จูม็อกบับ ข้าวปั้นเกาหลี สัญลักษณ์ประชาธิปไตย ที่เชื่อมโยง “เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู”

คน ให้ จูม็อกบับ ข้าวปั้นเกาหลี แก่ นักโทษ ที่ปูซาน
Conflit de Corée 1950-53. Pusan, camp de prisonniers de guerre. Des boules de riz sont distribuées à des prisonniers de guerre avant de les diriger vers le camp de Teajon.

หลายคนที่ชื่นชอบอาหารเกาหลีคงจะรู้จัก “จูม็อกบับ” (jumeokbap) เจ้าก้อนข้าวรูปร่างกลมแสนอร่อยที่ผสมไปด้วยวัตถุดิบมีประโยชน์ต่าง ๆ มากมาย เช่น สาหร่าย หัวไชเท้า ไข่กุ้ง รวมไปถึงมายองเนส หรือทูน่า แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากความอร่อย และคุณประโยชน์ต่าง ๆ ที่มอบให้ผู้กิน จูม็อกบับยังเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เกาหลี จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ประชาธิปไตย” 

จูม็อกบับ ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น ในอดีตเมนูที่มีส่วนประกอบหลักเป็นข้าวนี้เป็นอาหารสำหรับคนรับใช้ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคคามาคูระ (ค.ศ. 1185-1333) เมนูนี้ก็กลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนชื่นชอบ โดยเฉพาะซามูไรที่ต้องพกก้อนข้าวนี้ไปยังสนามรบ จนกระทั่งเข้าช่วงเอโดะ (ค.ศ. 1603-1868) จากก้อนข้าวที่ไร้วัตถุดิบปรุงแต่งก็เพิ่มเสริมสาหร่ายเข้ามา 

จากนั้น “ข้าวปั้น” ที่นิยมในญี่ปุ่นก็ได้แพร่กระจายเข้ามาในเกาหลี เพราะสงครามระหว่าง 2 ประเทศ ทั้งอาหารชนิดนี้ยังพกพาได้ง่าย จึงทำให้มันเป็นที่นิยมในกลุ่มของทหารและคนเดินทางไกล แม้จะเป็นข้าวปั้นเหมือนกัน แต่แยกกันด้วยรูปร่าง โดยข้าวปั้นญี่ปุ่นจะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือเรียกว่า “โอนิกิริ” ส่วนเกาหลีจะเป็นก้อนกลม ๆ คือ “จูม็อกบับ”

แล้วทำไม “จูม็อกบับ” ถึงกลายมาเป็นอาหารที่เรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยและความสิ้นหวัง?

เรื่องนี้ต้องย้อนไปใน “เหตุการณ์สังหารหมู่ควังจู” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ปี 1980 ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มเผด็จการเกาหลีสั่งฆ่าคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย 

หลังจาก พัค จองฮี (Park Chung-Hee) ขึ้นสู่อำนาจในประเทศเกาหลีใต้ และทิ้งเศษซากความเป็นเผด็จการไว้ ไม่นานนัก ชอน ดูฮวาน (Chun Doo-hwan) ก็ขึ้นมาสานต่ออำนาจทันที เขาได้ทำรัฐประหารขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1979 ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคนบางส่วนที่ไม่ต้องการการสืบทอดอำนาจเผด็จการ นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้อง เกิดการประท้วงครั้งใหญ่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าโซล ในวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 1980

สถานการณ์ในเกาหลีใต้ตอนนั้นเรียกได้ว่าคุกรุ่นอย่างมาก เพราะต่อมา ประธานาธิบดีคนใหม่ได้ประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ปี 1980 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในประเทศ แต่ผู้ชุมนุมมากมายไม่ยอมล่าถอย ทั้งยังปักหลักเพื่อให้ขั้วอำนาจเก่าออกจากตำแหน่ง 

แต่แล้ว “โศกนาฏกรรม” ก็เกิดขึ้นหลังจากประกาศกฎดังกล่าวได้เพียง 1 วัน รัฐบาลเกาหลีใต้เริ่มไล่ล่าประชาชน ใช้ความรุนแรงและอาวุธปราบปราม เริ่มปิดพื้นที่ และเมืองควังจูไม่สามารถเข้าออกได้อย่างเคย ทำให้ผู้ประท้วงไร้เสบียงในการเดินหน้าสู้ต่อ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านบริเวณนั้นจึงผนึกกำลังช่วยเหลือประชาชนที่ถูกกักขังในพื้นที่ประท้วง โดยส่งก้อนข้าวโรยเกลือเข้าไปให้ เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการต่อต้านเผด็จการ เนื่องจากเป็นอาหารที่หาวัตถุดิบได้ง่าย กินไม่ยาก และไม่ต้องใช้เวลามากนัก 

จูม็อกบับจึงได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่หล่อเลี้ยงกลุ่มประชาธิปไตย ถึงขั้นว่า จอง ฮยังจา (Jung Hyang-ja) หัวหน้าสหภาพแรงงานและผู้ร่วมเหตุการณ์ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า จูม็อกบับทำให้ผู้คนที่มาจากต่างถิ่นที่อยู่รวมเป็นหนึ่ง ไม่มีใครสนใจว่าคนที่มอบอาหารให้กับเราจะเป็นใคร พวกเราล้วนเรียกเขาว่า โอโมนิม (แม่) ฮาลโมนี (ย่า) อิโม (คุณป้า) หรือนูน่า (พี่สาว) เสมือนว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน

ปัจจุบัน “จูม็อกบับ” ได้รับการผลักดันจากคณะกรรมการเมืองควังจู ให้เป็น 1 ในอาหาร 7 ชนิดที่ถ่ายทอดความเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น และสร้างภาพลักษณ์ใหม่โดยการดึงก้อนข้าวนี้ออกจากรากเหง้าของชนชั้นแรงงาน และก้าวสู่อาหารเชิงธุรกิจแบบเต็มขั้น ทว่าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายเหล่านั้นกลับคิดว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เพราะจูม็อกบับสำหรับพวกเขานั้นถือเป็นอาหารที่สะท้อนให้คุณค่าของตนเองในช่วงเวลาที่สิ้นหวัง 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.tastingtable.com/1113187/what-jumeokbap-symbolizes-for-korea/

https://www.atlasobscura.com/articles/rice-balls

www.waymagazine.org/on-this-day-gwangju-uprising/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 สิงหาคม 2566