ย้อนดูจุดเริ่มต้นและจุดจบ “คณะกรรมการราษฎร 2475” ผู้พลิกโฉมหน้า “การเมืองไทย” (ตอนที่ 1)

ฉลอง งาน 2475
ภาพวันงานฉลองรัฐธรรมนูญ (เครดิต Wikimedia)

“คณะกรรมการราษฎร” มีอำนาจเบ็ดเสร็จหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้วเริ่มใช้อำนาจตามธรรมนูญการปกครองรื้อถอนขุมอำนาจเก่า ปลด เปลี่ยน และโยกย้ายบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา จัดสายสืบสอดส่องพฤติกรรมฝ่ายตรงข้าม และอีกมากมาย 

การกระทำดังกล่าวทำให้ “คณะกรรมการราษฎร” ได้ชื่อว่าเป็นผู้พลิกโฉมหน้าการเมืองไทย ทว่าเมื่อเวลาผันเปลี่ยนไปกลับกลายเป็นบ่อเกิดของความแตกแยก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมจำนนต่อคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความชุลมุนวุ่นวายตลอด 30 ชั่วโมง นับตั้งแต่เช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สงบลงชั่วคราว ข้าราชการ พ่อค้า ชาวบ้าน สโมสร ห้างร้าน เริ่มแสดงตัวให้ “ผู้กุมอำนาจใหม่” รู้จัก

เมื่อ “กลุ่มก้อนอำนาจใหม่” เกิดขึ้นมา ผู้คนต่างยินดีปรีดา ส่งจดหมาย โทรเลข ของขวัญมาแสดงความยินดีในวาระ “มหาศุภมงคล” หวังว่าประเทศจะแปรเปลี่ยนไปในทิศทางใหม่เพื่อประชาชนคนไทยโดยแท้ ถึงขนาดที่มีการบันทึกถึงถ้อยคำสุดแสนจะดีใจไว้ในเอกสารแฟ้มสำนักราชเลขาธิการว่า ทุกคน “เกือบแทบน้ำตาไหล โดยความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดไม่ได้ ที่คณะราษฎรเห็นแก่ชาติและคนไทย และมีจิตรมีใจเป็นหัวอกเดียวกันทั้งสิ้น”

ถึงแม้ว่าจะได้รับชัยชนะ และประสบความสำเร็จกับการก่อการในครั้งนี้ แต่คณะราษฎรก็ไม่ได้มีเวลาชื่นชมกับความสำเร็จมากนัก เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเป้าประสงค์ของตนเองโดยด่วน แต่คำยินยอมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่จะทรงเป็น “พระเจ้าแผ่นดินตามปกครองตามพระธรรมนูญ” ทำให้หมดโอกาสต่อรองเรื่องอื่น ๆ นอกจากทำเรื่องเฉพาะ คือ ร่างธรรมนูญ และเข้าบริหารประเทศ 

คณะผู้ก่อการใช้เวลาร่างพระธรรมนูญเพียง 2 วัน และเมื่อประกาศใช้ในวันที่ 27 มิถุนายน ความสับสนเรื่อง “ประชาธิปไตย” ก็เริ่มขึ้น 

บทบัญญัติมาตรา 39 ของพระธรรมนูญได้ให้อำนาจสิทธิ์ขาดการปกครองแก่คณะกรรมการราษฎร บุคคลคณะนี้มาจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งตั้งโดยคณะผู้ก่อการจำนวน 15 คน มีอำนาจออกกฎหมายในกรณีฉุกเฉินเรียกประชุมสภาไม่ทัน มีอำนาจให้อภัยโทษ มีอำนาจกำหนดนโยบายต่างประเทศ มีอำนาจเหนือกษัตริย์ในการตั้งการถอดเสนาบดี การประกาศสงคราม และถ้าพระมหากษัตริย์มีเหตุจำเป็นชั่วคราวที่จะทำหน้าที่ไม่ได้ หรือไม่อยู่ในพระนคร ให้คณะกรรมการราษฎรเป็นผู้ใช้สิทธิ์แทน

สำหรับองค์พระมหากษัตริย์นั้นทรงเป็นเพียง “ตัวเชิด” ของระบอบใหม่ เหมือนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดการณ์ไว้เมื่อยอมตกลงเสด็จกลับกรุงเทพฯ พระราชอำนาจที่เคยมีอย่างไม่จำกัดมานานหลายร้อยปีสิ้นสุดลง ข้อราชการใด ๆ หรือแม้แต่เรื่องส่วนพระองค์จะทรงทำมิได้ ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากคณะราษฎร

นอกจากนี้กฎหมายใดก็ตามที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วยก็สามารถประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ และสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และสามารถถอดถอน “พนักงานรัฐบาล” คนใดได้ทั้งสิ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเป็นจำนวนมาก หลังจากสิ้นสมัยของคณะกรรมการราษฎร เช่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ทรรศนะก่อนจะทรงสละราชสมบัติในปลายปี 2477 ว่า

“เมื่อข้าพเจ้า— ได้เห็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่หลวงประดิษฐมนูธรรมได้นำมาให้ข้าพเจ้าลงนาม ข้าพเจ้ารู้สึกทันทีว่า หลักการของผู้ก่อการกับหลักการของข้าพเจ้านั้นไม่พ้องกันเสียแล้ว เพราะผู้ก่อการมิได้มีความประสงค์ที่จะให้มีเสรีภาพในการเมืองโดยสมบูรณ์ แต่หากต้องการให้มีคณะการเมืองได้แต่เพียงคณะเดียว–”

แล้วยังกล่าวต่อไปว่า “–เมื่อคณะผู้ก่อการได้ประกาศว่าจะขอพระราชทานให้เปลี่ยนการปกครองเป็นแบบรัฐธรรมนูญนั้นคนไทยที่มีความรู้ย่อมโมทนาทั่วไปด้วย แต่เมื่อกลายเป็นการยึดอำนาจกันเฉย ๆ ไม่ได้ทำให้มีเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้นก็กลายเป็นของขื่นขมกลืนไม่ลง เพราะผลร้ายของการปกครองแบบ ‘Absolute’ มิได้เสื่อมคลาย เป็นแต่เพียงเปลี่ยนตัวเปลี่ยนคณะกันเท่านั้น– ”

อย่างไรก็ตาม ขณะนั้น คณะกรรมการราษฎรก็มุ่งลุยงานกันต่อไปโดยเริ่มต้นใช้อำนาจตาม “ธรรมนูญ” ในการปกครองแผ่นดิน และงานเร่งด่วนที่เป็นเป้าหมายแรก ๆ ของคณะดังกล่าวก็คือ “ถอนขุมกำลังอำนาจเก่าของกษัตริย์” นั่นเอง

เรื่องราวปฏิบัติการของ “คณะกรรมการราษฎร” ยังมีต่ออีกมากมาย พวกเขาจะใช้วิธีใดในการทลายอำนาจเก่าของประเทศที่มีอยู่ยาวนาน และเกิดอะไรขึ้นต่อการกระทำเช่นนี้ ติดตามต่อได้ที่ ย้อนดูจุดเริ่มต้น และจุดจบของ “คณะกรรมการราษฎร” ผู้พลิกโฉม “การเมืองไทย” (ตอนที่ 2) 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เก็บความจาก “คณะกรรมการราษฎร : อำนาจเบ็ดเสร็จหลังเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475” เขียนโดย แถมสุข นุ่มนนท์ ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกันยายน 2534. [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 1 มิถุนายน 2566