ถนนดินสอ ตัดข้ามถนนราชดำเนินกลางตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีประวัติย่านในอดีต

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อกับถนนดินสอ ที่ตัดผ่านขึ้นไปทางตอนบนของภาพ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ถนนดินสอเป็นถนนเริ่มต้นจากถนนบำรุงเมืองตอนใกล้ลานเสาชิงช้า ตัดข้ามถนนราชดำเนินกลางตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาจนจดถนนพระสุเมรุ ชื่อถนนมาจากอาชีพของคนย่านนั้นในอดีต คือทำดินสอขาย

คนไทยรู้จักการใช้ดินสอเป็นเครื่องเขียนอักษรลงในวัสดุต่างๆ มาแต่โบราณ ดินสอจึงมีหลายชนิด คือ ดินสอศิลา หรือดินสอหิน ใช้เขียนบนกระดานหินชนวน ดินสอขาว ดินสอเหลือง ใช้เขียนบนกระดานดำ และสมุดไทยดำ ดินสอดำ หรือดินสอแก้ว ทำด้วยตะกั่ว นำมาตีเป็นแท่งกลมฝนปลายทั้ง 2 ข้าง ให้แหลมใช้เขียนบนสมุดไทยขาว ในสมัยอยุธยามีย่านขายดินสอชนิดต่างๆ ดังกล่าวโดยเฉพาะ เรียกย่านป่าดินสอ ปรากฏในเอกสารจากหอหลวง เรื่องคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ว่า “…ย่านป่าดินสอ ริมวัดพระงาม มีร้ายขายดินสอศิลาอ่อนแก่ แลดินสอขาวเหลือง ดินสอดำ ชื่อตลาดบ้านดินสอ…”

ครั้นถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ก็มีย่านที่ขายดินสอชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอยู่บริเวณใกล้และตรงข้ามเสาชิงช้า หน้าโบสถ์พราหมณ์ เรียกกันว่าบ้านดินสอ หรือย่านบ้านดินสอ ต่อมาเมื่อย่านนี้มีทางเดินเล็กๆ ก็เรียกตรอกสินสอ และเป็นตำบลตรอกดินสอในเวลาต่อมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พัฒนาบ้านเมืองด้วยการตัดถนนให้เป็นระเบียบ ครั้งนั้นโปรดให้ขยายตรอกดินสอให้กว้างขวางขึ้นและได้ขยายต่อมาจนถึงถนนพระสุเมรุ เรียกชื่อถนนตามเรื่องราวประวัติความเป็นมาของสถานที่นี้ในอดีตว่า ถนนดินสอ

ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อกับถนนดินสอ ที่ตัดผ่านขึ้นไปทางตอนบนของภาพ (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา : 

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ชื่อบ้านนามเมืองในกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ : มติชน, 2551. .47-48


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560