“สุนัข” ว่าด้วยประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง

ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ด้านข้างมีสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน ภาพถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) (ภาพจาก University of Wisconsin-Milwaukee Libraries)

สุนัข หรือที่เราเรียกอีกชื่อว่า หมา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประเภทกินเนื้อ ในปัจจุบันสุนัขมีการพัฒนาสายพันธุ์มากกว่า 400 สายพันธุ์ โดยเชื่อว่าวิวัฒนาการของสุนัขเลี้ยงนั้นมีมาจากสุนัขสายพันธุ์หมาป่า 4 กลุ่มใหญ่ ตามพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก คือ หมาป่าอเมริกาเหนือ หมาป่าจีน หมาป่าอินเดีย และหมาป่ายุโรป [1]

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลักษณะสุนัขส่วนใหญ่จะมีขนสั้น หูใหญ่ยาว หางเรียว ขนาดตัวไม่ใหญ่ บางสายพันธุ์สืบทอดมาจากหมาป่าในประเทศจีน หากจะกล่าวถึงที่มาของวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัข นอกจากจะเข้าใจถึงต้นกำเนิดของวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงถึงวัฒนธรรมของมนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับสุนัขในแต่ละช่วงสมัยอีกด้วย

“สุนัข” ภาพสัญลักษณ์จากหลักฐานทางโบราณคดี

วัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขมีมาตั้งแต่ยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีประเภทกระดูกสุนัข และตามรูปงานศิลปะถ้ำภาพเขียนสีตามแหล่งขุดค้นทางโบราณคดีต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่พบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขในระยะแรก (ช่วง5,500-1,000 ปีมาแล้ว) โดยมากจะอยู่ในช่วงสมัยสังคมเกษตรกรรม ความเป็นอยู่ของชุมชนนั้นมีการดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก แลกเปลี่ยนสินค้า การเกิดขึ้นของอาชีพ โดยเฉพาะ ช่างทำภาชนะดินเผา รวมถึงการริเริ่มเลี้ยงสัตว์

เดิมทีสุนัขเป็นสัตว์ป่า ล่าเนื้อเป็นอาหาร ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาอาศัยอยู่ร่วมกับคนในยุคสังคมเกษตรกรรม อีกทั้งวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขยังต้องขึ้นอยู่กับพื้นที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ของวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม โดยมีการสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขในช่วงเวลาดังกล่าว 1. เลี้ยงไว้เพื่อออกล่าสัตว์ร่วมกับคน เพื่อเป็นใช้เป็นแรงงานและประโยชน์ในการดำรงชีพ เช่น ใช้เป็นสุนัขล่าเหยื่อหรือควบคุมสัตว์ชนิดอื่น ใช้สะกดรอยค้นหาสัตว์ 2. เลี้ยงเพื่อบริโภคเป็นอาหาร แต่ไม่ใช่อาหารหลักของมนุษย์ 3. ใช้เป็นเครื่องอุทิศให้กับผู้ตาย เพื่อแสดงสถานภาพของผู้ตายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ตายกับสุนัข ซึ่งถูกฝังร่วมกับหลุมฝังศพของมนุษย์ [2]

ภาพโครงกระดูกสุนัขจากแหล่งขุดค้นทางโบราณคดี (ซ้าย) ภาพโครงกระดูกสุนัขอายุราว 2,500-3,000 ปี พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี (กลาง) ภาพโครงกระดูกสุนัขอายุราว 2,000 ปี พบที่หลุมขุดค้นโบราณคดีเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ (ขวา) ภาพเขียนสี นายพรานกับสุนัข ที่เขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานทางโบราณคดีในยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่พยายามให้เห็นถึง ภาพลักษณ์ การรับรู้ของสุนัขที่มีการผูกโยงเข้าไปกับเรื่องราวทางคติความเชื่อทางศาสนาของสังคมไทยในอดีต โดยมีการค้นพบใบเสมาหินทรายสมัยวัฒนธรรมทวารวดี บนใบเสมามีการสลักภาพ “สุนัข” ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเนื้อเรื่องได้กล่าวถึง “มโหสถชาดก” บนใบเสมา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าได้เสวยชาติเป็น มโหสถบัณฑิตแห่งมิถิลานคร [3]

รวมทั้งบนจารึกภาพกุกกกุรชาดก ที่วัดศรีชุม ที่เมืองโบราณสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นภาพพระโพธิสัตว์ในร่างพระยาสุนัขกำลังเทศน์สั่งสอนพระเจ้าพรหมทัตและมเหสี ภาพจำหลักเล่าเรื่องชาดกเหล่านี้ประดับอยู่ที่เพดานภายในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สภาพทั่วไปของแผ่นศิลาชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและลายเส้นรูปอักษรลบเลือนเป็นส่วนใหญ่ ศิลาบางแผ่นสูญหายไป ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียง 40 แผ่นเท่านั้น

ความเปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมการเลี้ยงสัตว์เป็นวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงของ “สุนัข”

ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง จากการใช้ประโยชน์จากสุนัขในแง่ของการดำรงชีพที่มีมาตั้งแต่โลกยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในโลกตะวันตกบทบาทความสำคัญของวัฒนธรรมการเลี้ยงสุนัขเริ่มลดลง ในขณะที่มนุษย์พัฒนาจากสังคมเกษตรกรรมมาสู่การค้นพบวิทยาการสมัยใหม่ที่ก้าวหน้าของการเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมและการเกิดขึ้นของเมืองใหญ่ กล่าวคือ ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19

กระทั่งกลางศตวรรษที่ 20 สัตว์หรือสภาวะของป่าและธรรมชาติได้ถูกแยกออกจากสังคมมนุษย์ผ่านการแยกเมืองออกจากป่า สภาวะความเป็นเมือง ระบบทุนนิยมได้ทำให้มนุษย์เริ่มโหยหาธรรมชาติ กอปรด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติในโลกตะวันตก ส่งผลให้มนุษย์ในโลกตะวันตกพยายามนำสัตว์กลับเข้ามาในเมือง รวมถึงการเลี้ยงสุนัข ถือเป็นการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมเลี้ยงสุนัขในสังคมเมืองที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย สภาวะการณ์โลกตัวตะวันตกของมนุษย์หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมนำไปสู่การเกิดขึ้นของ วัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง ที่ขยายตัวกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชนอย่างรวดเร็ว [5]

สภาวะการณ์ของโลกตะวันตกนั้นได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ความรู้ การนิยามความหมายใหม่ของสุนัขในสังคมไทยจากวัฒนธรรมการเลี้ยงสัตว์ที่ใช้ประโยชน์ในการล่าสัตว์หรือเฝ้าบ้านสู่วัฒนธรรมสัตว์เลี้ยง โดยที่สุนัขได้ขับให้เน้นความสำคัญของสุนัขในฐานะเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ในช่วงสังคมไทยก้าวเข้าสู่ทศวรรษ 2490 [6] ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดค่านิยมใหม่ของการเลี้ยงสุนัขที่ได้รับอิทธิพลจากสภาวะการณ์ของการสร้างวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงจากโลกตะวันตก

ไม่ว่าจะเป็น 1. ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุสุนัขจากโลกตะวันตก โดยส่งผลให้เกิดการก่อตั้งสมาคมสัตว์เลี้ยงในสังคมไทยจากการเผยแพร่นิตยสาร “สัตว์เลี้ยง” ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 [7] 2. การประกวดสุนัข โดยในช่วงทศวรรษ 2490 องค์การสวนสัตว์ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงสุนัข ได้จัดประกวดสุนัขขึ้น ณ สวนสัตว์ดุสิต อีกทั้งได้มีการจัดประกวดสุนัขครั้งแรกในปี พ.ศ. 2502 ที่จังหวัดเชียงใหม่โดยใช้ชื่อว่า “การชุมนุมสุนัข”

ปรากฏการณ์ทางสังคมของการสร้างวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงในสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้เกิดสถาบันทางสังคมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของมุมมองที่มีต่อสุนัขในสังคมไทย นำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจ อาทิ คณะสัตวแพทย์ โรงพยาบาลและคลินิกสัตว์ ร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์ ร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงโรงแรมสำหรับสัตว์เลี้ยง

(ซ้าย) ภาพปกนิตยสาร สัตว์เลี้ยง ฉบับเดือนมกราคม ปี 2501 (ขวา) ภาพการประกวดสุนัข ณ สวนดุสิต ปี 2502 ที่มา : พนา กันธา, หน้า 39-43

ผลกระทบของ “สุนัข” กับการขยายตัวของธุรกิจสัตว์เลี้ยงในยุคโลกาภิวัตน์

จากปรากฏการณ์ทางสังคมของการสร้างวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงในสังคมไทยในช่วงเวลาดังกล่าว นำไปสู่การขยายตัวของธุรกิจเกี่ยวกับสุนัข ทำให้เกิดการแพร่กระจายไหลเวียนของเศรษฐกิจ วิธีการเลี้ยงสุนัขได้เปลี่ยนแปลงจากเลี้ยงเพื่อใช้งานเฝ้าบ้าน ได้ขยับสถานะมาเป็นเพื่อนกับมนุษย์ เช่น ร้านขายของเกี่ยวกับสุนัข (Pet Shop) การนำเข้าของอาหารสุนัขจากต่างประเทศ รวมถึงเสื้อผ้าสุนัข ทำให้มนุษย์มีทางเลือกในการเลี้ยงสุนัขในช่วงยุคโลกาภิวัตน์และเกิดค่านิยมใหม่ระหว่างผู้เลี้ยงกับสุนัข

ในแง่ของวิถีชีวิต วิถีการบริโภคของผู้เลี้ยง เพื่อเป็นตัวบ่งบอกสถานะทางสังคมของผู้เลี้ยง อาทิ เป็นเครื่องโอ้อวดของสังคม เป็นเครื่องแสดงสภานะภาพทางเศรษฐกิจของผู้เลี้ยง อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตัวตนให้กับผู้เลี้ยงโดยมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และการบริโภคของมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการแสดงฐานะและชนชั้นด้วยสายพันธุ์สุนัข เช่น สุนัขประเภทพิทบูลเทอร์เรียใส่ปลอกคอหนังมีหนามแหลมสีทอง มักจะเป็นเครื่องประดับของชายชาตรี สุนัขประเภทพุดเดิลทอยส์สีอ่อนเป็นหมาที่ฮิตในหมู่กะเทย รวมทั้งพูเดิลอัฟกัน ปอมเมอเรเนียน ซาลูกิ เป็นหมาที่นิยมในกลุ่มผู้หญิง [8]

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] จีระศักดิ์ ถิรธนบูรณ์. การวิวัฒนาการของสุนัข. [ออนไลน์] เข้าถึง จาก http://vet.kku.ac.th/physio/DOG%20PDF/1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82.pdf (สืบค้นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562)

[2] จารุวรรณ อินทร์เลี้ยง. “สุนัข”สัตว์จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. รายงานวิชาการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555 หน้า 101

[3] หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เรื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง ตอน ใบเสมาพระมโหสถ หน้า 17 เข้าถึง https://issuu.com/saithanbnsingha/docs/ar-book?fbclid=IwAR00vPAt0nH0Km12Xs4jrC00aEn65O6KHG66f48TskqPOMdab5o0Fk2lY8s และ ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณ,2555 อ้างใน จาก https://drive.google.com/file/d/1dEKuPw4QySyteAr0D-gWC_O6GbV6tVpD/view?usp=sharing หน้า 57

[4] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม แผ่นที่ 39 (กุกกุรชาดก) (ออนไลน์) จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2807 อ้างใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), หน้า 408. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/18499%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2

[5] พนา กันธา. “หมา” : ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2560-กรกฎาคม 2561) หน้า 167-168

[6] เรื่องเดียวกัน หน้า 175

[7] เรื่องเดียวกัน 

[8] รมณ ชมปรีดา. โลกคนเลี้ยงหมา “แบบไฮโซ” : รูปธรรมของการบริโภคยุคโลกาภิวัตน์.วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548 หน้า 88-99

อ้างอิง :

จีระศักดิ์ ถิรธนบูรณ์.การวิวัฒนาการของสุนัข. [ออนไลน์] เข้าถึง จาก http://vet.kku.ac.th/physio/DOG%20PDF/1%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%92%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82.pdf (สืบค้นวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562)

จารุวรรณ อินทร์เลี้ยง. “สุนัข”สัตว์จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. รายงานวิชาการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2555

พนา กันธา. “เรื่องหมาที่ไม่หมา”: กำเนิดและปฎิบัติการของความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมสัตว์เลี้ยงในสังคมไทยสมัยใหม่. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561

พนา กันธา. “หมา” : ประวัติศาสตร์ว่าด้วยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใช่การเลี้ยงสัตว์. วารสารประวัติศาสตร์ (สิงหาคม 2560-กรกฎาคม 2561) 

รมณ ชมปรีดา. โลกคนเลี้ยงหมา “แบบไฮโซ” : รูปธรรมของการบริโภคยุคโลกาภิวัตน์. วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548

วิภู กุตะนันท์. ต้นกำเนิดของสุนัขบ้าน หลักฐานทางโบราณคดีและพันธุศาสตร์. วารสาร Genomics and Genetics ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 ปี 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2566