ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2565 |
---|---|
ผู้เขียน | พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
ค้นมูลความจริง ความปรารถนาของเวียดนามในการสร้าง “สหพันธรัฐอินโดจีน” เตรียม (จะ) บุกไทย ขณะที่ลาวและกัมพูชารอแบ่งชิ้นเค้ก เฉือนดินแดนที่ราบสูงภาคอีสานของไทย
ตลอดระยะสงครามอินโดจีนครั้งแรกเพื่อขับไล่ฝรั่งเศส และครั้งที่ 2 เพื่อขับไล่สหรัฐอเมริกา คอมมิวนิสต์เวียดนามนับเป็น “พี่ใหญ่” ซึ่งใช้ทั้งลาวและกัมพูชาเป็นพื้นที่การรบ ครั้นเมื่อสามารถปลดปล่อยประเทศทั้งสามได้เมื่อ พ.ศ. 2518 แล้วเวียดนามก็ยังพยายามคงสถานะความเป็นผู้นำในอินโดจีนนี้ไว้
พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2473 ภายใต้การชี้นำขององค์การคอมมิวนิสต์สากล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “พรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีน” สะท้อนความต้องการที่จะสร้างระบบการเมืองที่เป็นหนึ่งเดียวกันของเวียดนาม ลาว และกัมพูชา จนเป็นที่มาของคำเรียก “สหพันธรัฐอินโดจีน” (Indochina Federation) แต่เกิดกระแสต่อต้านจากนักชาตินิยมในลาวและกัมพูชา จึงเลี่ยงไปใช้คำเรียกใหม่เพื่อลดแรงกดดันนี้ว่าเป็น “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ” (Special Relationship)
แต่แนวความคิดที่จะรวมชาติในอินโดจีนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้การนำของเวียดนามก็ยังดำรงอยู่
หลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชัดถึงความพยายามนี้คือการจัดทำสนธิสัญญา “มิตรภาพและความร่วมมือ” กับลาวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2520 และกับรัฐบาลกัมพูชาของ เฮง สัมริน หลังการยึดครองของเวียดนามเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2522 สนธิสัญญาทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาสำคัญเป็น “สนธิสัญญาร่วมป้องกันทางทหาร” โดยมีข้อกำหนดที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการปกป้องเอกราชทุกรูปแบบ ซึ่งย่อมหมายรวมถึงการให้เวียดนามมีกำลังทหารประจำการอยู่ในลาวและกัมพูชาได้ด้วย
ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 (พ.ศ. 2523) หลังเข้ายึดครองกัมพูชา โดยการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตเพื่อปิดล้อมจีนทางด้านใต้ เวียดนามมีกำลังทหารราบ ทหารช่าง ที่ปรึกษาช่างเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญอยู่ในลาวประมาณ 40,000-60,000 คน และในกัมพูชาประมาณ 150,000-200,000 คน ลาวถูกกดดันให้เลือกข้างเวียดนามและสหภาพโซเวียต ส่งผลให้จีนต้องยกเลิกความช่วยเหลือลาว ถอนบุคลากรและอุปกรณ์ทั้งหมดกลับจีนในต้นปี 2522
ไม่เพียงแต่แนวความคิดในการรวม 3 ชาติให้เป็นหนึ่งในนาม “สหพันธรัฐอินโดจีน” (แม้จะเลี่ยงไปเรียกว่าเป็น “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ”) เท่านั้น แต่ยังมีแนวความคิดในการเฉือนดินแดนบางส่วนจากไทยไปผนวกเข้ากับสหพันธรัฐอินโดจีนด้วย
เตรียมการ
นับแต่รวมชาติได้สำเร็จเมื่อปี 2518 กระบอกเสียงของเวียดนามก็เปิดฉากโหมโจมตีไทยทั้งเรื่องการส่งกำลังไปร่วมรบในเวียดนามใต้ การที่ยอมให้สหรัฐใช้ไทยเป็นฐานทัพโจมตีเวียดนามเหนือ รวมทั้งประเด็นชาวเวียดนามในไทยถูกข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรม
นโยบายของไทยต่อเวียดนาม ของ สุรพงษ์ ชัยนาม บันทึกสถานการณ์ช่วงนี้ว่า
ในส่วนที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาของเวียดนามต่อการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งจากข้อความโจมตีรัฐบาลไทยอย่างรุนแรงและต่อเนื่องทั้งโดยทางสถานีวิทยุฮานอย หนังสือพิมพ์เหยินเซิน ของพรรรคฯ หนังสือพิมพ์ก๊วนด่อย เหยินเซิน ของกองทัพเวียดนาม ตลอดจนข่าวโทรพิมพ์ของสำนักข่าววีเอ็นเอ็น (สำนักข่าวรัฐบาลเวียดนาม)
ดังอาทิ หนังสือพิมพ์ก๊วนด่อย เหยินเซิน ของกองทัพเวียดนาม ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2519 ได้ลงบทวิจารณ์โจมตี นายถนัด คอมันตร์ โดยกล่าวหาว่า นายถนัด คอมันตร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร ว่าได้สบประมาทเวียดนาม “อย่างไม่มีมูลว่าคอมมิวนิสต์จากลาวและเวียดนามได้แทรกแซงประเทศไทยอันเป็นการกล่าวหาเพื่อให้เจ้านายอเมริกันพอใจเท่านั้น”
รายงานเดียวกันนี้ยังได้กล่าวหาไทยอีกด้วยว่า ได้จับกุมคุมขังชาวเวียดนามไว้ประมาณ 10,000 คน และว่าทางการไทยได้กดขี่ข่มเหงชาวเวียดนามในประเทศไทย อันเป็นการขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและข้อตกลงในแถลงการณ์ร่วมไทย-เวียดนาม ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2519 ทั้งวิจารณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 เป็นแผนการของสหรัฐเพื่อเปิดโอกาสให้สหรัฐกลับเข้ามามีฐานปฏิบัติการภายในประเทศไทยอีก
ปิดล้อมจีนด้านใต้
การส่งกำลังเข้ายึดครองกัมพูชาของเวียดนามเหนือเมื่อปลายปี 2522 เป็นความพยายามในการสร้างวงล้อมจีนทางด้านใต้ และในส่วนหนึ่งของแผนการนี้ เวียดนามและลาวยังมีแผนในการเข้ายึดภาคอีสานของไทยด้วย
“ลุงวัฒนา” (ชวลิต ทับขวา) บันทึกไว้ในจากเสรีไทยถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสายอีสาน ดังนี้
“มีปัญหาเกิดการโต้แย้งทางความคิดใน อน. (เขตรับผิดชอบพื้นที่อีสานเหนือของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ว่าจะรับรองว่าการปฏิวัติเป็นสินค้าส่งออกหรือจะต่อต้าน คือจะยอมรับให้กำลังจากภายนอกประเทศเข้ามาช่วยตีปลดปล่อยพื้นที่และสร้างอำนาจรัฐปฏิวัติขึ้นหรือจะปฏิเสธและต่อต้าน ที่มีผู้เสนอแนวคิดนี้ขึ้นมาก็เพราะพรรคเวียดนามและพรรคลาวได้เสนอแนวทางการปฏิวัติเป็นสินค้าส่งออก การปฏิวัติของแต่ละประเทศเป็นส่วนประกอบของการปฏิวัติโลก
มีคนไม่น้อยมีความเห็นคล้อยตามความคิดนี้ เพราะมันเป็นทางลัดไปสู่หลักชัยไม่เหนื่อยแรง ในระยะแรกใน อก. (อีสานกลาง) นำขอ อน. เป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป แต่เราเห็นว่าหากมองในระยะยาวในผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนแล้ว เราไม่อาจรับความคิดนี้ได้ จึงใช้เหตุผลโต้แย้งยืนยันและโน้มน้าวจิตใจของเพื่อนร่วมงานและผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ใต้การนำผ่านการโต้แย้งกันหลายรอบ เสียงส่วนใหญ่ที่ถูกโน้มนำก็โน้มมาทางต่อต้าน ซึ่งพอทำข้อสรุปยุติได้
แต่ในทางยุทธวิธี อาศัยการถ่วงและซื้อเวลาในการตอบ เมื่อโยนลูกไปให้ ศก. (ศูนย์กลางการนำ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จังหวัดน่าน) โดยเราไม่มีสิทธิตัดสินปัญหาใหญ่เช่นนี้ พรรคลาวที่เป็นผู้ประสานงานมักเร่งเร้าให้ได้คำตอบที่แน่นอนแจ่มชัด ทั้งเสนอแผนการรูปธรรมมาให้พิจารณา และเสนอขอผู้นำของ อน. จะเป็นคนหนึ่งคนใดใน 2 คนนี้ไปประจำที่ประเทศลาวเพื่อสะดวกในการตัดสินใจและความรวดเร็วในการประสานงาน 2 คนนั้นคือ ลุงสยามและคุณเจริญ
เมื่อถูกรุก เรายังถือหลักประนีประนอมเพื่อเห็นแก่มิตรภาพ อ้างเหตุขัดข้องที่สองคนยังมีความจำเป็นต่อการเตรียมงานด้านต่างๆ และปรับขบวนของ อน. ภายในประเทศ เฉพาะหน้าจึงส่งคุณเผด็จเป็นตัวแทนของ อน. ไปประจำที่ลาว
ทางลาวจำยอมรับซื้อเวลามาได้ร่วมปี เมื่อเห็นว่าถึง อน. ให้ร่วมแนวทางเขาไม่ได้แล้ว ทางลาวก็ใช้ท่าทีเป็นแข็งกร้าว กระทั่งใช้มาตรการรุนแรงต่อเรา ดึงกำลังทหารกองพันที่เราส่งไปให้ ศก. ไปได้จำนวนมากและกำลังร่วมที่อยู่ลาวอีกจำนวนหนึ่งพร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ หยูกยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ อาหารกระป๋อง อาหารแห้ง เสื้อผ้า ของเหล่านี้หากใช้รถบรรทุกขนาด 6 ล้อบรรทุกเต็มอัตราจะใช้ราว 12-13 คัน นับเป็นการสูญเสียทรัพย์สินและวัตถุปัจจัยสงครามมากที่สุด คนจำนวน 300 กว่าคนถึงขับออกจากแผ่นดินลาว ทาง อน. รับทั้งหมดและจัดสู่เขตงานต่างๆ ช่วยกันแบกรับ”
ธง แจ่มศรี อดีตเลขาธิการใหญ่แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 4 พ.ศ. 2525 บันทึกยืนยันกรณีนี้ไว้ในหนังสือ ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ เช่นกัน
“พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เชิญตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปร่วมงานครบรอบ 2 ปีแห่งการปฏิวัติเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2520 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไทยได้ส่งคุณประสิทธิ์ ตะเพียนทอง และคุณประวิง อุทัยทวีป เป็นตัวแทน พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวเสนอว่า นอกเหนือจากการหนุนช่วยด้านวัตถุปัจจัยและกำลังอาวุธ พรรคพี่น้องทั้งสองพรรคพร้อมที่จะส่งกำลังทหารมาช่วยปฏิวัติไทยให้ได้รับชัยชนะ อาจจะมาจากหน่วยทหารลาวหรือทหารชนชาติไทในเวียดนาม ทหารเหล่านี้จะเข้ามาช่วยการสู้รบในยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นฝ่ายกำหนด
ฝ่ายเวียดนามเสนอถึงขนาดว่า การพัฒนาเร่งสร้างสังคมใหม่ของเขายังชะลอจังหวะก้าวได้ ขอให้ไทยปฏิวัติเสียก่อน คุณประสิทธิ์ได้ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จะขอนำมาหารือในคณะกรรมการพรรคฝ่ายไทยเสียก่อน”
“ในเรื่องเวียดนาม ที่เราไม่ยอมรับก็คือเวียดนามเสนอเราว่า เขาจะส่งทหารลาวจากชายแดนเข้ามาช่วยเราปลดปล่อย ทางชายแดนลาว-กัมพูชา เราเองก็ไม่เห็นด้วย การส่งกำลังเข้ามาอย่างนี้ถึงจะเป็นลาว พอผ่านชายแดนเข้ามาปุ๊บ มวลชนเราก็ดูออกทันทีว่าไทยหรือลาว ทางจัดตั้งเราพิจารณาว่ามันมีแต่เสีย มันเหมือนกับชักศึกเข้าบ้าน พวกเราจะกลายเป็นผู้ขายชาติ อีกอย่างทางรัฐบาลถึงแม้ว่าเขาจะสู้กองทัพเวียดนามไม่ได้ก็ตาม แต่เขาก็คงจะต้านอย่างสุดฤทธิ์
สรุปก็คือกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือของฝ่ายเวียดนามและลาวเช่นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป และเข้าข่ายนโยบายปฏิวัติแบบส่งออก จึงหาเหตุผลปฏิเสธต่อฝ่ายเวียดนามด้วยมิตรภาพว่า ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยขอขอบคุณ แต่ยังมุ่งหวังที่จะใช้ความพยายามปฏิวัติด้วยตนเองก่อน”
การตัดสินใจของ พคท. ครั้งนี้ ด้านหนึ่งน่าชื่นชมต่อจิตสำนึกหวงแหนอธิปไตยชาติ แต่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของจีนต่อ พคท. ซึ่งไม่ยินยอมอย่างเด็ดขาดกับแผนปิดล้อมจีนที่กำหนดมาจากมอสโก
ใครอยากได้ภาคอีสาน?
อย่างไรก็ตาม แม้การบุกกัมพูชาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2521 จะไม่มีการส่งกำลังเข้ายึดภาคอีสานของไทยร่วมอยู่ด้วยในแผนการทัพ แต่การอ้างสิทธิเหนือดินแดนบางส่วนของไทยก็ยังมีอยู่ ไม่เพียงลาวเท่านั้นแต่รวมถึงกัมพูชาด้วย สุรพงษ์ ชัยนาม บันทึกไว้ในงานวิจัยนโยบายของไทยต่อลาว สรุปว่า
ความตั้งใจของลาวและกัมพูชาในการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนภาคอีสานของไทย ฝ่ายไทยทราบมาเป็นระยะๆ จากหลายแหล่งข่าว ดังอาทิ จากผลการเจรจาตกลงกันเป็นการส่วนตัวระหว่างเจ้าสีหนุกับเจ้าสุวรรณภูมาเมื่อปี 2504 สรุปสาระสำคัญได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยึดถือนโยบายเป็นกลางต่อไป และจะรักษาสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันตลอดไป ทั้งจะให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดถูกโจมตี
เจ้าสีหนุได้กล่าวถึงดินแดนหลายจังหวัดของไทยว่า แต่ก่อนเป็นของกัมพูชาและยังได้กล่าวถึงเขาพระวิหารว่า กัมพูชามีหลักฐานอย่างพร้อมมูลที่แสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้เป็นของกัมพูชา เจ้าสุวรรณภูมาก็ได้กล่าวว่า ภาคอีสานทั้งหมดเป็นดินแดนของลาวแต่สมัยโบราณ ถ้าได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลจะจัดการเรียกร้องดินแดนเหล่านั้นกลับมาเป็นของลาวให้ได้
ทั้งสองวางโครงการร่วมกันว่า ถ้าเจ้าสุวรรณภูมาเรียกร้องดินแดนอีสานของไทยเมื่อใด เจ้าสีหนุก็จะเรียกร้องจังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ด้วยเมื่อนั้น
โซเวียต-เวียดนาม
หลังความสำเร็จในการรวมชาติเวียดนาม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการปกครองกัมพูชาและลาวเมื่อปี 2518 เวียดนามซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากโซเวียตครั้งสงครามขับไล่สหรัฐ ก็เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตในการสร้างความกดดันต่อจีนอย่างเต็มตัว เวียดนามระบอบใหม่แสดงท่าทีเป็นปรปักษ์ต่อประเทศไทยอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ จีน-สหรัฐ และจีน-ไทย
ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นตามลำดับระหว่างสหรัฐและจีนหลังการเยือนของ ประธานาธิบดีนิกสัน เมื่อปี 2515 ตามมาด้วยการเยือนจีนของนายกรัฐมนตรีไทย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ปี 2518 ทำให้สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามซึ่งถือหางโซเวียตทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะการคงอยู่ของฐานทัพสหรัฐในไทย และกรณีเรือมายาเกซ เมื่อปี 2518 ซึ่งทำให้เวียดนามยังคงไม่ไว้ใจว่าสหรัฐจะหันกลับมาใช้ฐานทัพในไทยอีกหรือไม่ อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เวียดนามเริ่มขัดแย้งกับเขมรแดงจนถึงขั้นใช้กำลังปะทะกัน
การคงอยู่ของฐานทัพสหรัฐจึงยังคงเป็นภัยต่อแผนการบุกกัมพูชาของเวียดนาม จนกระทั่งฐานทัพสหรัฐถอนตัวหมดสิ้นเมื่อกลางปี 2519 แผนสถาปนาสหพันธรัฐอินโดจีนจึงเดินหน้าต่อไป รวมทั้งแผนการยึดภาคอีสานของไทยที่เสนอต่อ พคท. เมื่อปี 2520
การทูตสองหน้าของเวียดนาม
หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปลายปี 2520 ท่าทีของเวียดนามผ่อนคลายลง รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศมีการแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยียนกันหลายครั้ง ติดตามด้วยคำแถลงการณ์ร่วมที่สะท้อนท่าทีความต้องการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ขณะที่แผนจัดตั้งสหพันธรัฐอินโดจีนยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเงียบเชียบ โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การเข้ายึดครองกัมพูชาและภาคอีสานของไทย
เมื่อเวียดนามบุกกัมพูชาในปี 2522 ซึ่งอยู่ระหว่างรัฐบาล พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และนำไปสู่การเผชิญหน้ากันด้วยกำลังทหารตามพรมแดนไทย-กัมพูชาจนถึงขั้นปะทะกันอยู่ตลอดเวลาต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จนปรากฏข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า เวียดนามจะบุกยึดกรุงเทพฯ ให้ได้ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ขณะที่แสนยานุภาพทางการทหารของเวียดนามซึ่งเพิ่งเอาชนะสหรัฐและกลายเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่แม้แต่ไทยก็ไม่สามารถเปรียบเทียบได้
อานันท์ไม่เชื่อ
ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน กล่าวปาฐกถาในงานประชุมสัมมนาเนื่องในโอกาสที่ไทยกับจีนได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันครบ 25 ปี ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2549 มีความตอนหนึ่งว่า
“ผมไม่เคยเชื่อว่าเวียดนามต้องการจะบุกรุกยึด 16 จังหวัดของเมืองไทย ผมอยากให้พวกนักประวัติศาสตร์ดูข้อเท็จจริงและพยายามวิเคราะห์ว่าความจริงมันอยู่ที่ไหน แต่ผมก็ไม่เคยเชื่อว่าเวียดนามต้องการจะยึด 16 จังหวัดของเมืองไทย”
“ในเวียดนามเองก็อาจมีคนกลุ่มหนึ่งหรือคนเล็กน้อยที่ต้องการบุกเข้ามายึด 16 จังหวัดของไทยแต่ที่ผมอยากจะรู้น่ะ ตอนนั้นรัฐบาลแต่ละรัฐบาลในขณะนั้นต้องการมากน้อยแค่ไหน เพราะเราได้ฟังแต่ข่าวชวนเชื่ออยู่ตลอดเวลา”
สหพันธรัฐอินโดจีน กับผลประโยชน์ของลาว
ความคิดในการจัดตั้ง “สหพันธรัฐอินโดจีน” หรือที่พยายามเรียกชื่อใหม่ว่าเป็น “ความสัมพันธ์แบบพิเศษ” ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของโซเวียตนั้นไม่ใช่ “นวัตกรรมใหม่” เพราะถอดแบบมาจากการรวมตัวในยุคสงครามเย็นของประเทศต่างๆ ในยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสหภาพโซเวียต เพื่อเผชิญหน้ากับประเทศตะวันตกในขณะนั้น
สหพันธรัฐอินโดจีน ก็คือสหภาพโซเวียตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั่นเอง
น่าสนใจว่า กรณีความตั้งใจในการเข้ายึดภาคอีสานนั้นเป็นเจตนาของเวียดนามหรือลาวกันแน่ แต่หลักฐานเชิงประจักษ์คือ ข้อเสนอต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในการเข้ายึดภาคอีสานนี้มาจากพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามโดยมีพรรคคอมมิวนิสต์ลาวให้การสนับสนุน
ไม่ว่าข้อเท็จจริงจะเป็นประการใด แต่เรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธคือ เวียดนามและลาวมีแผนจะเข้ายึดภาคอีสานของไทยพร้อมๆ กับการบุกกัมพูชาในปลายปี 2521 อย่างแน่นอน การได้ภาคอีสานนอกจากจะทำให้แผนปิดล้อมจีนมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้ว ในส่วนของลาวซึ่งภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาขาดแคลนพื้นที่ราบก็จะได้ที่ราบสูงภาคอีสานของไทยอันกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมสมบูรณ์เป็นผลประโยชน์แลกเปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม นโยบายเพื่อปิดล้อมจีนของโซเวียตนี้ได้สร้างความไม่พอใจต่อจีนอย่างรุนแรง จีนจึงพยายามขัดขวางความสำเร็จในการจัดตั้ง “สหพันธรัฐอินโดจีน” อย่างเต็มที่ นำมาซึ่ง “สงครามอินโดจีนครั้งที่ 3” สร้างความร้อนแรงให้สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้งหนึ่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- เปิดวรรณกรรมชวนเชื่อ “บ็อณฎำตาเมียะฮ์” เล่าสภาพกัมพูชา หลังเป็นพื้นที่ไทยรบเวียดนาม
- นักวิชาการเวียดนามมองไทยในยุคสงครามเย็น เป็น “ลูกไล่จักรวรรดินิยมอเมริกา”
อ้างอิง :
เขียน ธีระวิทย์. เวียดนาม. กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2542.
จากเสรีไทยถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสายอีสาน, ศูนย์สารนิเทศอีสานสิรินธร, 2533.
ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ, ไม่ปรากฏปีที่จัดพิมพ์.
สุรพงษ์ ชัยนาม. นโยบายของไทยต่อลาว. กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2559.
______. นโยบายของไทยต่อเวียดนาม. กรุงเทพฯ : ศยาม, 2560.
หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจาก “เวียดนาม (จะ) บุกไทย? สหพันธรัฐอินโดจีน” เขียนโดย พลเอก บัญชร ชวาลศิลป์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2565 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566