ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
มีนบุรี แปลว่า “เมืองปลา” ตั้งขึ้นเป็นเมืองพร้อมๆ กันกับ “ธัญญะบุรี” ซึ่งหมายถึง “เมืองข้าว” มีนบุรี ตั้งขึ้นเมื่อสมัยปลายรัชกาลที่ 5 คือช่วง พ.ศ. 2445
ในปัจจุบัน มีนบุรีเป็นเขตการปกครองหนึ่งภายใต้กรุงเทพมหานครฯ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าแรกเริ่มเดิมทีตอนตั้งเมืองนั้น มีนบุรีเป็นจังหวัด มีความพิเศษคือเป็นจังหวัดที่มีปลาชุกชุม ผู้คนต่างถิ่นทั้งจากปราจีนบุรี หรือแปดริ้วต่างขับรถมาที่นี่เพื่อมาทอดแหดักตาข่ายเพื่อเอาปลาจากเมืองปลานี้ไปกินบ้าง ไปทำปลาร้าบ้าง ส่วนปลาที่จับได้ที่มีนบุรีนี้ คนเมืองที่นี่เล่าว่าส่วนมากเป็นปลาดุกและปลาช่อน โดยสาเหตุที่มีปลาทั้งสองชนิดนี้เยอะก็เพราะที่มีนบุรีเป็นทุ่งนาและมีคลองส่งน้ำเยอะ ไม่ว่าจะเป็นคลองส่งน้ำธรรมชาติ หรือคลองชลประทานที่ขุดขึ้นมา
ความเป็นมาของมีนบุรี
มีนบุรีเป็นชื่อที่ตั้งใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2445 แต่เดิมเป็นท้องนากว้างใหญ่ กินเนื้อที่ตั้งแต่ จ. ธัญญะบุรี (ในปัจจุบันคือ อ.ธัญญบุรี) จ. มีนบุรี (ในปัจจุบันคือ เขตมีนบุรี ในกรุงเทพมหานครฯ) ไปจนถึง จ.นครนายก ชาวเมืองละแวกใกล้เคียงรู้จักพื้นที่บริเวณนี้ว่า “ทุ่งแสนแสบ” และ “ทุ่งหลวง”
ในช่วงเริ่มต้นการสร้างเมืองบางกอก (ใหม่) มีนบุรีหรือในขณะนั้นคือ “ทุ่งหลวง” หรือ “ทุ่งแสนแสบ” สังกัดอยู่ชายขอบตะวันออกของเมืองหลวงใหม่ ต่อมาความเจริญของการสร้างเมือง คือการขุดคลอง การสร้างถนน ได้ค่อย ๆ คืบคลานเข้าไปหาพื้นที่ที่เป็นทุ่งไม่ว่าจะเป็นทุ่งพญาไท ทุ่งสามเสน ทุ่งมหาเมฆ ทุ่งบางกะปิ รวมไปถึงทุ่งในมีนบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ทำนาที่ใหญ่ที่สุดของเขตมณฑลกรุงเทพฯ
เมื่อพื้นที่ทุ่งกว้างในมีนบุรีถูกทดแทนด้วยคลองขุด และถนนหนทางเรียบร้อยแล้วจึงถูกยกฐานะจาก “มณฑลกรุงเทพฯ” ให้กลายเป็น “เมืองมีนบุรี” หรือ “จังหวัดมีนบุรี” แต่ต่อมาในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 จังหวัดมีนบุรีก็ถูกลดฐานะลงเป็น “อำเภอ” และกลายเป็นเพียง “ส่วนหนึ่ง” ของกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2475 จากนั้นในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2515 อำเภอมีนบุรีก็ต้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็น “เขต” ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 335
อ่านเพิ่มเติม :
- เบื้องหลัง “นางเลิ้ง” ที่มาจาก “อีเลิ้ง” อดีตย่านบ่อนยอดฮิต แม้แต่พระยังมาเสี่ยงดวง
- เปิดความหมายและความเป็นมา “เขตลาดกระบัง”
- จากเชลยสงคราม สู่เจ้าที่ดิน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
บทความ “มีนบุรี เมืองปลา” เขียนโดย ไพบูลย์ วงษ์เทศ ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2534
เว็บไซต์สำนักงานเขตมีนบุรี http://www.bangkok.go.th/minburi/index
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มีนาคม 2562