ตะลึง! คราบก้นหม้อในภาชนะอายุหลายพันปี เผยส่วนผสมน้ำยาดอง “มัมมี่”

มัมมี่ ของ ชาวอียิปต์โบราณ
มัมมี่อียิปต์ ยุคราชวงศ์ปโตเลมี, ราว 332–30 B.C. (ภาพจาก Metropolitan Museum of Art)

นักประวัติศาสตร์ โบราณคดี และไอยคุปต์วิทยา พากันหลงใหลศาสตร์แห่งการทำ มัมมี่ ของชาวอียิปต์โบราณมานานร่วมศตวรรษแล้ว แม้มีความเห็นที่แตกต่างเรื่องจุดประสงค์หลักในการจัดการศพแบบดังกล่าวว่าเพื่อรักษาสภาพศพ หรือเพื่อสร้างเทวรูปกันแน่ ประเด็นนี้ยังต้องถกเถียงและค้นคว้ากันต่อไป อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาใหม่โดยทีมนักวิจัยชาวเยอรมันและอียิปต์ ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2023 เผยถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอย่างยิ่งเกี่ยวกับ น้ำยาดองศพ และวิธีการทำมัมมี่ของ ชาวอียิปต์โบราณ

ไขปริศนาน้ำยาดองศพ “มัมมี่”

การค้นพบนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นการ “ไขปริศนา” เกี่ยวกับองค์ประกอบของ น้ำยาดองศพ หรือน้ำยาอาบศพ ระหว่างกระบวนการทำมัมมี่ แม้เคยมีการพบเอกสารโบราณเกี่ยวกับวัตถุดิบผสมน้ำยาอาบศพมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ยังไม่ละเอียดพอจะชี้ชัดได้ว่า ส่วนประกอบเหล่านั้นคืออะไรกันแน่ หรือปัจจุบันเรารู้จักสารเหล่านั้นในชื่อใด? ดังที่ ซาลิมา อิคราม (Salima Ikram) นักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านมัมมี่ แห่งมหาวิทยาลัยอเมริกันในกรุงไคโร (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยข้างต้น) เคยเปิดเผยว่า “คุณอาจได้ชื่อ (สาร) อะไรบางอย่าง แต่คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร ยกเว้นอักษรเฮียโรกลิฟิกที่ระบุว่ามันคือ ‘น้ำมัน’ หรือไม่ก็ ‘ยางไม้’”

ในที่สุด คำตอบของปริศนานี้ ค่อย ๆ ถูกปะติดปะต่อให้ชัดเจนขึ้น ความลึกลับของ น้ำยาดองศพ หรือน้ำยาทำมัมมี่ ถูกเปิดเผยจากคราบสารอินทรีย์ติด “ก้นหม้อ” ที่ค้นพบตั้งแต่ปี 2016 บริเวณเมืองซักคารา (Saqqara) ใกล้กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ คราบเหล่านี้ติดอยู่ในภาชนะเซรามิกอายุราว 2,900-3,000 ปี จากแหล่งขุดค้นบริเวณ “สุสานหลวง” ของราชวงศ์ที่ 26 หรือ ราชวงศ์เซไอต์ (Saite dynasty) ที่ปกครองอียิปต์ช่วง 700-500 ปีก่อนคริสตกาล

ภาพถ่ายบริเวณพื้นที่ขุดค้นพบหลุมศพ 5 แห่ง เมื่อ 19 มีนาคม 2022 ในบริเวณพื้นที่ทางโบราณคดีในสุสานที่ซัคคารา ประเทศอียิปต์ ภาพจาก KHALED DESOUKI / AFP

หม้อบางใบยังมีคำแนะนำกำกับไว้ด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะกระบวนการทำมัมมี่นั้นทั้งใช้เวลานาน ยุ่งยาก ซับซ้อน และมีสารต่าง ๆ เป็นส่วนประกอบมากมาย แต่นี่คือการค้นพบหม้อน้ำยาดองศพที่มี “ฉลาก” ติดอยู่กับภาชนะเป็นครั้งแรก เป็นข้อความกำกับว่าต้องใช้น้ำยาในภาชนะอย่างเจาะจงกับอวัยวะส่วนใด เช่น ยางไม้พิสตาชิโอและน้ำมันละหุ่ง จะใช้กับส่วนที่เป็นศีรษะของศพเท่านั้น

ทีมวิจัยชาวเยอรมันจากสองมหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยลุดวิก-แม็กซิมิเลียน (LMU) และมหาวิทยาลัยทือบิงเง่น (University of Tübingen) รายงานผลวิเคราะห์สารอินทรีย์ก้นหม้อจากหม้อโบราณจำนวน 31 ใบ หลังการวิเคราะห์คราบดังกล่าวด้วยเทคนิคที่เรียกว่า “Gas chromatography–mass spectrometry” ในห้องปฏิบัติการของศูนย์วิจัยแห่งชาติเมืองกิซ่า ประเทศอียิปต์ พวกเขาพบว่า สารอินทรีย์เหล่านี้มีคุณสมบัติในการลดกลิ่นเหม็นเน่าและการย่อยสลายจากเชื้อรากับแบคทีเรีย  

สารอินทรีย์เหล่านี้ ประกอบด้วย น้ำมันพืช จากต้นไม้หลากหลายสายพันธุ์ เช่น สนจูนิเปอร์, สนไซเปรส, สนซีดาร์ รวมถึงยางไม้ (เรซิน) จากต้นพิสตาชิโอ เหล่านี้พบได้ในภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก รวมถึงน้ำมันดิน จากทะเลเดดซี และไขมันสัตว์กับขี้ผึ้ง ซึ่งหาได้ทั่วไปในดินแดนอียิปต์

พวกเขายังพบส่วนผสมที่ชวนประหลาดใจบางอย่าง เพราะวัตถุดิบของน้ำยาดองศพหลายชนิดมาจากดินแดนห่างไกลออกไปอีก ได้แก่ เรซินชนิดหนึ่ง เรียกว่า “Elemi” จากต้นไม้วงศ์สมอ ซึ่งเติบโตในป่าฝนเขตร้อนของเอเชียและแอฟริกา และ “Dammar” จากต้นไม้วงศ์เต็ง-รัง หรือต้นจิก ที่พบได้ในป่าเขตร้อนทางตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นตัวบ่งชี้ว่า อาณาจักรอียิปต์โบราณมีเครือข่ายการค้าที่สัมพันธ์กับดินแดนเหล่านี้ด้วย

นักโบราณคดีตรวจสอบมัมมี่ ที่ถูกพันอย่างดีในผ้าห่อศพ ตกแต่งด้วยภาพ-อักษรอียิปต์โบราณที่เต็มไปด้วยสีสัน ขณะแถลงข่าว เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2020 เปิดเผยถึงการค้นพบโลงศพนับ 100 โลง จาก Saqqara

จาก “น้ำยาดองศพ”สู่เครือข่ายเส้นทางการค้า

การค้นพบนี้จึงไม่เพียงไขปริศนาสารประกอบน้ำยาดองศพสำหรับทำ มัมมี่ เท่านั้น แต่เป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่เปิดเผยเครือข่ายการติดต่อทางการค้าของชาวอียิปต์กับแหล่งอารยธรรมอื่น ๆ ของโลก และพวกเขารู้จักคุณสมบัติของสารที่ได้จากวัตถุดิบเหล่านี้จริง ๆ ไม่ใช่การนำมาใช้โดยบังเอิญ

คาร์ล เฮรอน (Carl Heron) นักโบราณคดีจากบริติช มิวเซียม ในกรุงลอนดอน (ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยข้างต้น) เคยกล่าวว่า “อียิปต์เป็นดินแดนที่ขาดแคลนทรัพยากรจำพวกยางไม้จำนวนมาก สินค้าจึงถูกกว้านซื้อจากดินแดนอันห่างไกล”

ศาสตราจารย์ ฟิลิปป์ สต็อกแฮมเมอร์ (Philipp Stockhammer) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยลุดวิก-แม็กซิมิเลียน ประเทศเยอรมนี ผู้มีส่วนในการวิจัยครั้งนี้ กล่าวว่า

“น่าประหลาดใจจริง ๆ ที่สารส่วนใหญ่ซึ่งใช้ในการดองศพไม่ได้อยู่ในดินแดนอียิปต์ด้วยซ้ำ บางส่วนถูกนำเข้ามาจากภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน หรือแม้แต่จากแอฟริกาเขตร้อนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“…ชาวอียิปต์โบราณมีความรู้ด้านเคมีเป็นอย่างดี องค์ความรู้นี้สั่งสมมาอย่างต่อเนื่องนับพันปี จนกลายเป็นองค์ความรู้ว่าสิ่งใดช่วยรักษาคงสภาพศพได้ ทั้งที่พวกเขา (อาจ) ไม่มีความรู้จุลินทรีย์เลย”

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าน้ำยาดองศพจากส่วนผสมดังกล่าวเป็นสูตรสามัญที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทุกพื้นที่ในโลกอียิปต์โบราณหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีการค้นพบแหล่งทำมัมมี่ภายในสุสานเมืองซักคาราเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หากมีการค้นพบสารอินทรีย์เหล่านี้พื้นที่หรือแหล่งขุดค้นอื่นอีกในอนาคต ก็จะช่วยยืนยันถึงองค์ความรู้ของ ชาวอียิปต์โบราณ ให้หนักแน่นขึ้นอีก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

BBC NEWS ไทย. (2 กุมภาพันธ์ 2023) : “สารปริศนาก้นหม้อโบราณ 2,700 ปี เผยความลับวิธีทำมัมมี่อียิปต์”. <https://www.bbc.com/thai/articles/c51kwlee4v0o>

BBC Newsround (Feb 5, 2023) : Ancient Egypt: Ingredients used to embalm mummies identified. <https://www.bbc.co.uk/newsround/64499278>

Ewen Callaway, Nature (Feb 1, 2023) : The surprising chemicals used to embalm Egyptian mummies. <https://www.nature.com/articles/d41586-022-04400-1>

Nathan Falde, Ancient Origins (Feb 3, 2023) : Analysis Reveals Secret Recipe of Ancient Egyptian Embalming Fluids. <https://www.ancient-origins.net/news-history-archaeology/embalming-fluids-0017883>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2566