เปิดที่มา “เต้าหู้” วัตถุดิบคุณประโยชน์สูงคู่ครัว (แทบ) ทั่วโลก

เต้าหู้ บนจาน ราดซอส ผัก

“เต้าหู้” เจ้าก้อนเนื้อหยุ่นสีขาวรสชาติจืด อุดมไปด้วยสารอาหารและคุณประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะลดความเสี่ยงเรื่องหัวใจ และหลอดเลือด หรือลดความเสี่ยงเรื่องมะเร็งเต้านม ด้วยประโยชน์เต็มอิ่มไม่มีกั๊กเช่นนี้ ผสมกับความอร่อยนุ่มละมุน จึงทำให้เต้าหู้เป็นส่วนประกอบสุดโปรดในเมนูต่าง ๆ ของหลายคน แต่เคยสงสัยไหมว่าวัตถุดิบชั้นเลิศนี้มีที่มาอย่างไร?

“ท้าวทอง เสียมหลอ” คอลัมนิสต์นิตยสารศิลปวัฒนธรรมเล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เต้าหู้” น่าจะเกิดขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช-ค.ศ. 220) จากหลักฐานที่ปรากฏในประพันธ์ของ “จูซี-มหาปราชญ์” สมัยราชวงศ์ซ่ง ที่มีการกล่าวถึงบุคคลชื่อว่า “หลิวอาน” ผู้มีศักดิ์เป็นอ๋องของหวยหนานในราชวงศ์ฮั่น ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น 

Advertisement

การยืนยันว่าเจ้าก้อนสีขาวหรือเหลืองมีจุดกำเนิดในราชวงศ์ฮั่น ไม่ได้ปรากฏแค่ในบทประพันธ์ดังกล่าวเท่านั้น เพราะนักโบราณคดีได้ตรวจสอบสมมติฐานดังกล่าวผ่านหลักฐานด้านโบราณคดี และได้ผลออกมาว่าเทคโนโลยีสมัยนั้นสามารถผลิตเต้าหู้ได้

แม้ว่าเต้าหู้จะถูกคิดค้นขึ้นมาในสมัยราชวงศ์ฮั่น ทว่ายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยชื่นชอบการกินอาหารมังสวิรัติมากนัก จนเข้าสู่ “ราชวงศ์ซ่ง” เต้าหู้ถึงได้รับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะคนในช่วงนั้นเริ่มกินมังสวิรัติมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันคนแทบทั่วโลกมักใช้เต้าหู้รังสรรค์เมนูจานเด็ดมากมาย อย่างในโลกตะวันออกที่ถือเป็นถิ่นกำเนิดเต้าหู้ ก็มีอาหารที่เกี่ยวพันกับเต้าหู้จำนวนมาก และเรียกได้ว่าเป็นอาหารจานหลักประจำชาติ อย่างในจีนก็จะมี หมาโผวโต้วฟู่ (麻婆豆腐) เมนูเต้าหู้อ่อนสีขาวผัดกับโต้วป้านเจี้ยงสีแดงก่ำ หรือซอสเผ็ดข้นของจีนที่หมักจากถั่วปากอ้า เสริมด้วยฮวาเจียว จนได้รสชาติเผ็ดชาตามสไตล์จีน ส่วนในไทยก็จะมี แกงจืดเต้าหู้หมูสับ หรือผัดไทย

ส่วนโลกตะวันตกก็ชื่นชอบเต้าหู้แทบจะเรียกได้ว่าไม่แพ้กันเลย ทั้งยังมีการนำเต้าหู้มาปรับให้เข้ากับรสปากของคนในพื้นที่ เช่น ไข่คนเต้าหู้, เต้าหู้ทอดบัฟฟาโล่วิงส์, รีซอตโตเต้าหู้, บาร์บีคิวเต้าหู้ เป็นต้น

เรียกได้ว่า “เต้าหู้” นั้นคือวัตถุดิบคู่ครัวของคนแทบทุกชนชาติจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ท้าวทอง เสียมหลอ. “กินเจ กินอะไร ? กินทำไม ?”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม 2534.

Nisha. “40 Terrific Tofu Recipes.” Access May 24, 2023. https://rainbowplantlife.com/tofu-recipes/.

Megan Metropulos. “Everything you need to know about tofu.” Access May 24, 2023. https://www.medicalnewstoday.com/articles/278340.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 พฤษภาคม 2566