“กูไม่กลัวมึง จะบอกให้ตรง ๆ” ย้อนดูวาทะเดือด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชในช่วงทศวรรษ 2520 (ภาพจาก มติชนสุดสัปดาห์)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นนักการเมืองและปัญญาชนที่มีบทบาทและความสำคัญอย่างมากคนหนึ่งของไทย นอกจากเป็นนักการเมืองแล้ว ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยังเป็นนักเขียน กวี คอลัมนิสต์ ฯลฯ ซึ่งความที่เป็นปัญญาชนที่คนไทยยอมรับนับถือ ทำให้ข้อเขียนแสดงความเห็นต่าง ๆ ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ส่งอิทธิพลต่อสังคมไทยอย่างมาก โดยเฉพาะประโยคหนึ่งที่อดีตนายกฯ บอกว่า “กูไม่กลัวมึง จะบอกให้ตรง ๆ” ที่สั่นสะเทือนการเมืองไทยอยู่ไม่น้อย

ช่วงหลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2521 แม้ดูมีเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตยพอสมควร แต่ก็มีบทเฉพาะกาลที่ระบุให้ข้าราชการประจำ (ตำรวจ ทหาร ข้าราชการ) ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ นั่นหมายความว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีนายกฯ จากคนนอก (นายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) ได้ โดยมีบทเฉพาะกาลที่ระบุบังคับใช้ 4 ปี อันเป็นความพยายามสืบทอดอำนาจของกองทัพ

แม้ประชาชนจะคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 อย่างมาก แต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยมี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อ พลเอก เกรียงศักดิ์ลาออกจากตำแหน่ง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็ขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อ ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523

เมื่อเวลาล่วงมาถึง พ.ศ. 2526 อันเป็นปีที่บทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญกำลังจะหมดลง กองทัพได้พยายามกดดันให้ต่ออายุบทเฉพาะกาลออกไปอีก 4 ปี เพื่อให้ทหารดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไปได้ โดย พลตรี พิจิตร กุลละวณิชย์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 กล่าวว่า

“ถ้าไม่รับฟัง ทหารอาจจะต้องออกมาเอ็กเซอร์ไซด์กันบ้าง”

ส่งผลให้รัฐสภาต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2526 เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว และมีข้อสรุปให้สภาลงมติในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2526 เพื่อยืดอายุบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญออกไปอีก 4 ปี

ก่อนวันลงมติ 1 วัน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคกิจสังคม ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขยืดอายุบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ และต้องการให้ระบบการเมืองกลับสู่ภาวะปกติ จึงเขียนบทความลงในคอลัมน์ซอยสวนพลู ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มทหาร และกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของทหารครั้งนี้จะเป็นการทำลายประชาธิปไตยของไทย และทิ้งท้ายบทความด้วยประโยคว่า

“กูไม่กลัวมึง จะบอกให้ตรง ๆ”

บทความของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมาก และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ประชาชน นักศึกษา และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ออกมาประท้วงคัดค้าน และกดดันให้มติของของสภาไม่ผ่าน ประกอบกับการคัดค้านของพรรคการเมืองใหญ่ 3 พรรค ได้แก่ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ท้ายที่สุดประเด็นการยืดบทเฉพาะกาลออกไปอีก 4 ปี ก็เป็นอันตกไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์. คึกฤทธิ์ ปราโมช. สืบค้นเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เข้าถึงจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=%E0%B8%84%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C_%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%8A

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพฯ: พี.เพรส.

อาสา คำภา. (2564). กว่าจะครองอำนาจ การคลี่คลายขยายตัวของเครือข่ายในหลวงภายใต้ปฏิสัมพันธ์ชนชั้นนำไทยทศวรรษ 2490-2530. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน

“แผนผังประชาธิปไตยแผ่นใหม่” สยามรัฐ 15 มีนาคม 2526 หน้า 5


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2566