เบื้องหลังการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาของรัชกาลที่ 9 ตามหลักฐาน SEATO

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาจักรีบรมราชวงศ์ ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ สปอ. SEATO
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาจักรีบรมราชวงศ์แก่ท่านประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ พ.ศ. 2503, เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณวรมัน เข็มเพ็ชร (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

การเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาของรัชกาลที่ 9 ตามหลักฐาน SEATO หรือ สปอ. อะไรอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้?

เมื่อ พ.ศ. 2503 มีเหตุการณ์สำคัญท่ามกลางบริบทการเมืองโลกในสภาวการณ์สงครามเย็น นั่นคือ การเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยที่คนไทย ณ ช่วงเวลานั้นแทบไม่ทราบด้วยซ้ำว่า เหตุการณ์นี้เกี่ยวข้องกับการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ อาจเพราะรัฐบาลไทยไม่ได้เผยแพร่รายละเอียดหรือสาเหตุเบื้องต้นของการเสด็จฯ ออกสู่สาธารณชน

ทั้งนี้ ฝ่ายการเมืองหรือแม้แต่ราชสำนักเองก็แทบไม่ประชาสัมพันธ์มูลเหตุแท้จริงในเรื่องนี้ให้กระจ่าง มีเพียงคำชี้แจงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในสมัยนั้น ที่พอจะสรุปได้ว่า กระทรวงการต่างประเทศมิได้บันทึกเรื่องราวดังกล่าว เพราะคิดว่าเป็นเรื่องของทางราชสำนัก มีเพียงข้าราชบริพารที่ตามเสด็จไปด้วยที่ได้จดบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เล็กน้อย แต่เป็นลักษณะของจดหมายเหตุและการบรรยายสิ่งที่พบเห็นระหว่างทางเท่านั้น ซึ่งนั่นไม่ใช่ข้อมูลเชิงลึกหรือเหตุผลของการเสด็จฯ

จากการศึกษาของคุณไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาเอกสารต่างประเทศเกี่ยวกับเหตุการณ์เสด็จฯ ครั้งนั้น พบว่า เหตุการณ์นี้มีเจตนาทางการเมืองแฝงอยู่ในการเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา ภายใต้ความสัมพันธ์จาก สนธิสัญญาป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) หรือ SEATO ซึ่งคุณไกรฤกษ์ นำเสนอไว้ในส่วนหนึ่งของ “ความหวังเมืองไทย ในยุคสงครามเย็น ตามหลักฐาน SEATO” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565 ดังนี้ [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

SEATO : ปลุกไทยให้เป็นหัวหอกปกป้องเอเชีย

ประเทศมหาอำนาจที่ช่วยวิตกทุกข์ร้อนไปกับไทยในระยะนั้น (หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 – ผู้เขียน) คงมีแต่สหรัฐเพียงประเทศเดียว สหรัฐตกลงใจเข้าไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เพื่อปิดช่องว่างที่เกิดขึ้นเพราะการถอนตัวของอังกฤษและฝรั่งเศสจากเขตนั้น เมื่อต้องเผชิญกับความพยายามอย่างมุ่งมั่นของจีนคอมมิวนิสต์ที่จะขยายอิทธิพลลงใต้ ไทยจึงต้อนรับการกระทำของสหรัฐ

เมื่อสหรัฐเรียกร้องให้ตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1954 ไทย ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน ได้ตอบสนองคำเรียกร้องดังกล่าวนั้นด้วยความยินดี ส่วนออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นประเทศอยู่ในซีกโลกด้านใต้อีก 2 ประเทศ รู้สึกว่า อนาคตผูกพันอยู่กับโชคชะตาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ จึงสนับสนุนความคิดเรื่องนี้ด้วยเช่นเดียวกัน

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง (ค.ศ. 1945) สงครามที่ตามมาเรียก “สงครามเย็น” คู่ต่อสู้ได้แก่ สหรัฐกับสหภาพโซเวียต (และจีนแดง) แต่มิได้รบพุ่งกันซึ่ง ๆ หน้า ทว่าใช้ประเทศอื่นสู้รบแทนพวกตน จึงเกิดศัพท์ใหม่ว่า “สงครามตัวแทน” หรือ Proxy War ซึ่งมีอุดมการณ์แตกต่างกัน ขั้วหนึ่งเป็นพวกโลกเสรี อีกขั้วหนึ่งนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์ [1]

สถานภาพของประเทศไทยทวีความสำคัญขึ้นอย่างมากในช่วงสงครามเย็น เมื่อกลุ่มประเทศฝักใฝ่โลกเสรีโดยการหนุนหลังของสหรัฐเห็นว่า ประชาชาติเอเชียต้องผนึกกำลังกันปกป้องประเทศในค่ายโลกเสรี องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อย่อว่า SEATO หรือ สปอ. จึงก่อตั้งขึ้นโดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลางและมีสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ โดยมีสหรัฐอยู่ “เบื้องหลัง”

องค์การนี้ก่อตั้งขึ้นตามสนธิสัญญามะนิลา ลงนามกันเมื่อวันที่ 8 กันยายน 1947 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จากการรวมตัวกันของ 8 ประเทศโลกเสรี ประกอบด้วย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทย และสหรัฐ การตั้งองค์การนี้ขึ้นจึงเป็นเสมือนฐานะต่อต้านการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมีเอกภาพที่สุดในสมัยนั้น

เนื้อหาสำคัญในสนธิสัญญาที่ SEATO ยึดถือก็คือ บรรดาประเทศสมาชิกต่างมีความปรารถนาที่จะประสานความพยายามที่จะป้องกันร่วมกัน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงของภาคีสมาชิกและมวลมนุษยชาติ

โดยเฉพาะข้อ 4 ของสนธิสัญญาเป็นข้อสำคัญที่สุด คือ แต่ละประเทศภาคีคู่สัญญาตกลงเห็นพ้องกันว่า หากดินแดนของประเทศใดถูกรุกรานจากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธจากฝ่ายตรงข้าม ประเทศภาคีทั้งหมดที่เหลือจะถือว่าเป็นอันตรายร่วมกันและจะปฏิบัติการเพื่อเผชิญหน้ากับอันตรายร่วมกัน [2]

ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ผู้นำเสรีไทยและอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เคยแสดงปาฐกถาต่อหน้านักศึกษาในมหาวิทยาลัย ตอบข้อซักถามถึงความจำเป็นที่ไทยต้องเข้าร่วมอยู่ใน SEATO ด้วยข้อคิดพื้น ๆ ที่คนไทยร่วมสมัยเข้าใจได้โดยไม่ยากนักว่า

“เอาละ ทีนี้มาว่ากันถึงเรื่องซีโต้และนโยบายเป็นกลาง ถ้าจะว่ากันตามข้อเท็จจริง ว่าทำไม มีความจำเป็นอย่างไรเราจึงต้องมีซีโต้แล้ว ผมสังเกตว่าพวกเราลืมง่าย แต่ขอให้ช่วยกันย้อนไปดูสภาพการณ์ในขณะนั้น เวลานั้นคอมมิวนิสต์บุกเกาหลีแล้วใช่ไหม ใช่ มลายู คอมมิวนิสต์กำลังตีกันอยู่ตุงๆ ใช่ไหม ใช่ ทิเบตก็ดูเหมือนยึดแล้ว หรือกำลังยึดอยู่ใช่ไหม ใช่ พม่าก็กำลังตีคอมมิวนิสต์อยู่ ญวนเหนือแบ่งภาคไปเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นยังบุกเข้ามาถึงซำเหนือและพงสาลี จากอำเภอปัว จังหวัดน่าน แทบจะเห็นหลังคากันไหวๆ ห่างกันเพียงแค่เดินข้ามเขาลูกเดียว

นี่สถานการณ์เป็นอย่างนี้ เราจึงมีความจำเป็นต้องเข้าซีโต้ ถ้าเราถือนโยบายเป็นกลาง ป่านนี้เป็นขี้ข้าจีนแดงไปแล้ว พวกสันติชนหรือมาช่วยอะไรได้ เกรงว่าจะไปเป็นคอมมิสซาร์ไปตาม ๆ กันเสียแหละมากกว่า ทีนี้เราเข้าซีโต้แล้วผลเป็นอย่างไร คอมมิวนิสต์หยุดไม่กล้าบุกเข้ามาอีกจริงไหม จริง แล้วจะเอายังไง บ้านเมืองรอดมาได้อย่างนี้ จะมาร้องแรกแหกกระเชอกันอยู่ทำไมว่าให้เป็นกลาง ตรงกันข้าม เราควรจะพอใจเสียด้วยซ้ำไปว่า เพราะผลของการที่เมืองไทยเข้าซีโต้นั่นเอง จึงได้มีเสถียรภาพในตะวันออกไกลตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นความจริงอยู่” [3]

สำนักงานใหญ่ขององค์การซีโต้ จึงถูกจัดตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยมีคนไทยซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยใน พ.ศ. 2500 คือ นายพจน์ สารสิน ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการทั่วไป ซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่ระดับผู้นำอย่างเป็นทางการขององค์การระหว่าง พ.ศ. 2500-07 สำนักงานใหญ่อยู่ที่ถนนศรีอยุธยา (คือที่ตั้งในปัจจุบันของกระทรวงการต่างประเทศ)

การที่สหรัฐเป็นโต้โผใหญ่เรียกร้องให้ชาติมหาอำนาจด้วยกันเห็นความสำคัญของประเทศไทยในภารกิจสำคัญระดับนานาชาติ ซื้อใจคนไทยได้เหมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ ช่วยให้รัฐบาลไทยตั้งใจทำงานใหญ่ได้อย่างเต็มที่และมีกำลังใจ

ช่วงทศวรรษแรกในรัชกาลที่ 9 หรือประมาณ พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป แม้ประเทศไทยจะมิได้อยู่ในภาวะสงคราม เราก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าภัยคุกคามและการบ่อนทำลายของลัทธิคอมมิวนิสต์ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองและสังคมสับสนวุ่นวาย บ้านเมืองยังขาดเสถียรภาพ ส่งผลให้การพัฒนาประเทศดำเนินไปไม่ได้อย่างปกติสุข

การที่ประเทศไทยถูกจัดตั้งให้เป็นเสาหลักขององค์การใหญ่อย่าง SEATO และเป็นหัวหอกปกป้องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยการเกื้อหนุนของสหรัฐและพันธมิตรจากกลุ่มประเทศระดับมหาอำนาจช่วยให้เสถียรภาพของเมืองไทยมั่นคงขึ้น และเชื่อมั่นตัวเองมากยิ่งขึ้น

ก่อนการเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ. 2503 นั้น สถานะของประเทศไทยมีความสำคัญต่อรัฐบาลอเมริกันเพราะเป็น SEATO ของเอเชีย พอ ๆ กับที่ประเทศเบลเยียมเป็นที่ตั้งขององค์การ NATO สำหรับยุโรป SEATO จึงเปรียบเสมือนปีกข้างซ้ายของพญาอินทรี ในขณะที่ NATO คือปีกข้างขวาฉันใดก็ฉันนั้น [4]

อาคารสำนักงานใหญ่ สปอ. กรุงเทพฯ
อาคารสำนักงานใหญ่ สปอ. กรุงเทพฯ เมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

หลักฐาน SEATO เบื้องหลังการเสด็จฯ

จะขอย้อนกลับไปกล่าวถึงบทบาทของผู้นำโลกเสรีอย่าง ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ แห่งสหรัฐ ผู้เคยคาดการณ์การคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ว่า ประเทศที่ด้อยพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจตกเป็นรัฐบริวารของโซเวียตตามทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ได้ กล่าวคือ เมื่อรัฐหนึ่งพลาดท่ารัฐอื่น ๆ ก็จะล้มลงตามกัน

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ได้แถลงไว้ด้วยความวิตกกังวลอย่างมากตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน 1946 ว่า

“ถ้าหากการรุกรานของคอมมิวนิสต์ที่กระทำต่อเอเชียอาคเนย์โดยเฉพาะอันเนื่องมาจากสงครามเวียดนาม และกระทำต่อเอเชียโดยทั่วไปอันเนื่องมาจากสงครามเกาหลีนั้นไม่ถูกสกัดกั้นไว้ทันท่วงทีแล้ว จะไม่ใช่ดินแดนในเอเชียเท่านั้น จะต้องตกอยู่ในมือคอมมิวนิสต์ หากแต่ดินแดนของสหรัฐก็จะต้องเผชิญกับภัยอันนี้ด้วย และอิทธิพลของสหรัฐก็จะต้อง ‘หด’ เข้าไปอยู่ในบริเวณแถวเกาะฮาวายดังเดิมเท่านั้น” [5]

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า สหรัฐมิได้หวั่นเกรงภัยคอมมิวนิสต์จะครอบงำเอเชียเท่านั้น แต่มันยังคุกคามอำนาจและอิทธิพลของอเมริกา จนต้องถอยกลับไปเริ่มต้นใหม่ที่เกาะฮาวายเหมือนเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นไปได้

ไอเซนฮาวร์ยังคงเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2503 คราวที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการครั้งแรก จึงเกิดแถลงการณ์ร่วมฉบับแรกของผู้นำสหรัฐและราชอาณาจักรไทยขึ้น อันจะมีผลต่อฐานะของไทยต่อไปในอนาคต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยผู้ตามเสด็จ ได้เสด็จฯ เยือนสถานที่สำคัญตามเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐ มีอาทิ ลอสเอนเจลิส พิตสเบิร์ก วอชิงตัน ดี.ซี. วิลเลียมสเบิร์ก นิวยอร์ก บอสตัน น็อกซวิลล์ โคโลราโด และซานฟรานซิสโก

แต่ที่ดูเป็นทางการและมีความหมายต่อการมาเยือนที่สุดตามรายงานของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการเสด็จฯ) เขียนว่า

“ในวันที่ 29 มิถุนายน 2503 เวลา 11.00 น.เศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปยังทำเนียบขาว (ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.) ได้เสด็จเข้าไปยังห้องทำงานของท่านประธานาธิบดี (ไอเซนฮาวร์) และได้ทรงปรึกษาข้อราชการอยู่กับประธานาธิบดีเป็นเวลานาน ขณะนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ ได้เข้าร่วมปรึกษาราชการอยู่ด้วย

ในอีกสองวันต่อมา ทางทำเนียบขาวก็ได้ออกคำแถลงการณ์ยืนยันที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศไทยต่อไป จนกว่าประเทศไทยจะบรรลุวัตถุประสงค์อันสูงส่งดั่งพระบรมราชปณิธานทุกประการ คำแถลงการณ์นั้นเป็นที่ทราบอยู่แล้วทั่วกัน” [6]

ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ สงครามเย็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์บรรยายสรุปเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงสงครามเย็นถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2503, ภาพจากรูปถ่ายเก่าหายาก ของสะสม คุณไกรฤกษ์ นานา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

ภายหลังการเสด็จสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แล้วเป็นเวลากว่า 3 เดือน ผู้เขียน (ไกรฤกษ์ นานา) ได้พยายามค้นหาแถลงการณ์ฉบับนั้น ปรากฏอยู่ในต้นฉบับจากเอกสารสำคัญของสำนักข่าวอเมริกันประจำกรุงเทพฯ และรายงานพิเศษจากสำนักข่าวยูซิสแห่งสหรัฐ ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2503 จึงขอคัดนำลงไว้ ณ ที่นี้ด้วยเพื่อเป็นหลักฐานและมิให้สูญหายไป

สหรัฐทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

คำกราบบังคมทูล ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ ลีเจียน ออฟ เมอริต ชั้น “ชีฟ คอมมานเดอร์” ของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในงานพิธีเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่ทำเนียบขาว เมื่อคืนวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2503 มีความดังต่อไปนี้ :-

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐสภาลงวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 ขอทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์ ลีเจียน ออฟ เมอริต ชั้น “ชีฟ คอมมานเดอร์” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จอมทัพแห่งกองทัพไทย เนื่องจากพระราชกรณียกิจซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาแล้วอย่างประเสริฐสุด

นับแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้เป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภก และจอมทัพไทย “ได้ทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีและมิตรภาพที่มั่นคงในโลกเสรี พระราชกรณียกิจมากมายหลายประการของพระองค์

ท่านย่อมต้องใช้พระปรีชาสามารถอย่างกว้างขวางในการที่จะเห็นว่าโลกนี้ ที่ปั่นป่วนและถูกทำลายล้างด้วยสงครามและกลียุคแห่งลัทธิต่างๆ นั้นการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมเสรีภาพจำเป็นจะต้องปฏิบัติด้วยความพยายามและความช่วยเหลือร่วมกันเพื่อประโยชน์แห่งประเทศของพระองค์ท่าน และเพื่อดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและวิถีชีวิตของประเทศนั้นด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้สนับสนุนองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเข้มแข็ง นับตั้งแต่ได้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2498 และได้ทรงอุปถัมภ์ให้องค์การนี้เจริญรุ่งเรืองสืบมา

พระวิริยะส่วนพระองค์ในการเสด็จประพาสประเทศต่างๆ หลายแห่งให้ผลเป็นพิเศษ ในการส่งเสริมให้มีการเข้าใจซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิดขึ้นในประเทศที่พระองค์เสด็จไปเยือน และที่แสดงความก้าวหน้าอย่างสำคัญของกองทัพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดขึ้นจากการแนะนำและการนำของพระองค์ท่าน ก็ได้แก่ความนิยมนับถืออันสูงส่งของกองบัญชาการทหารสหประชาชาติในเกาหลีและของทุกชาติในโลกเสรีที่มีต่อกองทัพของพระองค์” [6]

ส่วน สำนักข่าวยูซิสแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวถึง “แถลงการณ์ร่วม” ไว้ว่า

“ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนสหรัฐครั้งนี้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อเสรีภาพ เอกราชและสันติภาพถาวรของโลก ความสำเร็จที่กล่าวนี้ได้สรุปไว้ในแถลงการณ์ร่วมของล้นเกล้าฯ และประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2503 อันเป็นวันสุดท้ายของการเสด็จเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางราชการ

แถลงการณ์ฉบับนี้เน้นถึงการยึดมั่นอย่างเข้มแข็งของประเทศไทยและสหรัฐที่มีต่อองค์การ สปอ.  แสดงถึงความเชื่อมั่นอย่างเดียวกันว่าจำเป็นต้องมีความมั่นคงร่วมกัน เพื่อพิทักษ์รักษาพรมแดงของโลกเสรีให้พ้นอันตรายจากการรุกราน และเพื่อเสริมสร้างจุดหมายในทางสันติของทั้งสองประเทศที่มีอยู่ร่วมกัน” [6]

ไปรษณียบัตรไทย ยุคสงครามเย็น ลัทธิคอมมิวนิสต์จากญวน-ลาว-เขมร ภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน
ภาพบนไปรษณียบัตรไทยในยุคสงครามเย็นเมื่อลัทธิคอมมิวนิสต์จากญวน-ลาว-เขมร กำลังเป็นที่หวาดกลัวของชาวไทยอันเป็นภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2565)

ต่อไปนี้คือข้อความรายละเอียดแถลงการณ์ร่วมกัน

ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างเป็นกันเอง และเป็นประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นที่สนใจร่วมกัน

เกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์โลก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและท่านประธานาธิบดี มีความเป็นห่วงใยร่วมกันในเรื่องปัญหาสำคัญของการที่จะดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพและเอกราชตลอดจนสันติภาพอันถาวร และความปกติสุขของโลก โดยอาศัยหลักความเที่ยงธรรมระหว่างประเทศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมทั้งท่านประธานาธิบดี ได้ยืนยันถึงความตั้งพระราชหฤทัยอันเด็ดเดี่ยวอีกครั้งในอันที่จะให้โลกบรรลุถึงจุดหมายดังกล่าว อันเป็นผลที่จะช่วยนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคั่งสมบูรณ์และสวัสดิการของมนุษยชาติโดยทั่วไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยท่านประธานาธิบดีได้มีความเห็นร่วมกันว่า การยึดมั่นของประเทศไทยและสหรัฐต่อองค์การสนธิสัญญาร่วมกันป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นพร้อมกัน ในการร่วมกันรักษาความมั่นคงว่าเป็นวิธีที่จะธำรงไว้ ซึ่งอาณาเขตของโลกเสรีมิให้ได้รับการรุกราน และเป็นการส่งเสริมวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางสันติ ซึ่งประเทศทั้งสองมีร่วมกัน

ท่านประธานาธิบดีถือโอกาสนี้สดุดีความยึดมั่นในมิตรภาพของประเทศไทยและสหรัฐในทุกด้านและกราบบังคมทูลถวายคำยืนยันแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า สหรัฐมีความตั้งใจอันเด็ดเดี่ยวไม่เอนเอียงที่จะรักษาข้อผูกพันที่สหรัฐมีอยู่ในสนธิสัญญานี้ด้วยเกียรติเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความมั่นคงร่วมกันต่อไป

ในการกล่าวถึงมิตรภาพอันเก่าแก่ที่เคยทำให้ประเทศไทยและสหรัฐมีความสัมพันธ์กันมาเป็นอย่างดียิ่งเป็นเวลาช้านาน ท่านประธานาธิบดีได้กราบบังคมทูลรับรองว่า สหรัฐมีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยว ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ในวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่จะส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อประโยชน์อันถาวรของประชาชนชาวไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยท่านประธานาธิบดี ทรงแสดงความปรารถนาร่วมกันในอันที่จะรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมืออันสนิทสนม พร้อมด้วยไมตรีจิตมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและสหรัฐให้มั่นคงยิ่งขึ้นต่อไป ทั้งทางตรงและผ่านทางสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศที่สมควรอื่นๆ ซึ่งประเทศทั้งสองเป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยมีความเชื่อมั่นว่าในการดำเนินการเช่นนี้ประเทศทั้งสองได้ปฏิบัติตามความปรารถนาอันสูงสุดของประชาชนเพื่อโลกที่สันติสุข อิสรภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษยชนได้รับการยกย่องเชิดชู

(ข่าวยูซิส ประจำวันที่ 2 กรกฎาคม 2503)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในคำกราบบังคมทูลถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ และในแถลงการณ์ร่วมที่ทำเนียบขาวนั้นประเทศไทยได้รับคำยืนยันว่าสหรัฐจะสนับสนุน “สปอ.” อย่างเข้มแข็งและให้ราชอาณาจักรไทยเป็นศูนย์กลางของการปกป้องโลกเสรี โดยมิได้กล่าวถึงสาระอื่นใดเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ไกรฤกษ์ นานา. “เบื้องหลังการเสด็จฯ ต่างประเทศในรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 1 ความหวังท่ามกลางความหวั่นวิตก,” ศิลปวัฒนธรรม. 38, 5 (มีนาคม 2560).

[2] “SEATO,” 120 ปี กระทรวงการต่างประเทศ, อมรินทร์พริ้นต์ติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2539.

[3] ______. “เบื้องหลังการเสด็จฯ ต่างประเทศในรัชกาลที่ 9 ตอนที่ 2 พระราชามั่นพระทัย เมืองไทยมั่นคง,” ศิลปวัฒนธรรม. 38,6 (เมษายน 2560).

[4] คึกฤทธิ์ ปราโมทย์, ม.ร.ว. เมืองไทยกับคึกฤทธิ์. สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510.

[5] “เชษฐ”. สงครามเวียดนาม. โรงพิมพ์ไทยพณิชยการ, 2511.

[6] สำนักข่าวสารอเมริกัน กรุงเทพฯ. ประมวลภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จฯ เยือนสหรัฐอเมริกา 14 มิถุนา-14 กรกฎา พ.ศ. 2503.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2566