ปี 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศไม่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เด็ดขาด แต่สุดท้าย…?

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (ภาพจาก คึกฤทธิ์ 2528)

ปี 2518 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศไม่ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์เด็ดขาด แต่สุดท้าย…?

วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2518 ซึ่งเป็นเวลาสี่วันก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ประกาศไม่ร่วมกับ พรรคประชาธิปัตย์ เด็ดขาด ความว่า

“พรรคกิจสังคมไม่อาจจะร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างเด็ดขาด เพราะในการหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์นั้นได้กล่าวโจมตีพรรคกิจสังคมโดยไม่มีข้อเท็จจริงตลอดมา ซึ่งพรรคกิจสังคมไม่เคยกล่าวโจมตีให้ร้ายป้ายสีบุคคลและพรรคการเมืองใดเลย การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์จึงเป็นสาเหตุที่พรรคกิจสังคมจะร่วมมือด้วยไม่ได้ไม่ว่าในกรณีใดๆ”

Advertisement
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

แต่การเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคม 2518 ผลปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส. 72 คน, พรรคธรรมสังคม ได้ ส.ส. 45 คน, พรรคชาติไทย ได้ ส.ส. 28 คน, พรรคเกษตรสังคม ได้ ส.ส. 19 คน, พรรคสังคมชาตินิยม ได้ ส.ส. 16 คน, พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย ได้ ส.ส. 15 คน, พรรคพลังใหม่ ได้ ส.ส. 12 คน พรรคการเมืองขนาดเล็กอื่นๆ เช่น พรรคแนวร่วมสังคมนิยม ได้ ส.ส. 10 คน ที่เหลืออีก 13 พรรค ได้ ส.ส. ระหว่าง 1-8  คน แต่รวมแล้วได้ 33 เสียง

ส่วนพรรคกิจสังคมของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ได้ ส.ส. 18 คน

จึงไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงลำพัง ใครจะตั้งรัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส. คือ 135 คน จากทั้งหมด 269 คน

พรรคกิจสังคมเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ถูกทาบทามให้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ติดที่ “คำพูด” ข้างต้นของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์

สุดท้าย ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ก็มาทลายกำแพงที่สร้างขึ้นเอง โดยประกาศต่อสาธารณชนอีกครั้งว่า ตนจะสนับสนุนให้ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี, ยกมือสนับสนุนการแถลงนโยบายเพื่อขอรับความไว้วางใจของคณะรัฐบาล แต่จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล และสงวนสิทธิ์ในการอภิปรายในนโยบายของรัฐบาล 

ขอย้ำว่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นบรรยากาศการเมืองไทยปี 2518 ไม่ใช่การเมืองไทยสมัยปัจจุบัน

พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ผศ. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี. สำนักพิมพ์มติชน มีนาคม 2546.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566