เผยแพร่ |
---|
ปี 2497 จอมพล ป. พิบูลสงครามตัดสินใจลงนามเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEATO (Southeast Asia Treaty Organization) โดยมีสมาชิก 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ปากีสถาน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส และไทย เป็นการเปิดช่องทางให้ไทยมีโอกาสติดต่อกับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา และทำให้ไทยสามารถขอความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกหากเกิดการคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยฝากความหวังไว้อย่างยิ่ง
ในการประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 1 (23-25 กุมภาพันธ์ 2498) ที่ประชุมตัดสินเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ เพราะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และทีท่าของจอมพล ป. จากการกล่าวถึงความสำคัญและตระหนักถึงอันตรายจากภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังคุกคามภูมิภาคนี้ในที่ประชุม
จอมพล ป. ยังพยายามใช้ SEATO เป็นข้ออ้างในการกำจัดศัตรูฝ่ายค้านภายในประเทศเพื่อลดการวิจารณ์จากภายในประเทศและระหว่างประเทศ หลังการประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 1 มีการจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 42 คน ในข้อหาวางแผนจัดตั้งระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2495 จับกุม เทพ โชตินุชิต และแคล้ว นรปติ หลังจากเดินทางกลับจากจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2499 ข้อหาละเมิดความพยายามการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของรัฐบาล
ความต้องการต่อต้านคอมมิวนิสต์ของผู้นำไทยสอดคล้องกับความต้องการของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหวาดกลัวการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐอเมริกาสนับสนุนรัฐบาลจอมพล ป. แม้ว่าจะปกครองแบบทหาร ในช่วงปี 2498-2500 เอกอัครราชทูตสหรัฐที่จะมาประจำประเทศไทย จึงเป็นผู้มีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง เพื่อต่อต้านความพยายามของรัฐบาลไทยที่บางครั้งจะหันมาใช้นโยบายเป็นกลาง ซึ่งบางครั้งสหรัฐอเมริกายังให้เงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ไทยเพื่อให้หันไปใช้นโยบายอื่น
หากการสนับสนุน SEATO ของไทยอย่างเต็มที่เริ่มมีการหยุดชะงัก
ช่วงกลางปี 2498 บรรยากาศการเมืองโลกที่แบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจเริ่มผ่อนคลาย นับตั้งแต่ นิกิตา ครุสชอฟ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหภาพโซเวียต เปลี่ยนมาใช้นโยบายต่างประเทศใหม่เป็น “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” รวมทั้งความพยายามของประเทศอื่นๆ ที่เรียกร้องให้ประเทศมหาอำนาจแสวงหาสันติภาพที่ถาวร และนำสู่การพบกับของผู้นำสหภาพโซเวียต กับผู้นำชาติตะวันตกอย่าง สหรัฐอมเริกา, อังกฤษ และฝรั่งเศศ ในการประชุมที่เจนีวา เดือนกรกฎาคม 2498
ในภูมิภาคเอเชียการผ่อนคลายทางการเมืองเกิดขึ้นในการประชุมที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เดือนเมษายน 2498 ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างชาติแอฟริกันและเอเชีย โดยส่วนใหญเป็นชาติต่อต้านที่ลัทธิอาณานิคมใหม่ภายใต้อำนาจสหรัฐอเมริกา, สหภาพโวเวียต และจีน นอกจากนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้แทนไทยได้พบกับ โจวเอินไหล นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งมีนโยบายต่างประเทศ และท่าทีที่เป็นมิตรที่แสดงให้เห็นว่าจะไม่คุกคามไทย ซึ่งนำไปสู่การผ่อนปรนทางการค้าระหว่างสองประเทศ
ขณะเดียวกันก็ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ SEATO และสหรัฐอเมริกาว่า แทรกแซงกิจการภายในของไทย ดังจะเห็นได้จากที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการทหารของสหรัฐอเมริกาในไทยจำนวนมาก และเห็นว่าไทยเป็นหุ่นเชิดของสหรัฐอเมริกา รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและจีนที่อยู่ในสภาพเลวร้าย เพราะการเข้าร่วมเป็นสมากชิก SEATO
ส่วนการเมืองภายในของไทยเวลานั้น อำนาจของจอมพล ป. เริ่มลดลง เพราะความแตกแยกของ พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชติ์ ขณะที่ฝ่ายค้านซึ่งสนับสนุนปรีดี พนมยงค์ มีความเข้มแข็งขึ้น หนังสือพิมพ์, พรรคการเมืองที่จัดขึ้นใหม่ และพรรคฝ่ายค้านโจมตี SEATO และการเข้าเป็นสมาชิกของไทย ตลอดจนประท้วงการฝึกทหารของ SEATO ว่าเป็นการอนุญาตให้กองกำลังต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย, สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น, การเสนอให้ไทยออกจากการเป็นสมาชิก SEATO
แต่การต่อต้าน SEATO ก็ต้องหยุดลง เพราะการปราบปรามของรัฐบาล
เมื่อจอมพล ป. เห็นว่าผลการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ไม่ได้เอื้อต่อการรักษาอำนาจทางการเมืองของตนเอง จึงหันกลับมาใช้ SEATO เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการใช้มาตราการรุนแรงกับฝ่ายค้าน หลังการประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 3 (11-13 มีนาคม 2500) โฆษกทหารของไทยแจ้งว่า คณะกรรมการด้านความมั่นคงได้รับรายงานเกี่ยวกับการวางแผนโค่นล้มรัฐบาล (แต่ไม่มีการเปิดเผยหลักฐาน) จึงมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน การปราบปรามฝ่ายค้าน, ห้ามการชุมนุมของสาธารณชน, การจับกุมนักเขียนที่วิจารณ์รัฐบาล ฯลฯ
ซึ่งในช่วงปี 2498-2500 สิ่งที่สหรัฐพยายามอย่างสม่ำเสมอก็คือ “ตอกย้ำให้ผู้นำไทยและคนไทยกลัวคอมมิวนิสต์”
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการรัฐประหารและยึดอำนาจการปกครองแทนรัฐบาลจอมพล ป. แต่ยังคงยืนยันการปฏิบัติตามข้อผูกพันกับ SEATO ทั้งพยายามหาการสนับสนุนจาสหรัฐอเมริกา เช่น การแต่งตั้ง พจน์ สารสิน เลขาธิการองค์การ SEATO เป็นนายกรัฐมนตรี หรือจอมพลถนอม กิติขจร ที่จอมพลสฤษดิ์ เลือกให้มารับตำแหน่งต่อจากพจน์ สารสิน หลังมีการเลือกตั้ง เพราะตนเองติดปัญหาต้องไปรักษาสุขภาพ เพราะเห็นปะโยชน์ที่จะได้จาก SEATO
แต่ช่วงปี 2500-2501 ยังคงมีการโจมตีสหรัฐอเมริกา และ SEATO เนื่องจากกระแสความเป็นชาตินิยม และการเกิดขึ้นของเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ ที่ปฏิเสธนโยบายแบบเก่า แต่ให้ความสำคัญกับ “New Asians” ทั้งเรียกร้องว่าไทยควรได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้นในฐานะสมาชิก SEATO และพันธมิตรกับชาติตะวันตก
12 มิถุนายน 2501 ประชาชนราว 1,500 คน ซึ่งในจำนวนนั้นมีนักเรียนร่วมอยู่ด้วย 200 คน พวกเขาชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง ปราศรัยวิจารณ์ SEATO และการเป็นสมาชิกของไทย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บันทึกว่า “ [13 มิถุนายน 2501] โรงเรียนอำนวยศิลป์ ธนบุรี พักการเรียนนักเรียน 200 ซึ่งถูกกกล่าวหาว่าเข้าร่วมการชุมนุมวันที่ 12 มิถุนายน ที่สนามหลวง ในที่ชุมนุมมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) รวมถึงบทบาทของประเทศไทยในการเข้าร่วมพันธมิตรทางทหารที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์..”
นอกจากนี้ยังมีข่าวลือการลักลอบนำอาวุธเข้ามาในประเทศไทย ประกอบกับความแตกแยกระหว่างผู้นำทางทหารขณะนั้น โดยเฉพาะ จอมพลประภาส จารุเสถียร ที่ต้องการอำนาจทางการเมือง จอมพลสฤษดิ์จึงเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ และทำการรัฐประหารครั้งที่ 2 ตุลาคม 2501 ทำให้การเมืองไทยกลับสู่ยุคทหารเข้มแข็งอีกครั้ง และการต่อต้าน SEATO ยุติลงด้วย
แม้การวิพากษ์วิจารณ์ SEATO โดยประชาชน และฝ่ายค้านจะเบาลง แต่กลับเกิดการวิจารณ์จากรัฐบาล
รัฐบาลไทยไม่พอใจการทำงานของ SEATO เพราะสหรัฐอเมริกาเริ่มมีความร่วมมือใกล้ชิดกับประเทศที่เป็นกลาง, ปฏิเสธที่จะเพิ่มความช่วยเหลือทางการทหารและเศรษฐกิจแก่ไทย และให้การสนับสนุนอาวุธแก่กัมพูชา ซึ่งเวลานั้นไทย-กัมพูชามีข้อขัดแย้งเรื่องเขาพระวิหารอยู่ รวมถึงความล้มเหลวของสหรัฐอเมริกาในการจัดการกับขบวนการประเทศลาว นำโดย เจ้าสุภานุวงศ์ ที่ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาวขยายพื้นที่ได้มากขึ้น ก่อนจะมีการรุกรานบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศไทย
หากในการประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 7 (27-29 มีนาคม 2504) ดีน รัสก์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กล่าวยืนยันแก่สมาชิกว่า สหรัฐจะไม่ยอมให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องตกเป็นคอมมิวนิสต์ และจะให้ SEATO และกองกำลังหทารเข้าแทรกแซงในลาวหากจำเป็น
เดือนพฤษภาคม 2504 รองประธานาธิบดีลินดอน บี. จอห์นสัน เดินทางเยือนในภูมิภาคอาเซียน ในส่วนของประเทศไทย จอห์นสันยืนยันกับรัฐบาลไทยว่า จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มในการป้องกันคอมมิวนิสต์ และจะเพิ่มเงินช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหารแก่ไทย
หากทางการไทยยังคงแสดงความไม่พอใจนับแต่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนกัมพูชา ก่อนจะเริ่มคลี่คลายเมื่อมีการแถลงการณ์ถนัด-รัสก์ และการส่งกองกำลังมาช่วยเหลือไทยในปี 2505 เมื่อกลุ่มประเทศลาวได้เปิดการสู้รบใกล้ชายแดนไทยในเดือนพฤษภาคมอีกครั้ง รัฐบาลไทย-สหรัฐอเมริกา เห็นชอบร่วมกันที่สหรัฐอเมริกาจะส่งกองทัพเข้ามาประจำการในไทย เพื่อป้องกันและรักษาความมั่นคงของไทยจากภัยคุกคามคอมมิวนิสต์
เมื่อจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต (8 ธันวาคม 2506) จอมพลถนอม กิติขจร ขึ้นเป็นนายกฯ ยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศเช่นรัฐบาลก่อน ขณะที่ SEATO เองก็ยังคงให้การสนับสนุนไทยในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม, การร่วมฝึกทางทหาร และการต่อต้านคอมมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับไทย เนื่องจากจีนคอมมิวนิสต์ประกาศทำสงครามปลุกปั่นให้ประชาชนในชนบทของไทยก่อกบฏในปี 2508
ขณะที่การประชุมคณะมนตรีของ SEATO ตั้งแต่ปี 2507 เน้นพิจารณาสถานการณ์ในเวียดนาม การประชุม SEATO ครั้งที่ 10 (3-5 พฤษภาคม 2508) ที่ประชุมพิจารณาเกี่ยวกับภับการรุกรานของคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเห็นด้วยการกับการที่สหรัฐอเมริกาโจมตีเวียดนามเหนือ เนื่องจาก SEATO จัดตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการรุกรานจากคอมมิวนิสต์
แต่แล้วสมาชิก SEATO ก็เกิดความแตกแยก
โดยสมาชิก 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส, อังกฤษ และปากีสถาน เริ่มมีควาเห็นต่าง เช่น ฝรั่งเศสเห็นว่าสงครามในเวียดนามเป็นสงครามของคนเชื้อชาติเดียวกัน จึงไม่ควรแรกแซง และเริ่มถอนตัวจาก SEATO ในด้านการทหาร, ปากีสถาน ปฏิเสธเนื่องจากไม่พอใจสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ยอมให้ความช่วยปากีสถานเมื่อเกิดความขัดแย้งกับอินเดีย
นั่นทำให้ความร่วมมือเปลี่ยนไปเป็นแบบทวิภาคีระหว่างไทย-สหรัฐ
หลังเวียดนามโจมตีเรือรบสหรัฐอเมริกา สภาคองเกรสสหรัฐก็มีมติว่าเวียดนามละเมิดกฏบัตรสหประชาชาติที่มีผลต่อสันติภาพ สหรัฐอเมริกาจึงส่งกองกำลังทางทหารเข้ามาไทยเพื่อปฏิบัติการโต้ตอบ ในปี 2507 เจ้าหน้ากองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในไทยมี 3,000 คน และเพิ่มเป็น 33,500 คนในปี 2512 ช่วงปี 2507-2512 รัฐบาลไทยอนุญาตให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพอากาศในไทย (ที่จังหวัดอุดรธานี, นครพนม, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, นครสวรค์, ชลบุรี, กรุงเทพฯ) เพื่อทำสงครามอินโดจีน ประเทศไทยเองก็ส่งทหารเข้าไปเวียดนามในปี 2507-2509 ตามคำร้องของเวียดนามใต้
ปลายปี 2514 จอมพลถนอมต้องเผชิญกับปัญหาภายในประเทศ ตั้งแต่ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ, ภัยคอมมิวนิสต์, ปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนักศึกษา จนเกิดการชุมนุมประท้วงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สุดท้ายจอมพลถนอมต้องลาออก สัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนไปต่อ หากสถานการณ์การเมืองภายในยังไม่แน่นอน มีการวิจารณ์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐอเมริกา ว่าการมีกองกำลังสหรัฐอเมริกาในประเทศเป็นการดูถูกประเทศไทย
เดือนพฤษภาคม ปี 2518 ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกา ถึงขั้นวิกฤต เมื่อสหรัฐอเมริกาส่งทหารกว่าพันนายมายังอู่ตะเภา เพื่อปฏิบัติการชิงเรือมายาเกซ-เรือพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา ที่ถูกเขมรแดงยึด รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ออกแถลงการณ์ประท้วงการกระทำดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของไทย
วันที่ 1 กรกฎาคม 2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศจีน ผู้นำของสองประเทศลงนามในแถลงการณ์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ อันเป็นดอกผลของ “การทูตใต้ดิน” ที่ไทยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2498
คอมมิวนิสต์ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวอย่างที่ผ่านมาอีกแล้ว
ที่ประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 18 (28 กันยายน 2516) มีความพยามเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง SEATO ให้ลดกิจกรรมทางทหาร และเพิ่มความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ หลังจากนั้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้เดินทางไปพบกับผู้นำฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศตกลงร่วมกันที่ยุบ SEATO อย่างเป็นขั้นตอน
ในการประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 20 (24 กันยายน 251 ) ไทยและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นสมาชิก SEATO เพียง 2 ประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เสนอแถลงการณ์ร่วมที่ตกลงกันให้ยุบ SEATO ในที่สุดที่ประชุมก็มีมติให้จัดเตรียมแผนยุบ SEATO ภายใน 2 ปี
ข้อมูลจาก
ปณิธี จาตกานนท์. ไทยกับการยุบเลิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, วิทยานิพนธ์ รัฐศาสตรมหาบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2545
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ บรรณาธิการ. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554, สำนักพิมพ์โพสต์บุ๊ก กุมภาพันธ์ 2556
โจวจินถาง. “ ‘คณะทูตใต้ดิน’ : ผู้บุกเบิกความสัมพันธ์ไทย-จีน” ใน, เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 22 กุมภาพันธ์ 2558
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ธันวาคม 2563