เจาะประวัติ “อุทัยธานี” อดีตเมืองหน้าด่านต้านสงคราม ที่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนสมัยอยุธยา

แม่น้ำสะแกกรัง บ้านเมือง อุทัยธานี
แม่น้ำสะแกกรัง เส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดอุทัยธานี

“อุทัยธานี เมืองพระชนกจักรี ปลาแรดรสดี ประเพณีเทโว ส้มโอบ้านน้ำตก มรดกโลกห้วยขาแข้ง แหล่งต้นน้ำสะแกกรัง ตลาดนัดดังโคกระบือ” ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้คือคำขวัญจังหวัดอุทัยธานี เมืองที่อยู่คู่ผืนแผ่นดินไทย และมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

คาดกันว่า อุทัยธานีน่าจะกำเนิดขึ้นมาช่วงก่อนอยุธยา หากอ้างอิงตามตำนาน 2 แหล่งที่ชาวบ้านเล่าขานกันมาเนิ่นนาน ตำนานแรกคือ อุทัยธานี สร้างขึ้นมาจาก “ท้าวมหาพรหม” ที่บ้านอุไทยเก่า อำเภอหนองฉาย จังหวัดอุทัยธานี 

ส่วนตำนานที่ 2 เชื่อว่าเมืองอุไทยสร้างขึ้นในสมัยที่ขอมรุ่งเรืองบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา หรือช่วงที่อิทธิพลของศิลปะขอมเข้ามาช่วงก่อนอยุธยาจนถึงสมัยอยุธยา

คำว่า “อุทัย” น่าจะมีที่มาจากคำว่า “อู่ไทย” ซึ่งหมายถึงถิ่นที่อยู่ของชาวไทย ผู้มาอาศัยอยู่ท่ามกลางหมู่บ้านชนชาติอื่น โดยคำว่า “อู่” มักจะใช้ในการเรียกแทนเมือง เช่น เมืองอู่บน หรือเมืองบน ที่บ้านโคกไม้เดน อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ หรือเมืองอู่ล่าง คือ เมืองลพบุรี อย่างที่เราเคยได้ยินกันว่า “ฝูงกษัตริย์เมืองบนฝูงคนเมืองล่าง” นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม คนสมัยก่อนจะเขียนคำว่า “อุทัย” ว่า “อุไทย” ดังปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์มากมาย ที่มีการบันทึกถึงชื่อเมืองหรือชื่อผู้คนไว้ว่า เมืองอุไทย, เมืองอุไทธานี, พระยาอุไทยธานี หรือพระอุไทยธรรม

ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “อุทัย” หรือ “อุทัยธานี” ดังเช่นปัจจุบันในช่วงรัชกาลที่ 6 จากการคาดการณ์ของนักประวัติศาสตร์

บทบาทหน้าที่ของเมืองอุทัยธานีถือได้ว่ามีความสำคัญมากในทุกยุคทุกสมัย อย่างในสมัยอยุธยา อุทัยธานีก็เป็นเมืองด่านสำคัญสำหรับสอดส่องกองทัพพม่า เนื่องจากเป็นทางผ่านของกองทัพพม่าที่จะสามารถเข้ามาตีสยาม หรือในสมัยธนบุรี เมืองอุทัยธานีก็เป็นพื้นที่เศรษฐกิจ เพราะสามารถทำนาได้ผลดี 

ส่วนสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองอุทัยธานีก็เรียกได้ว่ามีบทบาทหลายอย่าง เพราะไม่เพียงดำรงตำแหน่งเมืองหน้าด่านป้องกันพม่า แต่ยังเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยซึ่งเปิดรับคนหลายเชื้อชาติอีกด้วย

เมื่อเป็นเช่นนี้ อุทัยธานีจึงเป็นแหล่งรวบรวมศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ไว้มากมาย 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดอุทัยธานี. กรมศิลปากร: กรุงเทพฯ, 2544.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566