ผู้เขียน | กานต์ จันทน์ดี |
---|---|
เผยแพร่ |
สมัยนี้ใครพูดถึง “ประชาธิปไตย” ขึ้นมาสักหน่อยก็คงไม่พ้นโดนกระแนะกระแหนจากผู้รังเกียจการเลือกตั้งว่าเป็นพวก “ลิเบอร่าน” ด้วยยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างนี้ อาจทำให้คนที่มีสถานะที่ตั้งมั่นอยู่รู้สึกไม่ค่อยจะปลอดภัยเท่าไหร่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แน่ว่าใครจะก้าวขึ้นมามีอำนาจ เลยต้องเรียกหาสตรองแมนแนวอนุรักษนิยมมาเป็นเกราะกำบังสถานะของตัว
ขณะเดียวกันก็กดอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำเหยียดหยามที่ประกอบขึ้นจากคำอันเป็นหนึ่งในอุดมคติของฝ่ายตรงข้าม มาบวกกับลักษณะอันต่ำทรามในสายตาตัวเอง
“ลิเบอร่าน” จึงกลายมาเป็นคำที่แพร่หลายอย่างมากในอินเทอร์เน็ตหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นการรัฐประหารที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงจากชนชั้นกลางในเมือง ท่ามกลางการเสื่อมความนิยมลงของระบอบประชาธิปไตย (ไม่เพียงแต่ในไทย แม้แต่ในประเทศตะวันตกประชาชนที่เบื่อประชาธิปไตยก็กำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นเหมือนกัน) คนที่ไม่อยากถูก “แซะ” ด้วยคำนี้ ก็อาจจะต้องสงบปากสงบคำ เลี่ยงแสดงความเห็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยไปบ้าง
แต่หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ การกล่าวอ้างประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องปกติแพร่หลายมาก ด้วยคนไทยคงจะนิยม “ประชาธิปไตย” เป็นอย่างมาก อาจจะเรียกว่า หายใจเข้าเป็น “ประชาธิปไตย” หายใจออกเป็น “รัฐธรรมนูญ” ก็ว่าได้
เพราะแม้กระทั่งพ่อค้าแม่ขายเวลาโฆษณาสินค้าของตัวเอง (ซึ่งก็ต้องอิงแอบความป๊อปปูล่าของพรีเซนเตอร์ต่างๆ เป็นสำคัญ) ยังเลือกที่จะเอารัฐธรรมนูญ หรือประชาธิปไตยมาเป็นพรีเซนเตอร์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่มันไม่น่าจะมีความเชื่อมโยงใดๆ กับสินค้านั้นๆ เลย (คล้ายๆ กับการเอานักมวยเหรียญทองโอลิมปิกมาขายยาฆ่าหญ้าไม่มีผิด)
ตัวอย่างเช่น ร้านเสริมสวยร้านหนึ่งโฆษณาตัวเองว่า “ที่หนึ่งในการเผยแพร่รัฐธรรมนูญได้แก่ ร้าน 1.77” หรือยาบรรเทาโรคหืดยี่ห้อ “ยาบรรเทาทุกข์” ก็โฆษณาว่า “ผู้อยู่ในระบอบประชาธิปตัย ย่อมบูชารัฐธรรมนูญว่าสูงสุดยิ่งหัวใจเพียงใด ผู้เปนโรคหืดก็ควรรู้จักดี ซึ่ง ‘ยาบรรเทาทุกข์’ เพียงนั้น” (อุตส่าห์โยงเข้ามาได้)
กระทั่งธุรกิจเหล้าเบียร์ก็เอากับเขาด้วย เช่น สุรายี่ห้อ Davidsons ที่โฆษณาว่าเป็น “วิสกี้สมัยรัฐธรรมนูญ” และเบียร์อีกยี่ห้อที่มีสโลแกนว่า “เบียร์ประชาธิปไตย ตรานรสิงห์” พร้อมมีสัญลักษณ์รัฐธรรมนูญติดไว้ที่คอขวดแบบเก๋ๆ อีกต่างหาก
แต่ความนิยมเช่นนี้ฝ่ายรัฐบาลมิได้เห็นดีเห็นงามด้วยสักเท่าไหร่ เห็นได้จากรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ. 2478 เรื่อง “มีผู้นำรูปรัฐธรรมนูญไปใช้เป็นเครื่องหมายปิดขวดเบียร์” ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติออกมาว่า
“เห็นว่าเป็นการไม่สมควรที่จะนำรูปรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่เคารพสักการไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้า เพราะหากมีผู้อุตรินำไปทำเครื่องหมายสินค้าบางอย่างซึ่่งเป็นของต่ำอยู่แล้ว ย่อมทำให้รัฐธรรมนูญเศร้าหมองไปได้…”
เมื่อเจอต้านเข้าไปอย่างนี้ ประกอบกับการเข้าสู่ยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยก็ค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลงไป หลังยุคจอมพลแปลกแล้ว รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยก็ยังถูกอุดมคติอื่นๆ เบียดบังความสำคัญยิ่งขึ้นไปอีก จนรัฐธรรมนูญมีค่าไม่ต่างกับกระดาษชำระที่กลุ่มอำนาจใหม่ไม่ยอมใช้ปนกับกลุ่มอำนาจเก่า มีการฉีกทิ้งแล้วร่างใหม่อยู่ร่ำไป
ขณะเดียวกันอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ยังตกเป็นจำเลยของความเสื่อมทรามของบ้านเมือง จนชนชั้นกลางผู้มีการศึกษาดีต้องเรียกให้ทหารมาช่วยชำระบ้านเมืองให้สะอาดสดใสกันใหม่อีกรอบ (ได้ผลมั้ย?)
อ่านเพิ่มเติม :
- “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ” ในอีสาน “อนุสรณ์รำลึกประชาธิปไตย” แห่งแรกของไทย
- จาก “วัดประชาธิปไตย” ถึง “วัดพระศรีมหาธาตุ” วัดสัญลักษณ์ประชาธิปไตย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศราวุฒิ วิสาพรม. “การเมืองช่วงรุ่งอรุณแห่ง ‘ระบอบประชาธิปไตย’ กับชีวิตประจำวันประชาชน.” ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 39 ฉบับที่ 9 (ฉบับกรกฎาคม 2557).
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มกราคม 2564