“นางเลิ้ง” ย่านของกิน-ตลาดยอดฮิต มีที่มาจากอะไร?

ตลาด นางเลิ้ง
บริเวณทางเข้าตลาดนางเลิ้ง

“นางเลิ้ง” เป็นหนึ่งในตลาดเก่าแก่อยู่คู่กรุงเทพฯ มานานนับร้อยปี ผศ. ดร. นนทพร อยู่มั่งมี ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) เล่าว่า ที่บริเวณนี้แต่เดิมไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่อง “ตลาด” หรือ “ย่านของกิน” แต่อย่างใด กลับเป็นย่านที่ขึ้นชื่อเรื่อง “บ่อนการพนัน” ที่อยู่มานาน และเป็นบ่อนแห่งท้ายๆ ของกรุงเทพฯ ที่ถูกยุบ ด้วยเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญ (ให้กับทั้งรัฐและเอกชน)

ชื่อ “นางเลิ้ง” ว่ากันว่าเดิมมาจากคำว่า “อีเลิ้ง” ซึ่ง เอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2563 ผู้เป็นนักสะสมของเก่าตัวยง ไปพบความหมายจากหนังสือ อักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 ว่า “อีเลิ้ง” หมายถึง “ม่อใหญ่สำหรับใส่น้ำนั้น” ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า อีเลิ้งหมายถึงตุ่มหรือโอ่งใหญ่ เรียกกันว่า ตุ่มอีเลิ้ง หรือตุ่มนางเลิ้ง หรือโอ่งนครสวรรค์

ที่ได้ชื่อนี้มา คงเพราะย่านนี้แต่เดิมเป็นแหล่งขึ้นตุ่มอีเลิ้งจากคลองผดุง ก่อนหน้ากิจกรรมอื่นๆ ที่ขึ้นชื่อในย่านนี้ไม่ว่าจะเป็น บ่อนการพนัน ตลาด สนามม้านางเลิ้ง (หรือ “ราชตฤณมัยสมาคมฯ” สนามม้าเก่าแก่ตั้งแต่รัชกาลที่ 6) จะตามมาภายหลัง แต่คำว่า “อี” คนเมืองอาจฟังแล้วไม่สบายหูนัก จึงเปลี่ยนไปใช้คำว่า “นาง” แทน

ส่วนการเปิดตัว ตลาดนางเลิ้ง เอนกเล่าว่า หนังสือพิมพ์ “บางกอกสมัย” ฉบับวันที่ 30 มีนาคม ร.ศ. 118 หน้าที่ 13 บอกว่า เปิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ร.ศ. 118 หรือ พ.ศ. 2442 (แต่สมัยนั้นขึ้นปีใหม่ตอนเดือนเมษายน ถ้านับเปลี่ยน พ.ศ. ตอนเดือนมกราคมอย่างปัจจุบัน จะตรงกับ พ.ศ. 2443)

ในหนังสือพิมพ์บางกอกสมัยยังมีข่าวเกี่ยวเนื่องกับตลาดนางเลิ้งในวันเปิดตัวที่น่าสนใจข่าวหนึ่ง ขึ้นพาดหัวว่า “เจ้าคณเหนจะไม่ห้าม” (เจ้าคณะเห็นจะไม่ห้าม) เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์องค์เจ้ามาร่วมวงพนันขันต่อกับชาวบ้านในงานนี้ด้วย

เนื้อข่าวดังกล่าว เอนกนำมาลงไว้ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 โดยไม่เปลี่ยนวิธีการเขียนใดๆ เลยมีความว่า

“เมื่อวันที่ 29 เดือนนี้ซึ่งเปนวันประชุมเปิดตลาดนางเลิ้งวันแรกนั้น บันดาผู้ที่พอใจพากันไปเที่ยว ณ ที่ตลาดนั้น มิใช่แต่มหาชนชาวบ้านเมื่อไร พระสงฆ์อารามต่างๆ ก็ได้พากันไปดูและเล่นการพนันเป็นหมู่ๆ ขณะพระสงฆ์แทงไม้หมุนเล่นการพนันนั้น พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเหน แลรับสั่งว่า ‘ว่าแกเตมทีนัก’ แล้วก็ได้เสดจพระราชดำเนินประพาศต่อไป”

ข่าวนี้ทำให้เราจินตนาการเห็นบรรยากาศที่คึกคักของบ้านเมืองสมัยนั้น ซึ่งการพนันยังไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ชาวบ้านรวมไปถึงพระก็ยังมาร่วมเสี่ยงดวงกันในย่านนางเลิ้ง ในวันที่มีงานอีเวนต์ใหญ่ระดับที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จมาร่วมงานด้วย

ขณะเดียวกันก็ทำให้เรารู้ว่าคำว่า “นางเลิ้ง” นี้ เรียกกันมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มิใช่เพิ่งมาเปลี่ยนจาก “อี” เป็น “นาง” เอาเมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม อย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 ตุลาคม 2560