การรับน้อง การว้าก ฯลฯ ที่สมาชิกใหม่ยอมทน ยอมเสี่ยง

การรับน้องในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง (ภาพประกอบจาก มติชนออนลไน์)

พิธีรับน้องใหม่เก่าแก่พอๆ กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การรับน้องมีหลายระดับ ตั้งแต่การหยอกเย้า “เผา” แต่พองาม เรื่อยไปจนถึงการเล่นตลกโง่เง่า แต่เมื่อใดก็ตามที่ข้ามเส้นจากความเป็นมิตรไปยังพฤติกรรมหยามหมิ่นเจ็บตัว การรับน้องจะกลายเป็นการว้าก [Hazing]

แม้จะมีคำสั่งห้ามใน 40 รัฐ แต่การว้ากยังแพร่หลายในวงการกีฬา องค์กรนักศึกษา วงโยธวาทิต สมาคมสตรี โรงเรียนมัธยมปลาย และค่ายทหาร การว้าก 56% อยู่ในหมู่นักเรียนมัธยมปลาย และนักศึกษามหาวิทยาลัยกว่า 81% เคยสัมผัสการว้ากมาแล้ว

เชื่อรุ่นพี่

ในเดือนมีนาคม 2004 การรับน้องสมาคมเมสันกลายเป็นการฆาตกรรม เมื่อชายอายุ 76 ปี ฆ่าสมาชิกใหม่ กลุ่มสมาคมลับกำหนดว่าสมาชิกใหม่จะต้องฝากชีวิตไว้ในมือรุ่นพี่ สมาชิกใหม่อายุ 47 ปี จากลองไอส์แลนด์คุกเข่าหันหลังให้แท่นบูชา หันหน้ามาหาสมาชิกในสมาคม รุ่นพี่อาวุโสจะจอปืนยิงหัว ปืนกระบอกนั้นจะบรรจุกระสุนที่มีแต่ดินขับ เล็งยิงไปที่แผงกระป๋องที่วางอยู่เหนือสมาชิกใหม่ ในตอนที่ตำรวจจับกุมคุมตัวสมาชิกอาวุโส ในตัวเขามีปืนพกสองกระบอก เขาไม่เพียงยิงกระป๋องพลาด แต่ยังใช้ปืนจริงยิงหัวสมาชิกใหม่ สมองระเบิดกระจายหน้าแท่นบูชา

การข่มขู่ให้ได้อายเป็นปัจจัยหลักในการว้าก กดดันบังคับให้รุ่นน้องยอมสยบโดยสิ้นเชิงต่อรุ่นพี่ ในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ จะใช้สุราและยาเสพติดร่วมด้วย (ดู : binge and purge) การว้ากอาจมีการใช้กำลัง รุ่นน้องที่อยากสังกัดในกลุ่ม อาจจำยอมโดนหวดฟาดด้วยไม้แบนหรือโดนขังชั่วระยะเวลาหนึ่ง บ้างก็ต้องดื่มปัสสาวะหรือโดนทายา “ปวดแสบปวดร้อน” บนผิวอ่อนของหนังอัณฑะ หรือดื่มสุราในปริมาณที่มนุษย์ไม่ดื่มกัน ในพิธีรับน้องเมามายไม่ได้สติ การเล่นเซ็กซ์หมู่ (คนกับคนหรือคนกับสัตว์) ใช่ว่าไม่เคยเกิดขึ้น มีการข่มขืนและฆาตกรรมเกิดในพิธีรับน้องในแต่ละปี

ว้าก ข่มขู่ กดดัน อย่างเป็นทางการ

เมื่อครั้งที่เชกสเปียร์เขียนถึง “คนขลาดตายไปหลายครั้งก่อนเสียชีวิต” แทบจะเป็นการเขียนโคลงซอนเน็ตจากภาพที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร ค่ายทหารรับทหารใหม่ กดดัน คุกคามให้ทหารใหม่หลอมรวมเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกัน และเตรียมให้ทหารใหม่คุ้นกับสภาพเลวร้ายที่จะพบในสนามรบ การฝึกทหารไม่อาจอ่อนแอ ปวกเปียก แต่ก็ไม่ควรหนักเกินไป ความตายในค่ายทหารใหม่ในปี 1956 บนเกาะปาร์รีส ครูฝึกแผดเสียงว่า “ใครว่ายน้ำไม่เป็น สมควรตาย!” ทหารใหม่แบกเป้และไรเฟิล เดินลุยลงแม่น้ำ ทหารใหม่ที่ว่ายน้ำไม่เป็นจมน้ำตายไป 6 นาย แม้ว่าเรื่องนี้จะทำให้นาวิกโยธินกลับไปเขียนตำราฝึกเสียใหม่ แต่ทหารใหม่ก็ยังเสียชีวิตจากการหนาวตาย ความร้อน การออกกำลังกายเกินตัว และโรคประจำตัวที่ไม่เคยรู้มาก่อน กระทรวงกลาโหมรายงานว่าทหารใหม่เสียชีวิตเพียง 50 รายในช่วง 10 ปี แต่เชื่อกันว่าตัวเลขแท้จริงสูงกว่านั้นเป็นสิบเท่า

ความอยากเข้าสังกัด ใฝ่หาการยอมรับ ทำให้คนหนุ่มสาวไร้เดียงสายอมทนเรื่องเลวร้ายไร้เหตุผลเปี่ยมด้วยอันตราย แม้จะเกิดเรื่องร้ายแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่เคยมีใครใส่ใจบทเรียนเรื่องนี้

ในปี 1978 น้องใหม่ปีหนึ่ง มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น ถูกขังไว้ในที่เก็บของท้ายรถ จะออกมาได้ก็ต่อเมื่อดื่มเหล้าแจ๊กแดเนียลหมดสองขวด เขาเสียชีวิตด้วยพิษสุราในคืนเดียวกันนั้น

ในปี 1997 ที่มหาวิทยาลัยคลาร์กสัน น้องใหม่สองคนโดนบังคับให้ดื่มเหล้าเต็มถังน้ำ เช้าวันรุ่งขึ้น ทั้งสองเสียชีวิตจมอาเจียนตนเอง

ในปี 1999 ที่วิทยาลัยมอนเมาธ์ในนิวเจอร์ซีย์ น้องใหม่ห้าคนขุดหลุมศพลึกหกฟุตที่ชายหาด ทรายถล่มฝังทั้งเป็น น้องใหม่คนหนึ่งเสียชีวิต

ในปี 2001 วิทยาลัยแมนฮัตตัน รุ่นพี่พารุ่นน้องขับรถไปทางตะวันตกของนิวยอร์ก คืนอากาศหนาวจัดที่สุดของปี น้องใหม่อายุ 19 ปี ถูกทิ้งกลางถนนในชนบท ร่างเปลือยเปล่า เสียชีวิตเพราะหนาวตาย

ในปี 2001 มหาวิทยาลัยฟลอริดา เอแอนด์เอ็ม โดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย 1.8 ล้านเหรียญ เมื่อรุ่นพี่วงโยธวาทิต ใช้ไม้แบนตีน้องใหม่ที่เป่าทูบา อายุ 21 ปี ไตวายเสียชีวิต

ดวงตาของใครในธนบัตร?

การว้ากฝังรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมอเมริกัน จนนำไปตราไว้ในธนบัตรทุกราคาของสหรัฐ ดวงตาในสามเหลี่ยมลอยอยู่กลางฟ้า เป็นสัญลักษณ์ของสมาคมลับ “ภาคีอิลลูมินาติ” เลื่องชื่อเรื่องการว้ากทารุณโหดร้ายในการรับสมาชิก ก่อตั้งมานานเป็นพันปี และยังดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่สมาคมเชิงสังคม และไม่เคยเป็นสมาคมสังคม สมาชิกจะอยู่ในแวดวงรัฐบาลระดับสูง ในกิจการค้าน้ำมัน และธนาคารนานาชาติ

ประธานาธิบดีหลายคน รวมทั้งโรสเวลต์ เคนเนดี้ จอร์จ บุชทั้งพ่อและลูก ต้องคำกล่าวหาว่าผ่านพิธีว้ากของภาคีอิลลูมินาติมาแล้ว จอร์จ บุชผู้พ่อ สังกัดชมรมกะโหลกกระดูกไขว้ของเยล ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของการเคลื่อนไปสู่ภาคีอิลลูมินาติ สมาชิกของชมรม “กระดูก” มีผู้มีชื่อเสียงในแวดวงการเมืองหลายคน

การว้ากของภาคีฯ จะให้สมาชิกใหม่สวมเครื่องแบบของดอนคิโฮเต เพื่อจะเรียนรู้วิธีสัมผัสมือส่งสัญญาณลับ และวิ่งเปลือยเปล่าผ่านป่าทึบ รายงานเรื่องการเสียชีวิตของพิธีกรรมดังกล่าวไม่เคยมีอยู่ และผู้สังกัดชมรมกระดูกทุกคนให้สัตย์สาบานว่าจะ “เก็บรักษาความคลุมเครือและความเงียบสงัด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ของความตาย” ไมเคิล ลาร์โก-เขียน, นพดล เวชสวัสดิ์-แปล (สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก กรกฎาคม 2552) จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2566