“คืนหมาหอน” โอกาสสุดท้ายพลิกเกม? ชิงตำแหน่งผู้แทนประชาชน

คืนหมาหอน
(ภาพจาก Pixabay)

คืนหมาหอน คือคำศัพท์ทางการเมืองที่ใช้อธิบายถึงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะในคืนสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันต่อมา

ช่วงเวลานี้จะเกิดเหตุแปลกประหลาด ทั้งการทุจริตเลือกตั้ง หรือเกิดกิจกรรมทางการเมืองที่ “เล่น” กันอย่างหนัก เพราะเป็นเสมือนเดิมพันครั้งสุดท้าย ก่อนประชาชนจะเข้าคูหากากบาทเลือกพรรคที่ชอบ ผู้แทนที่ใช่ ในวันรุ่งขึ้น “การซื้อเสียง” ในช่วงนี้จึงมักทำในเวลากลางคืนเพื่อไม่ให้เป็นที่สังเกตของผู้คน โดยตระเวนไปตามบ้านเพื่อติดต่อจ่ายเงินซื้อเสียง หมาเฝ้าบ้านจึงหอนไล่เพราะเจอคนแปลกหน้า เป็นที่มาของคำศัพท์ “คืนหมาหอน” 

Advertisement

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น มักเกิดกรณีคืนหมาหอนแทบทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น กรณีการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563 มีการร้องเรียนจากชาวบ้านก่อนถึงวันเลือกตั้งว่ามีหัวคะแนนนำเงิน 600 บาท โดยเย็บเป็นชุดละ 300 บาท มาให้ชาวบ้าน หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ การเลือกตั้งนายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) และสมาชิก เขต 9 จังหวัด นครปฐม ที่จัดให้มีขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ในคืนก่อนวันเลือกตั้ง มีการจับกุมชายชราผู้หนึ่งที่ขึ้นรถซาเล้งตระเวนแจกเงินตามบ้านและร้านค้าต่าง ๆ โดยยอมรับสารภาพว่า รับเงินมาซื้อเสียงให้กับผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. ทีมหนึ่ง ฯลฯ

หนึ่งในกรณีคืนหมาหอนที่โด่งดังที่สุดในการเมืองระดับชาติ คือ การเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีนักการเมืองชื่อดังถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้ง จากการพบหลักฐานเป็นธนบัตรใบละ 20 บาท และ 100 บาท เย็บติดกันเป็นปึกใหญ่ มัดรวมกับใบแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากหลักฐานเอาผิดไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถเอาผิดได้

การซื้อเสียงเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วง “คืนหมาหอน” ที่มีการทุ่มเงินลงไปอย่างมหาศาลมากกว่าช่วงอื่น ๆ ส่งผลเสียต่อระบบการเมืองของประเทศอย่างมาก เพราะการที่ผู้แทนได้รับเลือกมาจากการซื้อเสียง ทำให้ผู้สมัครคนนั้นไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง และมีแนวโน้มสูงที่จะเข้าไปบริหารทรัพยากรของประเทศหรือท้องถิ่นโดยไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม 

ภาครัฐจึงพยายามออกมาตรการในการปราบปรามการกระทำดังกล่าวมาโดยตลอด แต่พฤติกรรมการทุจริตซื้อเสียงก็ยังเป็นที่พบเห็นอยู่ทั่วไป เพราะภาครัฐไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง ทั้งในปัจจุบันยังมีการใช้วิธีหลบเลี่ยงต่าง ๆ โดยไม่ใช้การจ่ายเป็นเงินสด เช่น การแจกสิทธิพิเศษ โดยผู้สมัครจะแจกบัตรพิเศษนี้ เพื่อให้ประชาชนไปเติมน้ำมัน หรือซื้อของจากซูเปอร์มาร์เก็ตในราคาถูก หรือให้ฟรี การปล่อยเงินกู้ โดยคิดดอกเบี้ยราคาถูกให้กับผู้ลงคะแนน ฯลฯ

คืนหมาหอน จึงยังคงเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ตาม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

แฉเพิ่ม! ‘สมชัย’ โชว์เงินซื้อเสียงเลือกตั้งซ่อมลำปาง ใส่ซองพลาสติกอย่างดี แนะ กกต.อย่ารีรอดำเนินการ. เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566 จาก https://www.matichon.co.th/region/news_2239113

คาหนังคาเขา! จับทันควันหัวคะแนน กำลังแจกเงินชวนเลือกนายก อบจ.นครปฐม. เข้าถึงเมื่อ 28 เมษายน 2566 จาก https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_5563512

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2547). สารานุกรมการปกครองท้องถิ่นไทย เล่มที่ 1. นนทบุรี : วิทยาลัยพัฒนาการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันพระปกเกล้า


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 เมษายน 2566