“พระเจ้าชาห์ จาฮาน” จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุล ผู้สร้าง “ทัชมาฮาล” เพื่อหญิงสาวที่รัก

พระเจ้าชาห์ จาฮาน (ซ้าย) และ (ขวา) พระมเหสีมุมตัซ มาฮาล สองบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ ทัช มาฮาล (ภาพจาก : wikipedia.org )

ทัชมาฮาล อนุสรณ์สถานแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่และสถาปัตยกรรมยุคใหม่ที่ประดับไปด้วยเครื่องเพชรพลอยมากมาย สร้างขึ้นโดย พระเจ้าชาห์ จาฮาน จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลของอินเดีย เพื่อใช้เป็นอนุสาวรีย์ฝังพระศพ พระมเหสีมุมตัซ มาฮาล  (Mumtaz Mahal) หญิงสาวผู้เป็นที่รักยิ่งของพระองค์ ทัชมาฮาล ถือเป็นเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2526

พระเจ้าชาห์ จาฮาน (Shah Jahan) หรือ ชาฮาบุดดีน มุฮัมมัด คุรรัม ชาห์ชะฮันที่ 1 สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 5 ในราชวงศ์โมกุล เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันคีร์ กับพระนางโชธพาอี (เจ้าหญิงมนมาตีแห่งโชธปุระ) ประสูติ 5 มกราคม ค.ศ. 1592 (พ.ศ. 2135) ณ เมืองลาฮอร์ ปากีสถาน และ สิ้นพระชนม์ 22 มกราคม ค.ศ. 1666 (พ.ศ. 2209) ณ เมืองอัครา อินเดีย

Advertisement

เหตุการณ์สำคัญของพระเจ้าชาห์ จาฮาน

พ.ศ. 2170 พระเจ้าชาห์ จาฮาน ทรงครองบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา โดยสังหารพี่น้องจำนวนมากเพื่อแย่งชิงบัลลังก์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เข้มงวดในเรื่องพระศาสนามาก ถึงขึ้นบังคับชาวโปรตุเกสจำนวนมากให้มานับถือศาสนาอิสลาม แม้ว่าพระองค์จะมีมารดาเป็นชาวฮินดูก็ตาม และยังโดดเด่นการต่อต้านรัฐเดคข่าน (Deccan) ทางตอนใต้ของอินเดียได้สำเร็จ

.ศ. 2179 เมืองอาเหม็ดนาการ์, เขตพิจาปูร์ (Bijapur) หรือชื่อทางการคือ Vijayapura และป้อมโกลคอนดา (Golconda) ถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้น ทำให้อำนาจของราชวงศ์โมกุลขยายออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ

.ศ. 2181 การต่อสู้เพื่อยึดเมืองป้อมปราการสำคัญอย่างกันดาฮาร์ในอัฟกานิสถาน ทำให้ผู้ว่าการกันดาฮาร์ยอมจำนน ยอมให้ยึดป้อมปราการในท้ายที่สุด เพราะกำลังพลของราชวงศ์โมกุลมีจำนวนเยอะ

พ.ศ. 2189 กองกำลังโมกุลยึดครองบาดัคชาน (Badakhshan) และ แบลค์ (Balkh) ของอัฟกานิสถาน

พ.ศ. 2191 พระเจ้าชาห์ จาฮาน ได้ย้ายเมืองหลวงของพระองค์จากอัคราไปยังเดลี โดยสร้างเมืองชื่อว่า อัลลอฮาบาด ขึ้นใหม่แทนที่เมืองเดลี

เหตุใดถึงสร้าง “ทัชมาฮาล” ขึ้นมา?

พระเจ้าชาห์จาฮานทรงมีความหลงใหลในการสร้างอย่างไม่รู้จักพอ เมืองหลวงแห่งแรกของพระองค์ที่สร้างขึ้นมาคือ เมืองอัครา พระองค์ได้ดำเนินการสร้างมัสยิดใหญ่สองแห่ง ได้แก่ มัสยิด Motī (มัสยิดไข่มุก) และมัสยิด Jāmi (มัสยิดใหญ่) รวมถึงสุสานที่ยอดเยี่ยมที่รู้จักกันในนาม “ทัชมาฮาล”

ทัชมาฮาล เป็นผลงานชิ้นเอกในรัชสมัยของพระองค์ และสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระราชินีที่ทรงโปรด มุมตาช มหัล ที่เมืองเดลี พระเจ้าชาห์จาฮานทรงสร้างป้อมปราการ-พระราชวังขนาดใหญ่ที่เรียกว่า ป้อมแดง รวมทั้งมัสยิดจามีอายอีกแห่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในมัสยิดที่ดีที่สุดในอินเดีย

รัชสมัยของชาห์จาฮานยังเป็นยุคที่วรรณกรรม ศิลปะการวาดภาพ และการประดิษฐ์ตัวอักษร มีความโดดเด่นที่สุด ราชสำนักของพระองค์เป็นที่พูดถึงอย่างมาก และคอลเลกชั่นเครื่องเพชรของพระองค์ก็น่าจะงดงามที่สุดในโลก

ทัชมาฮาลใช้เวลาสร้างทั้งหมด 22 ปี และใช้แรงงานมากกว่า 20,000 กว่าคน ภายในทัชมาฮาลประดับไปด้วยเพชรพลอยที่สวยงามจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งในอินเดียและจากประเทศรอบข้าง ทำให้ทัชมาฮาลเป็นอนุสรณ์แห่งความรักมีความงดงามอย่างยิ่ง จนได้รับรองขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกใน พ.ศ. 2526

ทัชมาฮาล
ทัชมาฮาล ถ่ายเมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ. 2018 (Photo by Ludovic MARIN / AFP)

แต่ท้ายที่สุด ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2200 พระเจ้าชาห์ จาฮาน ก็ถูก ออรังเซบ บุตรชายของพระองค์ ทำการรัฐประหาร เนื่องจากพระเจ้าชาห์จาฮาน ใช้งบประมาณในการสร้างทัชมาฮาลมหาศาล ทำให้เศรษฐกิจเกิดความเสียหายอย่างหนัก ออรังเซบ ประกาศตนเป็นจักรพรรดิใน พ.ศ. 2201 และกักขังพระเจ้าชาห์จาฮานอย่างเข้มงวดใน ป้อมอัครา จนกระทั่งสวรรคต

พระเจ้าชาห์ จาฮาน เป็นกษัตริย์ในอุดมคติของชาวมุสลิม ถึงแม้ความยิ่งใหญ่ของราชสำนักโมกุลซึ่งอยู่ภายใต้พระองค์จะรุ่งเรืองที่สุดในเวลานั้น แต่พระองค์ก็ยังทรงสร้างอิทธิพลที่นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Adam Zeidan, (2023), Shah Jahān Mughal emperor. Retrieved 2 February 2023,  from https://www.britannica.com/biography/Shah-Jahan.

Maren Goldberg, (2017), Shah Jahān period architecture. Retrieved 2 February 2023,  from https://www.britannica.com/art/Shah-Jahan-period-architecture.

unesco, (2013), Taj Mahal. Retrieved 3 February 2023,  from https://whc.unesco.org/en/soc/1981


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2566