ผู้เขียน | บรรณษรณ์ คุณะ |
---|---|
เผยแพร่ |
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ให้ข้อเสนอว่า หมา เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ยกย่องหมาเป็นบรรพชน เพราะพบโครงกระดูกหมาแบบเต็มโครงสมบูรณ์ ฝังอยู่รวมกับศพ หมาเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดคน แล้วได้รับยกย่องเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม เช่น เป็นผู้ให้กำเนิดคน, เป็นผู้นำพันธุ์ข้าวให้คนปลูกกิน, เป็นพาหนะนำขวัญคนตายไปสู่สถานศักดิ์สิทธิ์
ข้อเสนอของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สะท้อนให้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมาที่เป็นผลของร่องรอยของการกระทำของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นกับหมา ซึ่งผู้เขียนมีทัศนะที่เห็นต่างกับคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ และอยากจะเพิ่มคำอธิบายโดยตั้งคำถามขึ้นมา
สำหรับผู้เขียนมองทัศนะว่า หมา ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ หากย้อนอดีตไปถึง 5,500-3,000 กว่าปี ตามที่ได้ศึกษาจากโครงกระดูกสุนัขและภาพเขียนผนังถ้ำในแต่ละแหล่งนั้น กว่าหมาจะเป็นทั้งบรรพชนของมนุษย์ หมาจะมาเป็นทั้งผู้นำทางวัฒนธรรม สัญลักษณ์ของการสืบพันธุ์ และผู้เชื่อมโยงโลกมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามที่คุณสุจิตต์ได้ให้ข้อเสนอไว้ แต่ยังไม่มีการวิเคราะห์ถึงผลของการกระทำของมนุษย์ และขาดบริบทความเข้าใจของหมาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ว่าถูกวางตัวกับผู้คนในยุคก่อนประวัติศาสตร์อย่างไร ที่ส่งผลให้หมาอยู่ในบริบททางวัฒนธรรมตามข้อเสนอที่ตั้งไว้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
ในประเด็นนี้ผู้เขียนอยากจะอธิบาย ย้อนรอยเรื่องหมา แต่จะให้ข้อเสนอโดยอธิบายถึงที่มาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมาในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ โดยวัฒนธรรมการเกิดขึ้นของการเลี้ยงหมาในยุคก่อนประวัติศาสตร์นั้น ในมุมมองของ หมา ที่ เป็นสัตว์เลี้ยงได้อย่างไร และ เป็นการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างไร
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายคำว่า การเลี้ยง คือ คำกิริยา ที่หมายถึง ดูแล, เอาใจใส่, บำรุง ประคับประคองให้ทรงตัวอยู่ได้ การกินร่วมกันเพื่อความรื่นเริงหรือความสามัคคี เป็นต้น ส่วนคำว่า สัตว์ เป็นคำนาม แต่พอเติมคำว่า เลี้ยง เป็น “สัตว์เลี้ยง” ที่หมายถึง การแสดงความเป็นเจ้าของของสัตว์ที่ตนเองดูแล
ผู้เขียนเสนอถึง เรื่องราวของน้องหมา ผ่าน ซากกระดูก ภาพเขียนสี ผ่านคำอธิบายถึง หมา ใน ความหมายของคำว่า การเลี้ยงสัตว์และการเป็นสัตว์เลี้ยง อีกทั้งผู้เขียนยังมีทัศนะว่า หมา ยังปรากฏเป็นร่องรอยในชาดกทางพุทธศาสนาอีกด้วย
หมาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซากโครงกระดูกสุนัข และภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ
ผู้เขียนมีทัศนะว่าความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมามีความแตกต่างกัน ความใกล้ชิดกันระหว่างคนกับหมาก็เช่นเดียวกัน โดยหลักฐานจากซากโครงกระดูกสุนัขและภาพเขียนสีตามผนังถ้ำดังกล่าว สามารถบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ความใกล้ชิดระหว่างหมากับคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์มากขนาดไหน หมา ที่ถือว่าเป็นการเลี้ยงสัตว์ ผู้เขียนเห็นถึงความสัมพันธ์จากการวิเคราะห์หลักฐานจากภาพเขียนสีตามผนังถ้ำ เพราะการที่ หมา เป็น การเลี้ยงสัตว์ คือ การดูแลสัตว์โดยเห็นถึงผลประโยชน์ในการดำรงชีวิตกับธรรมชาติ
โดยในระยะแรกคนกับหมาจะเริ่มปรับตัวเข้าหากันก่อน แล้วเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์ในฐานะที่เป็น สุนัขป่า พอคนเริ่มเห็นประโยชน์ของสุนัขป่า ทำให้เกิดวัฒนธรรมของการล่าสัตว์ โดยจากหลักฐานภาพเขียนสี โดยเฉพาะ ภาพเขียนสี นายพรานกับสุนัข ที่เขาจันทร์งาม อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา และ ภาพเขียนสี เขาปลาร้า จังหวัดอุทัยธานี จากอากัปกิริยาจากภาพเขียนสี ที่ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่คนกับสุนัขมีความใกล้ชิดกันในการดำรงชีพ โดยเฉพาะการล่าสัตว์ การใช้ประโยชน์ในการนำทาง หมาจึงเปรียบเสมือนผู้ช่วยนายพราน ถือว่านายพรานนั้นเลี้ยงสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต และรูปที่เพิงผาเขาปลาร้า อำเภอลานสัก อุทัยธานี แสดงรูปหมาสองตัวใกล้ๆ กับผู้นำพิธีกรรมซึ่งสวมศิราภรณ์บานฟู นุ่งผ้าชักชายย้อยย้วย ประดับข้อมือด้วยกำไล และแสดงโครงร่างกลางลำตัวด้วยลายเส้นเรขาคณิตสีแดง แสดงให้เห็นอำนาจของคนปรากฏอยู่ในพิธีกรรม ทั้งในฐานะการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งาน ไว้เป็นเพื่อน และหมายรวมถึงการเป็นอาหารให้กับมนุษย์
หมา ในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยง ผู้เขียนให้ทัศนะ คำว่า สัตว์เลี้ยง คือ การแสดงความเป็นเจ้าของของสัตว์ที่ตนเองดูแล หลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวคือ หลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญจากหลุมขุดค้น คือ โครงกระดูกสุนัข โดยเฉพาะที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ถือเป็นการขุดค้นพบโครงกระดูกสุนัขที่สมบูรณ์ที่สุด ในยุคสังคมเกษตรกรรม วัฒนธรรมบ้านเชียง การเปลี่ยนแปลงจาก หมาป่า ที่เคยใช้ล่าสัตว์ดำรงชีวิตปรับตัวกับคนสู่การเป็น หมาบ้าน ความเป็นเจ้าของระหว่างหมากับคน การเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้ตายที่พบตามหลุมขุดค้น สามารถบ่งบอกถึงสถานะของผู้ตายในหลุมศพโครงกระดูกมนุษย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะพบโครงกระดูกสุนัขอยู่บริเวณใกล้กับเด็กและทารกในหลุมศพโครงกระดูกสุนัขตามแหล่งที่ขุดค้นทางโบราณคดี บางแห่งก็มีการสันนิษฐานว่าเป็นอาหารของคน บางแห่งก็เป็นการอุทิศแก่ผู้ตายก็มี
หมา กับอิทธิพลคติความเชื่อในชาดกทางพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรม
ผู้เขียนเห็นถึงหลักฐานทางโบราณคดีในยุคสมัยประวัติศาสตร์ที่พยายามให้เห็นถึงการรับรู้ของหมาที่มีการผูกโยงเข้าไปกับเรื่องราวทางเรื่องเล่าชาดกทางพุทธศาสนา โดยมีการค้นพบใบเสมาหินทรายสมัยวัฒนธรรมทวารวดี บนใบเสมามีการสลักภาพ “หมา” ที่วัดโพธิ์ชัยเสมาราม เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเนื้อเรื่องได้กล่าวถึง “มโหสถชาดก” บนใบเสมา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าได้เสวยชาติเป็น มโหสถบัณฑิตแห่งมิถิลา โดยด้านบนเป็นรูปพระมโหสถ และด้านล่างสุดเป็นแพะกับสุนัข เป็นเรื่องราวของหมากับแพะ ที่มีการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกันเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ผู้เขียนได้มีทัศนะว่า ใบเสมาหินทรายนี้เป็นภาพสลักของหมาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
รวมถึงบนจารึกภาพลายเส้นบนแผ่นศิลากุกกุรชาดก ที่วัดศรีชุม ที่เมืองโบราณสุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นภาพพระโพธิสัตว์ในร่างพระยาสุนัขกำลังเทศน์สั่งสอนพระเจ้าพรหมทัตและมเหสี โดยพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาสุนัข สุนัขในพระราชฐานลอบกัดกินหนังหุ้มราชรถ พระราชารับสั่งให้ฆ่าสุนัขให้หมด พระโพธิสัตว์พิสูจน์สุนัขผู้ร้ายถวายได้ สุนัขทั้งหลายจึงพ้นอันตราย ภาพจำหลักเล่าเรื่องชาดกเหล่านี้ประดับอยู่ที่เพดานภายในอุโมงค์วัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย สภาพทั่วไปของแผ่นศิลาชำรุดแตกหัก ลายเส้นภาพและลายเส้นรูปอักษรลบเลือนเป็นส่วนใหญ่ ศิลาบางแผ่นสูญหายไป ปัจจุบันคงเหลืออยู่เพียง 40 แผ่นเท่านั้น
อาจจะกล่าวได้ว่า บรรพชนคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรื่องราวของน้องหมา ได้ปรากฏให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับคน โดยรากเหง้าของ หมาป่า โดยเป็นของการเลี้ยงสัตว์ และ หมาบ้าน โดยเป็นสถานะเป็นสัตว์เลี้ยง หลักฐานทางโบราณคดีไม่ว่าจะเป็นภาพเขียนสีตามผนังถ้ำและการขุดค้นทางโบราณคดี โดยเฉพาะโครงกระดูกสุนัข ผู้เขียนมองว่า สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมาเปลี่ยนแปลงจาก หมาป่า มาเป็น หมาบ้าน คือ การพัฒนาของวัฒนธรรมในชุมชนที่พัฒนาความก้าวหน้าเทคโนโลยีของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เพิ่มมากขึ้น
รูปแบบการดำรงชีวิตของ หมา เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสภาพแวดล้อม ที่ส่งผลต่อหมาที่มีแนวคิดที่เปลี่ยนทำให้หมากับคนใกล้ชิดมากขึ้น อาทิ เป็นอาหารของคนลากสัมภาระ นำทางในการล่าสัตว์ให้นายพราน ใช้ในการประกอบพิธีกรรม และบ่งบอกสถานะความสัมพันธ์ของคน อีกทั้งการเข้ามาของพุทธศาสนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 เรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏภาพสลักหมา ชาดกทางพระพุทธศาสนาทั้ง กลุ่มของวัฒนธรรมทวารวดี ผ่านมโหสถชาดก และในสมัยสุโขทัย ผ่านกุกกุรชาดก
อ่านเพิ่มเติม :
อ้างอิง :
สุจิตต์ วงษ์เทศ.หมาเป็นบรรพชน ให้กำเนิดคน ในวัฒนธรรมบ้านเชียง 3,000 ปีมาแล้ว https://www.matichon.co.th/columnists/news_154206
สุจิตต์ วงษ์เทศ : หมาศักดิ์สิทธิ์ สัตว์เลี้ยงใกล้ชิดคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว พบซากคนกับหมาฝังร่วมกันในหลุม ที่เมืองศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ เข้าถึงได้จาก https://www.matichon.co.th/columnists/news_349128
กระทรวงวัฒนธรรม.ศูนย์ข้อมูลมรดกโลก เรื่อง โครงกระดูกสุนัขสมบูรณ์ที่พบจากหลุมขุดค้นทางโบราณคดีที่วัดโพธิ์ศรีใน
ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2547 เข้าได้จาก http://164.115.22.96/article5.aspx?fbclid=IwAR3ukp2_uqI1abbhHjBe_xs24ElVKzn3zkrX7mCJECxm5bkmYlTVeE4cRic
จารุวรรณ อินทร์เลี้ยง. “สุนัข”สัตว์จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย.รายงานวิชาการศึกษาเฉพาะบุคคล ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร,2555 เข้าถึง http://www.sure.su.ac.th/xmlui/bitstream/id/0381c7da-dd8c-4e03-93de-dbb6a53b2d8f/fulltext.pdf?attempt=2 หน้า 87
พัชรี สาริกบุตร. “เขาจันทร์งาม.” ภาพเขียนสีและภาพสลัก : ศิลปะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย. (ออนไลน์), 2543. เข้าถึงเมื่อ 20 ตุลาคม 2564. แหล่งที่มา http://www.era.su.ac.th/RockPainting/northeast/index.html ศิลปะถ้ำสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย,กรมศิลปากร หน้า 201-203 เข้าถึงได้จาก http://www.digitalcenter.finearts.go.th/book/show-product/4158 และศิลปะถ้ำเขาจันทน์งาม นครราชสีมา,กรมศิลปากร หน้า 44 เข้าถึงได้ http://www.digitalcenter.finearts.go.th/book/show-product/4163
อมรา ศรีสุชาติ เรียบเรียง.2533.ศิลปะถ้ำเขาปลาร้า อุทัยธานี.กรมศิลปากร เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/chiangmailibrary/view/19153-%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%9B%E0%B8%B0%E0%B8%96%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2-%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B5
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เรื่อง เมืองฟ้าแดดสงยาง ตอน ใบเสมาพระมโหสถ หน้า 17 เข้าถึง https://issuu.com/saithanbnsingha/docs/ar-book?fbclid=IwAR00vPAt0nH0Km12Xs4jrC00aEn65O6KHG66f48TskqPOMdab5o0Fk2lY8s และ ศูนย์ศึกษาศิลปกรรมโบราณ,2555 อ้างใน จาก https://drive.google.com/file/d/1dEKuPw4QySyteAr0D-gWC_O6GbV6tVpD/view?usp=sharing หน้า 57
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.จารึกภาพชาดกวัดศรีชุม แผ่นที่ 39 (กุกกุรชาดก) (ออนไลน์) จาก https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/2807 อ้างใน จารึกสมัยสุโขทัย (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2526), หน้า 408. เข้าถึงได้จาก https://www.finearts.go.th/songkhlalibraryk/view/18499%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2566