“บ้านใหญ่” ผู้มากบารมี กำหนดทิศทางการเมืองไทย?

บ้านใหญ่ สมศักดิ์ เทพสุทิน วัฒนา อัศวเหม สุชาติ ตันเจริญ บรรหาร ศิลปอาชา เนวิน ชิดชอบ
นักการเมืองบ้านใหญ่ผู้มีอิทธิพลในจังหวัดต่าง ๆ จากภาพซ้ายไปขวา สมศักดิ์ เทพสุทิน วัฒนา อัศวเหม สุชาติ ตันเจริญ บรรหาร ศิลปอาชา เนวิน ชิดชอบ (เครดิตภาพ มติชน ออนไลน์ ตัดแต่งภาพโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

“บ้านใหญ่” เป็นคำที่สังคมไทยได้ยินบ่อยขึ้นโดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ที่ “บ้านใหญ่” มักถูกจับตามองเป็นพิเศษว่าจะเข้าไปจับกับขั้วการเมืองไหน หรือจะเป็นตัวแปรให้พรรคใดได้รับชัยชนะในพื้นที่

หากกล่าวอย่างคร่าว ๆ “บ้านใหญ่” หมายถึงครอบครัวนักการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่ตามท้องถิ่นต่าง ๆ มีทั้งลงการเมืองในพื้นที่ไปจนถึงลงการเมืองระดับประเทศ อยู่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ครอบครัวนักการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่มักมีเครือข่ายความสัมพันธ์กับคนในชุมชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ครองใจประชาชนได้อย่างยาวนาน

Advertisement

สาเหตุส่วนหนึ่งที่ตระกูลนักการเมืองเหล่านี้มีอิทธิพลเครือข่ายในระดับชุมชนหรือในจังหวัด มาจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐส่วนกลางในการดูแลทุกข์สุขของราษฎร กลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มอำนาจในท้องถิ่นจึงเข้ามามีบทบาทเป็นตัวแทนท้องถิ่นในการประสานประโยชน์ต่าง ๆ ระหว่างรัฐส่วนกลางกับพื้นที่ จนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลและมีฐานเสียงในมือจำนวนมาก เช่นที่ รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับประชาไท ว่า

จริง ๆ แล้วบ้านใหญ่ในสังคมปัจจุบันคือตระกูลการเมือง แต่จริง ๆ แล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปมันคือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เดิมที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน เพราะรัฐไม่มีศักยภาพในการดูแล อย่างสมัยก่อนเกิดของหาย โจรปล้น ไม่สบาย จะไปหาใคร เพราะรัฐส่วนกลางที่รวมศูนย์อำนาจมาก ๆ แล้วก็ส่งข้าหลวงมาดูแลก็เข้าไม่ถึงประชาชน มันก็จะมีผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ อาจจะเป็นกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในปัจจุบัน หรือเดิมก็อาจจะเป็นคนคหบดีหรือคนฐานะดี เดิมพวกนี้ทำอะไรกับประชาชนก็ได้เพราะส่วนกลางเข้ามาดูแลไม่ทั่วถึง

ถ้าตัดมาบริบทในปัจจุบัน การมีบ้านใหญ่ จะใช้คำว่าด้านหนึ่ง ถ้าเรามองผิวเผิน บ้านใหญ่เหมือนกันการตอกย้ำ การผลิตซ้ำความล้มเหลวของรัฐแล้วเข้ามาเหมือนเป็นผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล ซึ่งทำให้คนรังเกียจ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง เราจะเห็นว่าคุณจะเป็นบ้านใหญ่อยู่ได้ในทางการเมือง คุณต้องทำหน้าที่บางอย่าง”

ครอบครัวตระกูลนักการเมืองหรือบ้านใหญ่ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ ตระกูลศิลปอาชา แห่งจังหวัดสุพรรณบุรี ตระกูลอัศวเหม แห่งจังหวัดสมุทรปราการ ตระกูลเทียนทอง แห่งจังหวัดสระแก้ว ตระกูลคุณปลื้ม แห่งจังหวัดชลบุรี ตระกูลชิดชอบ แห่งจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

เหตุการณ์หนึ่งในหน้าการเมืองไทยที่แสดงถึงพลังของกลุ่มบ้านใหญ่ คือ กลุ่ม “เพื่อนเนวิน” ภายใต้การนำของ เนวิน ชิดชอบ ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มบ้านใหญ่บุรีรัมย์ และ ส.ส. พันธมิตร กลับขั้วมาช่วยผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จในวันที่ 17 ธันวาคม 2551 หรือล่าสุดคือ ตระกูลตันเจริญ และ ตระกูลฉายแสง ที่สนับสนุนกันและกันภายใต้พรรคเพื่อไทย เพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งปี 2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตาม แม้นักการเมืองบ้านใหญ่จะมีพลังต่อรองสูงจากการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น แต่หลายครั้งนักการเมืองตระกูลเดียวกันอยู่ต่างพรรคต่างขั้วกันก็มี เช่น การเลือกตั้งปี 2566 ตระกูลเทียนทอง ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มีทั้งลงสมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าพลังอำนาจต่อรองทางการเมืองของ “บ้านใหญ่” นั้นมีมากทีเดียว กลุ่มบ้านใหญ่จึงได้รับความสนใจจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการดึงมาเป็นพันธมิตร เพราะถือเป็นตัวแปรสำคัญในการดึงคะแนนเสียงจากประชาชน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 เมษายน 2566