“CAMPAIGN Z” ยุทธการเดือดยึดล่องแจ้ง กับศึกสุดท้ายที่ “ทุ่งไหหิน”

CAMPAIGN Z ล่องแจ้ง ทุ่งไหหิน นายพล เหงียน ฮู อัน
นายพล เหงียน ฮู อัน ตรวจแถวทหารกองพลรถถังที่ 203 เมื่อ พ.ศ. 2518 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ปลาย พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) ขณะที่ประธานาธิบดีนิกสันกำลังถอนทหารอเมริกันจากเวียดนามใต้อย่างจริงจัง แต่เร่งระดมการทิ้งระเบิดเป้าหมายทั้งในเวียดนามเหนือและเส้นทางโฮจิมินห์ในลาวหนักยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการเจรจาสันติภาพระหว่างคิสซินเจอร์กับเลอดึกโธแห่งเวียดนามเหนือ เวียดนามเหนือก็เปิดการรุกทางทหารครั้งใหญ่ CAMPAIGN Z” โดยดำรงความมุ่งหมายเดิมคือเข้ายึดเมืองล่องแจ้ง ศูนย์บัญชาการรบของซีไอเอให้ได้ภายในวันที่ 14 มกราคม 2515

นายพล เหงียน ฮู อัน   

“CAMPAIGN Z” อยู่ภายใต้การบัญชาการของ นายพล เหงียน ฮู อัน (Nguyen Huu An) ประกอบด้วย 2 กองพลทหารราบ ซึ่งมีหน่วยกำลังรบหลัก 7 กรมทหารราบ (21 กองพัน กองพันละ 600 คน)

กองพล 312 ประกอบด้วย 4 กรมทหารราบ ได้แก่ กรม 141 กรม 165 กรม 209 กรมอิสระ 866 เพิ่มเติมกำลังด้วย กองร้อยลาดตระเวน 24 และกองพันขนส่งที่ 8 สมทบด้วย กองร้อยรถถังที่ 18 (รถถัง T-34 10 คัน รถถัง T-76 3 คัน และ รถกู้ 1 คัน)

กองพล 316 ประกอบด้วย กรม 148 กรม 174 (กองพันที่ 1 2 3 และ 4) กรม 335 (กองพันที่ 1, 2 และ 3) หน่วยขึ้นสมทบ กองร้อยรถถังที่ 9 (รถถัง T-34 8 คัน รถสายพานลำเลียงพล K-63 4 คัน) 3 กองพันแซปเปอร์ เพิ่มเติมกำลังด้วย 6 กองร้อยแซปเปอร์อิสระ

หน่วยยิงสนับสนุน ประกอบด้วย 1 กองพันปืนใหญ่สนาม 130 มม. 1 กองร้อยปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง 122 มม. 1 กองร้อยเครื่องยิงระเบิด 120 มม. กรมทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานอิสระ 226 กองพัน 117 (3 กองร้อยปืนกล 37 มม. 1 กองร้อยปืนกล 23 มม.) กองพัน 128 (2 กองร้อยปืนกล 37 มม. และ 1 กองร้อยปืนกล 14.5 มม.) กองพัน 125 (3 กองร้อยปืนกล 14.5 มม.) กองพันอิสระ 242 (จากกรม 559) เพิ่มเติมกำลังด้วยปืนกล 12.7 มม. 54 กระบอก

หน่วยสนับสนุน ประกอบด้วย 3 กองพันทหารช่าง 9 กองพันทหารราบจากกองทัพประเทศลาว  และกุลี (กรรมกรแบกหาม) 2,500 คน

รวมกำลังพลทั้งสิ้น : 27,000 คน

นายพล เหงียน ฮู อันผู้นี้เมื่อครั้งเป็นพันโทได้ทำหน้าที่บัญชาการรบที่นาดรัง ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2508/1965 ต่อสู้กับกองพันที่ 1 กรมทหารม้าอากาศที่ 7 ซึ่งมี พันโท ฮาโรลด์ มัวร์ เป็นผู้บังคับกองพัน เป็นการยุทธ์เคลื่อนที่ทางอากาศครั้งแรกของทหารสหรัฐ ต่อมาได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ WE WERE SOLDIERS” นำแสดงโดย เมล กิบสัน

แผนการรบ บก.ผสม 333 : ตั้งรับเหนียวแน่น ทำลายด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศ

James E. Parker Jr ผู้ปฏิบัติหน้าที่ Desk Officer ของซีไอเอขณะนั้น บันทึกแนวความคิดในการเตรียมรับศึกของ บก.ผสม 333 ซึ่งมี พล.ท. วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ” เป็นผู้บัญชาการไว้ใน Battle For Skyline Ridge ว่ามาจากประสบการณ์การรบที่ผ่านมาของฝ่ายเรา คือการยืนหยัดตั้งรับอย่างเหนียวแน่นในฐานที่มั่นดัดแปลงแข็งแรง เพื่อให้ข้าศึกต้องอยู่ในพื้นที่เปิดระหว่างการเข้าตี ทำให้กลายเป็นเป้าหมายเปิดที่อ่อนแอต่อการถูกโจมตีทั้งด้วยปืนใหญ่และการโจมตีทางอากาศของฝ่ายเราซึ่งได้เปรียบเหนือกว่า

แม้ด้านหนึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อกองกำลังในฐานที่มั่นที่ต้องตกเป็นฝ่ายถูกกระทำ แต่ก็ได้ผลลัพธ์ที่ดีมาโดยตลอด นอกจากนั้นฝ่ายเวียดนามเหนือยังมีจุดอ่อนที่ไม่สามารถทำการรบได้ยาวนานนัก เนื่องจากปัญหาเส้นทางการส่งกำลังบำรุงที่ยากลำบากและยาวไกล โดยเฉพาะยุทธวิธีหลักของเวียดนามเหนือคือการทุ่มเทกำลังพล และการยิงด้วยอาวุธหนักอย่างรุนแรงให้ได้ชัยชนะอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความสิ้นเปลืองกระสุนเป็นอย่างมาก นำไปสู่ความขาดแคลนในที่สุด จนต้องยกเลิกแผนการเข้าตีและถอนกำลังกลับพร้อมด้วยความสูญเสียอย่างหนักในหลายครั้งที่ผ่านมา

โดยเฉพาะความล้มเหลวในการปฏิบัติตามแผนยุทธการ 74 B ของกองทัพเวียดนามเหนือเมื่อต้นปี พ.ศ. 2514 (ค.ศ. 1971) ซึ่งเป็นผลจากการตั้งรับอย่างเหนียวแน่นของทหารไทยที่บ้านนาและแนวรบหน้าสกายไลน์ จนนำไปสู่ความล้มเหลวของฝ่ายเวียดนามเหนือในที่สุด

ความคิดนี้ได้รับความเห็นชอบจากวอชิงตัน และพร้อมจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งในการเสริมสร้างความแข็งแรงของที่มั่นตั้งรับ รวมทั้งการระดมการโจมตีทางอากาศ ด้วยเครื่องบินรบกองทัพอากาศทั้งจากฐานบินเวียดนามใต้และประเทศไทยอย่างเต็มที่ เจ้าหน้าที่ซีไอเอที่อุดรได้ดำเนินการให้แอร์อเมริกาและทหารช่างสหรัฐสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์ เพื่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับที่มั่นของทหารไทยในทุ่งไหหินและเตรียมความพร้อมของเครื่องบินรบอย่างเต็มที่

กลยุทธ์สามประสาน

สำหรับกำลังรบในพื้นที่ บก.ผสม 333 ได้วางแผนการดำเนินกลยุทธ์ในภาพรวมไว้ดังนี้คือ ทหารท้องถิ่นให้ทำหน้าที่แนวหน้าสุดเป็นฉากกำบังด้วยการรบแบบกองโจรตามความถนัดเพื่อรบกวนและแจ้งเตือนการเข้ามาของข้าศึกโดยหลีกเลี่ยงการรบแตกหัก ทหารเสือพรานให้ทำหน้าที่ป้องกันฐานยิงสนับสนุนของทหารปืนใหญ่ ทหารปืนใหญ่ให้ทำหน้าที่ยิงทำลายที่หมาย โดยมีกำลังทางอากาศของท้องถิ่นและสหรัฐสนับสนุน

กำลังทหารเสือพรานของไทยมีรวมทั้งสิ้นประมาณ 4,000 คน จะใช้กำลังประมาณ 2,000 คน เพื่อป้องกันที่หมายสำคัญคือ ฐานยิง “มัสแตง” และ “ไลอ้อน” ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของภูเทิง และใช้กำลังอีกประมาณ 1,000 คน วางไว้โดยรอบเพื่อป้องกันฐานยิง “คิงคอง” ที่ภูเก็งซึ่งอยู่ด้านเหนือสุดของพื้นที่ตั้งรับ

ส่วนกำลังที่เหลืออีกประมาณ 1,000 คน แบ่งระหว่างการป้องกันฐานยิง “แพนเธอร์” “สติงเรย์” และ “คอบร่า”

ฐานยิงมีทั้งสิ้น 6 แห่ง ประกอบด้วย ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. 9 กระบอก 155 มม. 10 กระบอก และเครื่องยิงระเบิด 105 มม. 11 กระบอก เพิ่มเติมด้วยการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินรบชนิดต่างๆ โดยเฉพาะเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ บี-52

ประดาบก็เลือดเดือด : ทุกฐานยิงเสียที่มั่น

การเข้าตีของฝ่ายเวียดนามเหนือเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ฐานยิงปืนใหญ่ทั้งหมด 6 แห่งพร้อมด้วยกำลังทหารราบเสือพรานต้องถอนตัวเข้าสู่พื้นที่หน้าแนวสกายไลน์ ร.ท. สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ นักบินประจำฐานยิงสติงเรย์บันทึกไว้ว่า “พื้นที่ทุ่งไหหินตกเป็นของฝ่ายข้าศึกภายในเวลาเพียง 67 ชั่วโมง ฝ่ายเราสูญเสียกำลังพลไปดังนี้คือ เสียชีวิต 388 นาย สูญหายหรือถูกจับเป็นเชลยประมาณ 1,186 นาย”

จากนั้นฝ่ายเวียดนามเหนือก็ปรับกำลังยึดแนวสกายไลน์เข้าคุกคามล่องแจ้งซึ่งมีกำลังป้องกันเพียง 2 กองพันทหารราบเสือพราน “ข้าศึกจำนวนมากเริ่มวางกำลังรายล้อมล่องแจ้ง ปืนใหญ่และอาวุธหนักข้าศึกเริ่มระดมยิงอย่างหนักโดยเฉพาะในคืนวันส่งท้ายปีเก่า ข้าศึกได้ระดมยิง ป. 130 กว่า 200 นัด ตั้งแต่เวลาประมาณ 17.00 น. ทำให้คลังวัตถุระเบิดที่บริเวณท้ายสนามบินระเบิดขึ้นติดต่อกันถึงรุ่งเช้าวันปีใหม่”

ประธานาธิบดีนิกสัน : “ล่องแจ้งจะต้องไม่แตก”

วันที่ 1 มกราคม 2515 (ค.ศ. 1972) : ที่ปรึกษาด้านความมั่นคง เฮนรี คิสซินเจอร์ มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงให้อำนาจอนุมัติการใช้ บี-52 ในการสนับสนุนการรบที่ล่องแจ้งสามารถกระทำได้ในระดับหน่วยบัญชาการทหารอากาศที่ไซ่ง่อนเพื่อความรวดเร็ว

วันที่ 2 มกราคม 2515 (ค.ศ. 1972) : มีบันทึกเสียงการสนทนาระหว่างคิสซินเจอร์กับประธานาธิบดีนิกสันที่ทำเนียบขาวว่า ไม่มีความหวังในลาว กำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือที่ถาโถมเข้าสู่พื้นที่ทุ่งไหหินมีมากเกินกว่ากำลังของซีไอเอและคงจะต่อสู้ต้านทานได้อีกไม่นาน นิกสันเห็นด้วยว่าอีกไม่ช้าฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็คงจะยึดครองประเทศลาวได้ และต่อมา ในท้ายรายงานข่าวกรองประจำวันจากซีไอเอที่มีถึงประธานาธิบดีนิกสันบันทึกว่า “ล่องแจ้งจะต้องไม่แตก” และวันเดียวกันนี้คิสซินเจอร์ก็มีคำสั่งด่วนไปยังกองทัพอากาศอีกครั้งโดยมอบอำนาจการตัดสินใจขั้นสุดท้ายแก่ บก.ซีไอเอที่ล่องแจ้ง ในการใช้ บี-52 โจมตีเป้าหมาย

วันที่ 5 มกราคม 2515 (ค.ศ. 1972) : บี-52 จำนวน 3 ลำโจมตีเป้าหมายทางด้านเหนือของสกายไลน์อันเป็นที่โล่งในหุบเขาที่เรียกกันว่า “ฟาร์มวังเปา” ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กำหนดโดย บก.ล่องแจ้ง และในวันต่อมา หน่วยลาดตระเวนม้งได้เข้าไปตรวจพื้นที่แล้วรายงานว่า ได้พบอาวุธยุทโธปกรณ์และชิ้นส่วนร่างกายข้าศึกกระจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ ผลการทิ้งระเบิดของ บี-52 น่าจะลงตรงกลางการรวมตัวขนาดใหญ่ของข้าศึก และจากรายงานการปฏิบัติหลังการรบของกรมอิสระ 866 สังกัดกองพล 312 เวียดนามเหนือ

ปรากฏว่า หน่วยนี้ได้เข้าที่รวมพลบริเวณภูหมอกซึ่งอยู่ตอนกลางของสกายไลน์ โดยได้รับภารกิจให้เข้าตีที่หมายบนสกายไลน์ในวันที่ 5-6 มกราคม ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะเป็นหน่วยที่ถูกโจมตีโดย บี-52 ครั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏว่ากรมอิสระ 866 นี้ได้ร่วมการเข้าตีแต่อย่างใดจนถึงสิ้นเดือนมกราคม เนื่องจากต้องถอนกำลังกลับไปเพื่อ “ปรับกำลังใหม่”

นอกจากนั้น แฟ็ก “สปอตไลท์” ยังรายงานเพิ่มเติมว่า หลังการโจมตีของ บี-52 ครั้งนี้ หน่วยลาดตระเวนทหารเสือพรานได้เข้าตรวจพื้นที่ด้านตะวันตกสุดของสกายไลน์ พบเศษอาวุธยุทโธปกรณ์จากผลของการทิ้งระเบิด ซึ่งน่าจะเป็นของกรม 148 สังกัดกองพล 312 เวียดนามเหนือที่ไม่มีรายงานการเข้าปฏิบัติการรบอีกเลยหลังจากการโจมตีครั้งนี้เช่นเดียวกัน

การโจมตีจาก บี-52 ครั้งนี้ ใช้ระเบิดขนาด 750 ปอนด์ รวมทั้งสิ้น 122 ตัน

CAMPAIGN Z ส่งเสบียง เฮลิคอปเตอร์ ฐานทหารเสือพราน ล่องแจ้ง
การส่งเสบียงโดยเฮลิคอปเตอร์ที่ฐานทหารเสือพรานในล่องแจ้ง (ภาพจากเพจ เป็นเรื่อง เป็นลาว)

เวียดนามเหนือยังดำรงความมุ่งหมาย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายเวียดนามเหนือยังคงไม่ละความพยายามที่จะเข้ายึดล่องแจ้งให้ได้ ทำให้สถานการณ์เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2515 (ค.ศ. 1972) คับขันถึงขีดสุด

ร.ท. สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ บันทึกว่า “ข้าศึกสามารถยึดสันเขาสกายไลน์ 2 อันเป็นที่สูงข่มตัวเมืองไว้ได้โดยสิ้นเชิง เหลือแต่ที่สกายไลน์ 1 ที่ พัน ทสพ.616 ยึดรักษาอยู่เท่านั้น นอกจากนั้นฝ่ายเวียดนามเหนือยังส่งหน่วยเข้าโอบล้อมทางด้านหลังอีกด้วย บก.ฉก.วีพี. จึงได้เตรียมการถอนตัว (แผนเลือดสุพรรณ) ไว้พร้อมแล้ว และกำลังประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของฝ่ายสหรัฐและลาวอย่างเคร่งเครียด ในที่สุด ฝ่ายสหรัฐก็ตกลงใจจะให้การสนับสนุนด้วย บี-52 อย่างเต็มที่ เพื่อที่จะรักษาล่องแจ้งเมืองหน้าด่านสำคัญของเวียงจันทน์ไว้ให้ได้

เมื่อ ผบ.ฉก.วีพี. ออกจากที่ประชุมกลับมายัง บก. นั้น กำลังพลฝ่ายเรากำลังถอนตัวจากที่ตั้งไปยังด้านหลังเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้รับคำสั่งพร้อมทั้งคำชี้แจงถึงการสนับสนุนของฝ่ายสหรัฐจึงพากันกลับเข้าประจำหน้าที่ตามเดิม ส่วนทหารราบเสือพรานทั้ง 2 กองพัน (บีซี 617 และ 618) ไม่สามารถกลับขึ้นแนวสกายไลน์ได้ เนื่องจากข้าศึกจำนวนมากได้เข้ายึดไว้หมดแล้ว จึงมอบภารกิจใหม่ให้รักษาด้านหลังของ บก.ฉก.วีพี. และหากสถานการณ์คับขันถึงขีดสุด บก. จะให้สัญญาณการถอนตัว

กลางดึกของคืนนั้น ขณะที่ทุกคนรอคอยพลุสีแดง 2 ช่ออันเป็นสัญญาณการถอนตัวอยู่ด้วยใจกระวนกระวายเนื่องจากเรารู้ตัวว่าไม่มีทางรับมือกำลังข้าศึกซึ่งมากมายกว่าเราหลายเท่าได้เลย โดยเฉพาะกองพันทหารปืนใหญ่ทั้ง 2 กองพัน เพิ่งจะประสบกับความปราชัยต่อกำลังพลอันมหาศาลของข้าศึกจากการยึดที่ทุ่งไหหินต้องหนีกระเซอะกระเซิงกลับมาได้อย่างหวุดหวิดจึงไม่มีขวัญกำลังใจที่จะต่อสู้กับข้าศึกอย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป

ทันใดนั้น ฝูงบินทิ้งระเบิดขนาดหนักของสหรัฐ คือ บี-52 ก็มาถึงล่องแจ้ง และเข้าทิ้งระเบิดแบบปูพรมบนสันเขาสกายไลน์ 2 อย่างขนานใหญ่ ยังผลให้ข้าศึกซึ่งกำลังชุมนุมกำลังเตรียมเข้ายึดล่องแจ้งบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จากข่าววิทยุดักฟัง ทราบว่า กรม 148 ของข้าศึกถูกทิ้งระเบิดอย่างจังจนเกือบละลายทั้งกรม ข้าศึกแตกเป็นหน่วยย่อยๆ หลบซ่อนอยู่บนแนวสกายไลน์บ้าง ถอนตัวออกไปบ้าง และมีบางส่วนหนีการทิ้งระเบิดมาหลบซ่อนอยู่ตามบ้านเรือนราษฎรใกล้สนามบิน

13 มกราคม 2515 (ค.ศ. 1972) : ฝูงบิน บี-52 ยังคงทำการทิ้งระเบิดแบบปูพรมต่อไปบนแนวสกายไลน์และรอบๆ ล่องแจ้ง ฐานยิงปืนใหญ่แคนเดิ้ล และโบวี่ ตรวจการณ์เห็นข้าศึกบนแนวสกายไลน์ จึงยิงแบบเล็งตรงส่งกระสุนปืนใหญ่ขึ้นไปทำลายและสังหารข้าศึกลงได้เป็นจำนวนมาก ในวันนี้ทหารม้งของนายพลวังเปาและกำลังทหารลาวที่ส่งมาช่วยจากสุวรรณเขต เริ่มออกกวาดล้างข้าศึกภายในล่องแจ้งและพยายามขึ้นยึดแนวสกายไลน์คืน เกิดการสู้รบกันอย่างรุนแรงอยู่ทั่วไป

ข้าศึกยังคงระดมยิง ป. 130 มม. มายังบริเวณล่องแจ้งอย่างหนัก แต่โดยเหตุที่ข้าศึกกำหนดที่ตั้ง บก.ฉก.วีพี. ผิด โดยคาดว่าอยู่ใกล้กับ บก.ฝ่ายสหรัฐและลาว ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสนามบินจึงระดมยิงไปยังด้านนั้นอย่างหนาแน่นทำให้ บก.ฉก.วีพี. ไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แม้กระนั้นก็ยังมีกระสุน ป. 130 มม. บางนัดตกลงยังพื้นที่ส่วนหลังของกองพันต่างๆ โดยเฉพาะส่วนหลังของ พัน.ป.ทสพ.635 ของเราถูกกระสุนปืน 130 มม. จนทำให้รถบรรทุก 2 คันซึ่งบรรทุกอาวุธยุทโธปกรณ์และบังเกอร์ของกำลังพลส่วนหลังเสียหายและเกิดเพลิงไหม้

ฝ่ายเราเสียชีวิต 1 นาย และยังมีกำลังพลได้รับบาดเจ็บอีก 5 นาย จากการช่วยเหลือในด้านกำลังพลทางอากาศของสหรัฐอย่างได้ผล ทำให้ฝ่ายเรามีขวัญดีขึ้นสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

ทาง บก.อุดร ได้ส่งกำลังพลมาช่วย บก.ฉก.วีพี. อีก 2 กองพันคือ พัน.ทสพ. 602A เดินทางมาถึงล่องแจ้งเมื่อ 13 ม.ค. 15 และ พัน.ทสพ. 601A เดินทางมาถึงเมื่อ 14 ม.ค. รวมเป็นทหารราบเสือพราน 5 กองพัน นอกจากนั้นฝ่ายลาวยังรวบรวมกำลังพลเข้ากวาดล้างและช่วยเราเข้ายึดแนวสกายไลน์คืนได้หลายจุด”

CAMPAIGN Z เครื่องบิน บี-52 กองทัพอากาศสหรัฐ
เครื่องบิน บี-52 ของกองทัพอากาศสหรัฐ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

จากความสูญเสียอย่างหนักตลอดการสู้รบซึ่งเกิดจากการตั้งรับอย่างเหนียวแน่นของทหารเสือพรานและทหารรัฐบาล รวมทั้งการทิ้งระเบิดอย่างได้ผลของ บี-52 การสู้รบจึงยืดเยื้อต่อไปจากกำหนดเส้นตายวันที่ 14 มกราคม ในที่สุดฮานอยก็สั่งยกเลิก CAMPAIGN Z เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2515 ทั้งๆ ที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายในการยึดล่องแจ้ง

บทเรียนจากการรบ

1. ตามแผนเดิม กรม 165 ของ พันเอก เหงียน ชวน จะใช้เวลา 4 วันในการปิดล้อมที่หมายหลักภูเทิงซึ่ง บีซี-609 ยึดรักษาอยู่แล้วจึงเข้าตี แต่เมื่อทราบว่าฝ่ายไทยมีการเพิ่มเติมกำลังจึงเปลี่ยนแผนเป็นเข้าตีทันทีขณะที่กำลังฝ่ายไทยยังไม่บอบช้ำเพียงพอจึงสามารถต่อสู้ได้อย่างเหนียวแน่น สร้างความสูญเสียอย่างหนักแก่ฝ่ายเข้าตีซึ่งเสียเปรียบทางยุทธวิธี เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เปิดและต่ำลงไปจากยอดเขาที่วางตัวของฝ่ายตั้งรับ

หลังเข้ายึดภูเทิงได้ นักบินตรวจการณ์รายงานตรงกันว่า ศพของทหารเวียดนามเหนือรอบๆ ที่ตั้งมีไม่น้อยกว่า 200 ศพ ในรายงานหลังการรบของ พันเอก เหงียน ชวน ผู้บังคับการกรม 165 ซึ่งหลังจากสามารถยึดภูเทิงได้แล้วก็ได้รับมอบภารกิจให้เข้าตีสกายไลน์ผ่านภูผาไซต่อไป ระบุว่า ต้องใช้เวลาถึง 4 วันในการปีนขึ้นที่สูง โดยบางหน่วยต้องเคลื่อนที่ผ่านภูมิประเทศซึ่งไม่มีเส้นทางเดิน อีกทั้งยังไม่มีการส่งกำลังเพิ่มเติมทั้งน้ำดื่มและอาหาร ทำให้ทหารอ่อนล้าหมดกำลังเมื่อถึงกำหนดเส้นตายวันที่ 14 มกราคม

2. นายพล เหงียน ฮู อัน ผู้บัญชาการสูงสุดของ CAMPAIGN Z ยังบันทึกไว้อีกว่า “การเดินด้วยเท้าจากทุ่งไหหินไปล่องแจ้งใช้เวลาประมาณ 7 ถึง 8 วัน การส่งกำลังบำรุงกระทำด้วยการแบกหามของทหารเท่านั้น แต่ละหน่วยที่เข้าปฏิบัติการต้องรับผิดชอบสิ่งอุปกรณ์และการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมของตนเอง เนื่องจากระยะทางที่ไกล ครั้นเมื่อการสู้รบยืดเยื้อเกินกว่า 2 สัปดาห์แล้ว ทุกหน่วยก็จะไม่มีทั้งอาหารและกระสุน ส่งผลให้แผนการปฏิบัติทั้งปวงจะต้องสะดุดลง

นอกจากนั้น ฝ่ายเรายังคาดไม่ถึงว่า ข้าศึกจะสามารถต้านทานได้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากเมื่อเริ่มเข้าตี ข้าศึกต่างตื่นตระหนกและแตกหนีไม่แตกต่างจากเศษไม้ในกระแสน้ำที่เชี่ยวกราก”

3. การมอบอำนาจสั่งใช้ บี-52 ให้กองบัญชาการล่องแจ้ง จนนำไปสู่การทิ้งระเบิดอย่างได้ผลซึ่งเริ่มจากวันที่ 5 มกราคม ทำให้กำลังฝ่ายเวียดนามเหนือต้องสูญเสียอย่างหนัก นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของสถานการณ์ทั้งจำนวนทหารและขวัญกำลังใจ

4. James E. Parker Jr ให้ความเห็นว่า “กำลังทหารเสือพรานไทยพิสูจน์แล้วว่าเป็นนักสู้ที่ทรหด ทั้งไทยและม้งต่างมีผู้นำที่มีความเป็นผู้นำสูง มุ่งมั่นยืนหยัดในการป้องกันที่มั่นบนแนวสกายไลน์ ทหารไทยมีประสิทธิภาพในการรบสูง ขณะที่ทหารม้งก็สู้แบบหลังชนฝา พวกเขาเหมือนกับต่อสู้กับศัตรูเวียดนามเหนือที่อยู่ข้างหน้าขณะที่ครอบครัวของเขาอยู่ด้านหลัง”

นอกจากนั้นยังให้ความเห็นว่า “เหล่า Case Officer ซีไอเอล้วนมีส่วนอย่างสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารไทยแม้สถานการณ์จะคับขันสามารถทิ้งเอาตัวรอดได้ ทำให้ทหารไทยและทหารม้งเชื่อมั่นว่าอเมริกาจะไม่ทอดทิ้งพวกเขา”

ในบางพื้นที่ ทหารไทยอาจต้องละทิ้งที่ตั้ง แต่ไม่มีฐานที่มั่นใดเลยถูกปิดล้อมจนต้องยอมจำนนเหมือนที่เคยเกิดในเดียนเบียนฟู ประวัติศาสตร์แห่งความภาคภูมิใจของเวียดนามเหนือ และถึงที่สุดแล้วทหารไทยก็สามารถนำการต่อสู้จนรักษาล่องแจ้งไว้ได้ ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือต้องผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า CAMPAIGN Z จึงเป็นยุทธการใหญ่ครั้งสุดท้ายของฝ่ายเวียดนามเหนือจนกระทั่งมีการหยุดยิงในปีถัดมา เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2516.

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจาก “ยุทธการสุดท้ายแห่งทุ่งไหหิน” เขียนโดยพลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2564 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2563