นอ้อย 1 ต้ม 3 เอา 1 กินนอนหลับ”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2566