ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ผู้อ่านงานประวัติศาสตร์พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ “พระเจ้าตาก” คงคุ้นเคยกับทฤษฎี “สมคบคิด” ที่ค่อนไปทางประหลาดอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าชวนติดตามอย่างยิ่ง นั่นคือ พระเจ้าตากทรงหนีไป “บวช” ที่นครศรีธรรมราช เรื่องราวเหล่านี้มีมูลความน่าเชื่อถือเพียงใด?
“ศิลปวัฒนธรรม” ร่วมกับ “สมฤทธิ์ ลือชัย” ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมภูมิภาคอุษาคเนย์ ชวนตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์กับทุกประเด็นที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ตั้งข้อสงสัย โดยเลือกหนึ่งประเด็นทางประวัติศาสตร์ที่โด่งดัง ถูกพูดถึงมากที่สุดอย่าง “พระเจ้าตาก ‘บวช’ จริงไหม?” มาไขปริศนา หาข้อพิสูจน์ และถ่ายทอดอย่างน่าสนใจ ย่อยง่าย
อาจารย์สมฤทธิ์ ลือชัย กล่าวว่าเรื่องราวของพระเจ้าตากในเอกสารตั้งแต่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา สมัยรัชกาลที่ 4 ลงมา แทบไม่มีการกล่าวถึงพระองค์เลย จะมาปรากฏอีกครั้งก็หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อหลวงวิจิตรวาทการเขียนหนังสือชุด “ประวัติศาสตร์สากล” โดยในเล่มที่ 5 มีการเล่าถึงพระเจ้าตาก หลังจากนั้น กระแสเรื่องพระเจ้าตากถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ทองอยู่ พุฒพัฒน์ สส. ธนบุรี ได้เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์พระเจ้าตากขึ้นในพื้นที่ธนบุรี
“ปี 2494 ในช่วงที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี กำลังปั้นรูปพระเจ้าตาก เพื่อจะไปอยู่ที่วงเวียนใหญ่ หลวงวิจิตรวาทการได้ออกหนังสือเล่มหนึ่ง หนังสือเล่มนี้คือ ‘ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี’ … ทำให้เกิดการรื้อถอนองค์ความรู้เรื่องพระเจ้าตากในปลายแผ่นดินพระเจ้าตาก เพราะในหนังสือเล่มนี้บอกว่า พระเจ้าตากนั้นแท้จริงไม่ได้ถูกประหาร มีการเปลี่ยนตัว และพระเจ้าตากหนีรอดไปได้ ทำให้คนตื่นเต้นมาก”
ชุดความคิดดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะหลังจากนั้นมีหนังสือที่นำเสนอทฤษฎีดังกล่าวตามหลายชิ้น ล้วนระบุว่า พระเจ้าตากไม่ได้ถูกฆ่า โดยเฉพาะงานเขียนของ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ เรื่อง “ ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน” ซึ่งขยายความต่อยอดจากงานของหลวงวิจิตรวาทการ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ สาเหตุที่ต้องอ้างว่าพระเจ้าตากถูกฆ่า เพราะพระองค์ต้องการ “หนีหนี้” ที่ทรงกู้มาจากจักรพรรดิจีน และรายละเอียดเรื่องการหนีไปบวชที่วัดเขาขุนพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทำให้คนจำนวนมากเชื่ออย่างจริงจังว่า นอกจากพระเจ้าตากไม่ได้สิ้นพระชนม์เพราะถูกประหารแล้ว ยังเร้นพระองค์ไปยังที่ห่างไกลใต้ร่มกาสาวพัสตร์ด้วย
พระเจ้าตากบวชจริงหรือไม่? ถ้าไม่บวช แล้วบั้นปลายพระชนมชีพของพระองค์เป็นอย่างไร?
ติดตามได้ใน PODCAST นี้ :
อ่านเพิ่มเติม :
- การสร้างพระราชประวัติ “พระเจ้าตาก” ที่ปฏิเสธเอกสารทางประวัติศาสตร์
- ชำแหละตำนานนอกพงศาวดารหลังพระเจ้าตาก “หนีตาย” หรือ “หนีหนี้” สู่เมืองนครฯ
- อุปนิสัย “พระเจ้าตากสิน” ไม่ถือพระองค์ เข้าถึงปชช. ชอบสนทนานักบวช แต่เด็ดขาดการสงคราม
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 สิงหาคม 2566