ประวัติการผ่า “ไส้ติ่ง” เกือบร้อยปีที่ผ่ากันสด ๆ แบบไม่ใช้ยาสลบ!

การผ่าตัด ไส้ติ่ง การแพทย์
ภาพ "Die Operation" สันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดไส้ติ่ง, ผลงาน Gaspare Traversi ปี 1753-1754 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ถ้าเอ่ยถึง “สิ่งเล็ก ๆ” ที่ไม่ได้เรียกว่า “รัก” แต่มีรูปร่างเหมือนหนอน ห้อยเป็นติ่งอยู่ข้างลำไส้ใหญ่ คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจาก ไส้ติ่ง (Appendix) แต่รู้หรือไม่ว่า การผ่าตัด “ไส้ติ่ง” มีประวัติความเป็นมาชวนตะลึงอยู่ไม่น้อย

ไส้ติ่ง คือ (ชิ้นส่วน) อวัยวะที่เต็มไปด้วยปริศนาและความลึกลับตั้งแต่เป็นที่รู้จักครั้งแรกในประวัติศาสตร์ทางการแพทย์ ในช่วงทศวรรษที่ 1500 นักกายวิภาคศาสตร์สามารถอธิบายโครงสร้างภายในร่างกายได้ แต่ทำได้เพียงเดาหน้าที่ของมันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม แพทย์รุ่นเก๋าเหล่านั้นเริ่มพบว่าไส้ติ่งอาจอักเสบและก่อให้เกิดโรคร้ายแรง โดยเฉพาะหลังการค้นพบในปี 1705 ว่า “ไส้ติ่ง” สามารถเกิดภาวะ “Appendicitis” หรือ ไส้ติ่งอักเสบ จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

30 ปีต่อมา (ปี 1735) ที่โรงพยาบาลเซนต์จอร์จ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดร. คลอดิอุส เอมันด์ (Claudius Amyand) ได้กลายเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จใน “การผ่าตัด” ไส้ติ่งในผู้ป่วยที่ยังมีชีวิตและประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก! แต่ไม่ใช่การผ่าตัดจากภาวะไส้ติ่งอักเสบ เพราะผู้ป่วยเป็นเด็กชายอายุ 11 ปี ที่ “ไส้ติ่งทะลุ” หลังจากกลืนเข็มเข้าไป!

ส่วนการผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบแบบฉุกเฉิน ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1759 ที่เมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส

หมายเหตุไว้ก่อนว่าการดม “ยาสลบ” ยังไม่ถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดจนกระทั่งปี 1846 ดังนั้น การผ่าตัดเหล่านี้จำเป็นต้องมีผู้ช่วยหลายคนคอยเหนี่ยวยึดผู้ป่วยให้นิ่งที่สุดระหว่างการผ่าตัด คงไม่ต้องอธิบายว่า สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดแล้ว มันจะเป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดทรมานขนาดไหน…

การผ่าตัดรักษาไส้ติ่งอักเสบ เริ่มอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ 1880 เป็นต้นมา แม้ว่าแพทย์จะประสบปัญหาในการวินิจฉัย (อยู่บ้าง) ว่าเคสไหนควรจบด้วยมีดหมอ แต่ผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบบางรายกลับหายได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัด อย่างไรก็ตาม เมื่อการผ่าตัดด้วยดมยาสลบยังให้ผลลัพธ์ที่ดี การผ่าช่องท้องเพื่อรักษาโรคไส้ติ่งอักเสบจึงเป็นแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐานมาตั้งแต่นั้น คือเลือก “ผ่า” ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ดีกว่ามาลุ้นว่าจะเกิดภาวะ “ไส้ติ่งแตก” หรือไม่

ในตอนท้ายของศตวรรษที่ 20 การผ่าตัดไส้ติ่งด้วยกล้องสามมิติ หรือ “Laparoscopic appendectomy” เข้ามาแทนที่การผ่าตัดแบบเปิดแผลในเคสส่วนใหญ่ ปัจจุบัน การผ่าตัดผ่านกล้องถือเป็นหนึ่งในวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัยที่สุดและมีภาวะแทรกซ้อนน้อยที่สุดด้วย

แม้มีการค้นพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไส้ติ่งมากมาย แต่คำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของไส้ติ่งยังคงอยู่ และสาเหตุของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันยังไม่ได้รับการไขให้กระจ่าง เรายังไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าเหตุใดภาวะไส้ติ่งอักเสบจึงไปถึงจุดที่เกิดไส้ติ่งแตกในผู้ป่วยบางราย แต่หายได้เองเสียดื้อ ๆ ในผู้ป่วยบางราย

ในที่สุด ปี 2007 นักวิจัยได้เสนอเคสที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานของไส้ติ่ง อวัยวะเล็ก ๆ นี้ดูเหมือนจะมีบทบาททั้งในระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน โดยทำหน้าที่เป็นคลังเก็บแบคทีเรียที่มีประโยชน์ ซึ่งจะถูกเรียกใช้เมื่อระบบทางเดินอาหารสูญเสียแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์เป็นประโยชน์ภายในลำไส้

เมื่อไม่นานมานี้ นักวิจัยกำลังทบทวนคำถามที่ว่า “ยาปฏิชีวนะ” (Antibiotics) มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการผ่าตัด เพื่อรักษาไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันหรือไม่ ในทศวรรษที่ 1940 และ 1950 แพทย์ในอังกฤษเริ่มรักษาผู้ป่วยด้วยยาปฏิชีวนะบ้างแล้ว ซึ่งได้ผลดีเยี่ยม

ในช่วงสงครามเย็น ทหารที่ประจำการในเรือดำน้ำใช้ยาปฏิชีวนะแทนการผ่าตัดไส้ติ่ง เนื่องจากเรือดำน้ำไม่สามารถโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำได้เป็นเวลาหกเดือน (หรือมากกว่านั้น) มีรายงานว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นจริงจากการรักษาด้วยวิธีนี้

การศึกษาวิจัยในยุโรปห้าครั้งล่าสุด มีรายงานการค้นพบที่สอดคล้องกับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเหล่านั้น คือ 70% ของผู้ป่วยฟื้นตัวจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากกว่าการผ่าตัด จากหลักฐานนี้ การศึกษาใหม่ในแคลิฟอร์เนียกำลังพยายามตรวจสอบว่า ยาปฏิชีวนะจะให้ผลลัพธ์ดีเทียบเท่ากับการผ่าตัดจริงหรือไม่ และนำเสนอวิธีการรักษาไส้ติ่งอักเสบที่อันตรายหรือสร้างความเจ็บปวดน้อยกว่าการผ่าตัด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

Columbia University Department of Surgery. (Retrieved April 3, 2023) : “History of Medicine: The Mysterious Appendix”. (https://columbiasurgery.org/news/2015/06/04/history-medicine-mysterious-appendix)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มีนาคม 2566