วิทยาศาสตร์ปฏิเสธ “พระผู้สร้าง” จริงหรือ? ศาสนาอยู่ร่วมกับ “วิวัฒนาการ” อย่างไร

อดัม พระเจ้า ทฤษฎีวิวัฒนาการ วิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์ ปฏิเสธ-ไม่เชื่อ ใน “พระเจ้า” หรือพระผู้สร้างจริงหรือ? เช่นนั้นศาสนาอยู่ร่วมกับทฤษฎี “วิวัฒนาการ” อย่างไร

ชาวพุทธคงคุ้นเคยกับเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด ที่ดำเนินเป็นวัฏจักรหรือวัฏสงสารดีอยู่แล้ว หลักการดังกล่าวยังใช้อธิบายกำเนิดจักรวาลและสรรพชีวิตในโลก โดยเชื่อว่าโลกและจักรวาลล้วนแตกดับและเกิดใหม่วนเวียนไปเรื่อย ๆ การอุบัติของสิ่งต่าง ๆ มาจากเหล่าพรหมและพลังของธรรมชาติ-จักรวาลเอง ซึ่งคล้ายกับคติฮินดู ในขณะที่ศาสนาเอกเทวนิยมที่เชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียว อย่างศาสนาคริสต์ อิสลาม รวมถึงจูดาห์ อธิบายจักรวาลวิทยาและการกำเนิดชีวิตต่างออกไป

Advertisement

กลุ่มศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าหนึ่งเดียวเชื่อว่า พระเจ้า คือ “พระผู้สร้าง” ตาม คติเนรมิตนิยม (Creationism) ซึ่งอธิบายว่า พระผู้เป็นเจ้ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นผู้สร้างเอกภพและทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพรวมถึงมนุษย์ ด้วยอำนาจแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์เอง แต่หลักการดังกล่าวถูกท้าทาย เมื่อชาวตะวันตกใช้วิทยาศาสตร์ไขความกระจ่างเกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิตและจักรวาลวิทยา

โดยเฉพาะหลังผลการศึกษาของชาร์ลส ดาร์วิน ถูกตีพิมพ์ออกไป นั่นคือทฤษฎี “วิวัฒนาการ” หรือการคัดสรรโดยธรรมชาติ ไม่ได้ถูกออกแบบหรือกำหนดจากอำนาจเหนือธรรมชาติ ความรู้สมัยใหม่นี้สั่นสะเทือนความเชื่อของทุกศาสนา โดยเฉพาะศาสนาที่เชื่อในคติเนรมิตนิยม เป็นผลให้ศาสนากับโลกเป็นจริง (ที่ถูกวิทยาศาสตร์พิสูจน์) ถอยห่างออกจากกันเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม เราทราบกันดีว่า แม้ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่ได้อธิบายหรือไขคำตอบของทุกสิ่ง การศึกษาค้นคว้ายังคงดำเนินต่อไป และศาสนาสำคัญ ๆ ของโลกก็ยังไม่ได้สูญสลายหายไปไหน แต่ในฐานะที่มนุษย์ทุกคนเป็นพลโลก แม้ยึดมั่นในชุดความรู้ที่ต่างกันสุดขั้วก็ยังต้องปฏิสัมพันธ์กันอยู่ นำมาสู่ประเด็นคำถามว่า แล้วศาสนากับวิทยาศาสตร์ควรอยู่ร่วมกันอย่างไร?

ฟรานซิสโก เจ. อยาลา (Francisco J. Ayala) ได้นำเสนอไว้ในหัวข้อเรื่อง “คติเนรมิตนิยมเป็นจริงหรือไม่? วิทยาศาสตร์และศาสนาไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน” ของหนังสือ 20 คำถามสำคัญของวิวัฒนาการ (มติชน, 2558) ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


 

“วิทยาศาสตร์” กับ “ศาสนา” อยู่ตรงข้ามกันจริงหรือ?

ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความเชื่อทางศาสนาไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกัน หากประเมินอย่างถูกต้องแล้วไม่อาจอยู่ตรงข้ามกันด้วยซ้ำไป เนื่องจากทั้งคู่ต่างมีขอบเขตองค์ความรู้ที่ไม่ทับซ้อนกัน เฉพาะต่อเมื่อมีการกล่าวอ้างเกินกว่าขอบเขตอันสมควรของตนเท่านั้นที่ วิทยาศาสตร์ และ ความเชื่อทางศาสนา จะกลายไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกันอย่างแท้จริง

กล่าวให้จำเพาะลงไปอีก ทฤษฎีวิวัฒนาการเข้ากันไม่ได้กับความเชื่อทางศาสนาจริงหรือ? จริงหรือที่ว่าวิทยาศาสตร์มีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุ จึงไม่มีคุณค่าใดในทางจิตวิญญาณเลย?

คำตอบของคำถามทั้งคู่นี้คือ “ไม่จริง”

ขอบเขตของวิทยาศาสตร์ก็คือโลกของธรรมชาติ ความจริงที่สัมผัสได้ผ่านประสาทสัมผัสของเรา ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม วิทยาศาสตร์นำมาซึ่งคำอธิบายที่สูงยิ่งขึ้นในโลกตามธรรมชาติ คำอธิบายซึ่งมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนหรือปฏิเสธ โดยอาศัยการสังเกตและทดลอง นอกเหนือไปจากโลกใบแบบนี้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่ต้องไปเกี่ยวข้อง ไม่มีถ้อยแถลงอะไร ไม่มีอะไรต้องไปแสดงจุดยืนอันใดเลย

วิทยาศาสตร์ไม่มีส่วนที่จะไปตัดสินเรื่องคุณค่า ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความงาม หรือศีลธรรม ไม่มีอะไรจะไปเอ่ยเกี่ยวกับความหมายหรือจุดมุ่งหมายของชีวิต ยิ่งไม่มีอะไรต้องไปกล่าวถึงความเชื่อทางศาสนา (ยกเว้นแต่ในกรณีที่มีความเชื่อนั้นจะข้ามล่วงไปผ่านขอบเขตที่เหมาะสมทางศาสนา และยืนยันว่าตรงกันข้ามกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คำกล่าวเช่นที่ว่ามานั้นจึงไม่มีทางเป็นจริงไปได้)

นักวิทยาศาสตร์บางคน (ซึ่งรวมทั้งนักวิวัฒนาการด้วย) ยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ปฏิเสธความรู้ใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณค่า หรือเกี่ยวข้องกับความหมาย และเป้าหมายของการดำรงอยู่ของโลก แม้จะสมเหตุสมผลก็ตาม นักชีววิทยาวิวัฒนาการที่มีชื่อเสียง ริชาร์ด ดอว์กินส์ (Richard Dawkins) ปฏิเสธอย่างชัดแจ้งในเรื่องการออกแบบ เป้าหมาย และคุณค่า

“เอกภพที่เราสังเกตสังกามีคุณสมบัติที่เที่ยงตรง จนเราคาดหวังได้ว่าในส่วนที่ลึกที่สุดนั้นไม่มีทั้งเรื่องราวการออกแบบ เรื่องเป้าหมาย ไม่มีความชั่วร้ายและความดีงาม ไม่มีสิ่งใดเลย นอกจากความเฉยเมย ไร้กรุณา และมืดบอด”

นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ วิลเลียม โพรวีน (William Provine) ยืนยันว่า “วิทยาศาสตร์ยุคใหม่ชี้ให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่มีกฎทางจริยธรรมหรือศีลธรรมที่ถ่ายทอดกันได้ทางกรรมพันธุ์ ไม่มีหลักการที่เป็นคู่มือสมบูรณ์แบบสำหรับมนุษย์”

มีข้อโต้แย้งหนักหนาสาหัสมากที่เกิดจากคำโต้แย้งแบบนี้มาโดยปริยาย การไม่ผูกมัดกับคติธรรมชาตินิยม (naturalism) ของวิทยาศาสตร์ก็ย่อมทำให้หาคุณค่า ความหมาย และวัตถุประสงค์จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ไปด้วยเช่นกัน

หนังสือสารคดีเรื่อง การสอนวิวัฒนาการและธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Teaching Evolution and the Nature of Science) ของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติที่ตีพิมพ์ในปี 1998 ได้กล่าวยืนยันว่า

ศาสนาและวิทยาศาตร์ตอบคำถามที่ต่างกันเกี่ยวกับโลก เรื่องจุดประสงค์สำหรับการดำรงอยู่ของเอกภพหรือมนุษย์นั้นไม่ได้เป็นคำถามสำหรับวิทยาศาสตร์เลย…ผลก็คือคนจำนวนมากซึ่งก็รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่างยึดมั่นในความเชื่อทางศาสนาพร้อมกับยอมรับการเกิดขึ้นของวิวัฒนาการไปด้วย

ในทำนองเดียวกันผู้พิพากษาศาลสหรัฐ จอห์น อี. โจนส์ ที่ 3 เขียนไว้ในคำตัดสินลงวันที่ 20 ธันวาคม 2005 (กรณีคดีฟ้องร้อง คิทซ์มิลเลอร์กับเขตโรเรียนแถบโดเวอร์) ดังนี้

แกนนำทางแนวคิดจำนวนมากของคติการออกแบบอันชาญฉลาดนั้น เสนอข้อสมมติฐานที่ผิดเป็นอย่างยิ่ง โดยมีอคติอยู่ก่อนแล้วที่ว่าทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นปฏิปักษ์โดยตรงต่อความเชื่อเรื่องการดำรงอยู่ของพระผู้ทรงอำนาจสูงสุดและต่อศาสนาโดยรวม

…ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในคดีความนี้ว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการเป็นวิทยาศาสตร์ที่ใช้การได้ดี จนได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นในชุมชนวิทยาศาสตร์ และไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดที่ขัดแย้งหรือปฏิเสธต่อการดำรงอยู่ของ ‘พระผู้สร้าง’ ผู้ศักดิ์สิทธิ์

วิวัฒนาการ กับ พระคัมภีร์

สำหรับบางคนแล้ว ดูเหมือนทฤษฎีวิวัฒนาการไปด้วยกันไม่ได้กับความเชื่อทางศาสนา โดยเฉพาะพวกคริสเตียน เพราะแย้งกับข้อความที่บรรยายไว้เกี่ยวกับการเนรมิตโลกในพระคัมภีร์ บทแรกในพระคัมภีร์ปฐมกาล (Genesis) อธิบายเรื่องการเนรมิตโลก พืช สัตว์ และคนของพระเป็นเจ้า การตีพิมพ์ตามตัวอักษรของพระคัมภีร์ปฐมกาลดูเหมือนจะขัดแย้งกับวิวัฒนาการของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการตามธรรมชาติอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผู้ศึกษาพระคัมภีร์และเทววิทยาจำนวนมาก ต่างก็ปฏิเสธเรื่องการตีความตามตัวอักษรว่า เป็นเรื่องที่ไม่อาจทำได้ เพราะอย่างไรในพระคัมภีร์ก็มีเนื้อหาบางส่วนที่ไม่เข้ากันเองอยู่แล้ว

ตอนต้น ๆ ของพระคัมภีร์ปฐมกาล บรรยายเรื่องการเนรมิตแตกต่างออกไป 2 แบบ ในบทที่ 1 ซึ่งคุ้นเคยกันดีที่บรรยายเรื่องการเนรมิตใน 6 วัน ดังอ้างไว้ข้างต้นว่าพระผู้เป็นเจ้าเนรมิตมนุษย์ทั้งชายและหญิงภายหลังจากที่เนรมิตแสง โลก ปลา สัตว์ปีก และวัวควายแล้ว แต่ในเนื้อหาบทที่ 2 กลับบรรยายไว้ต่างออกไป

จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าก็สร้างมนุษย์ขึ้นจากธุลีดิน…แล้วพระองค์ก็ทรงหว่านลงยังสวนทางด้านตะวันออกของอีเดน แล้วพระองค์ก็ทรงปล่อยมนุษย์ที่สร้างขึ้นไว้ ณ ที่นั้น…พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสิงสาราสัตว์ทั้งหลายจากฝืนธรณีและสัตว์ปีกจากอากาศธาตุ…แล้วพระองค์ก็ทรงเสกให้อดัมเข้าสู่ห้วงภวังค์ลึก เมื่ออดัมล่วงสู่นิทราแล้วพระองค์จึงนำซี่โครงชิ้นหนึ่งของเขาออกมา…อาศัยซี่โครงที่พระผู้เป็นเจ้าได้มาจากชายหนุ่มซี่นั้น ก็ทรงสร้างหญิงสาวขึ้นและมอบเธอแก่ชายหนุ่ม

อดัมกับอีฟ ขณะอีฟรับผลไม้จากงูที่ถูกวาดในคราบของอมนุษย์ครึ่งคนครึ่งงู (ภาพโดย Peter Paul Rubens ศิลปินมีชื่อในยุคศตวรรษที่ 17)

ในเนื้อหาส่วนที่สองนี้ แรกสุดนั้นอดัมเกิดขึ้นก่อน ก่อนจะมีสวนอีเดน และก่อนที่จะมีพืชและสัตว์ทั้งหลาย หลังจากนั้นไป พระผู้เป็นเจ้าจึงเนรมิตหญิงสาวคนแรกขึ้นจากซี่โครงของอดัม คำบรรยายแบบใดกันแน่ที่ถูกต้อง?

คำบรรยายทั้งสองแบบไม่ได้ขัดแย้งกันเลย หากเราพยายามทำความเข้าใจว่า พวกมันต่างทำหน้าที่ส่งสารอันเดียวกันคือ พระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตโลก และมนุษย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ทรงเนรมิตขึ้น แต่เนื้อหาทั้งสองตอนไม่อาจใช้เพื่อสรุปหา “ความจริงทางประวัติศาสตร์หรือทางวิทยาศาสตร์” ได้ดังที่สมาคมวิจัยการสร้างโลก (The Creation Research Society) ตั้งสมมติฐานไว้

ในพระคัมภีร์ยังมีความไม่สอดคล้องและขัดแย้งกันตลอดทั่วทั้งเล่ม เช่นคำอธิบายตอนการหวนคืนกลับของชาวอิสราเอลผู้ได้รับเลือกจากอียิปต์ไปยังแผ่นดินแห่งพระสัญญา ยังไม่นับรวมเนื้อหาที่มีความผิดพลาดด้านข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างเรื่องดวงอาทิตย์หมุนรอบโลกและเรื่องอื่น ๆ

ผู้ศึกษาพระคัมภีร์ชี้ว่า พระคัมภีร์ย่อมไม่อาจผิดพลาดได้ในเรื่องสัจธรรมทางศาสนา แต่ไม่ใช่ในเรื่องที่ไม่สลักสำคัญอะไรต่อการพ้นบาป นักเทววิทยาคริสเตียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดท่านหนึ่งคือ ออกัสตีน (Augustine) เขียนไว้ในหนังสือ De Genesi ad literram หรือ บทวิพากษ์ตามอักษรของพระคัมภีร์ปฐมกาล (Literral Commentary on Genesis) ของท่านว่า

มักมีผู้ถามเกี่ยวกับความเชื่อในเรื่องรูปลักษณ์และรูปทรงสวรรค์ของพวกเรา หากถือตามพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว…หัวเรื่องจำพวกนั้นหาได้มีประโยชน์โภชผลใดกับเหล่าผู้แสวงหาสุขคติ…ข้าพเจ้าจึงใส่ใจแค่ว่าสวรรค์นั้นเป็นทรงกลมและหุ้มห่อโลกไว้ภายในอีกทั้งแขวนลอยในท่ามกลางเอกภพ หรือมิเช่นนั้นสวรรค์ก็อาจจะเป็นเช่นแผ่นจานที่มีโลกอยู่ด้านบนลอยละล่องจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง

ท่านยังเสริมอีกด้วยว่า “กล่าวในด้านรูปทรงของสวรรค์แล้ว ผู้ลิขิตอันศักดิ์สิทธิ์หาได้มีปรารถนาจะสั่งสอนข้อเท็จจริงเรื่องที่ไม่นำไปสู่สุขคติให้แก่หมู่มนุษย์”

ออกัสตีนกล่าวถึงพระคัมภีร์ปฐมกาลว่า หาใช่เป็นหนังสือพื้นฐานดาราศาสตร์ไม่ ไม่มีที่ใดในพระคัมภีร์ปฐมกาลที่กล่าวถึง พระผู้สร้าง ว่าทรงเนรมิตแสงในวันแรก แต่ไม่ได้เนรมิตดวงอาทิตย์กระทั่งวันที่สี่ ท่านสรุปว่า “แสง” และ “วัน” ในพระคัมภีร์ปฐมกาลไม่อาจตีความตามตัวอักษรได้

สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ตรัสไว้ในปี 1981 ว่าพระคัมภีร์นั้น

กล่าวกับเราถึงกำเนิดแห่งเอกภพและส่วนประกอบ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นตำราทางวิทยาศาสตร์ แต่เพื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์อันถูกต้องเหมาะสมระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้าและเอกภพ พระคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์มุ่งมาดปรารถนาเพียงเพื่อประกาศถึงโลกที่พระผู้เป็นเจ้าทรงเนรมิตขึ้นไว้และเพื่อสั่งสอนสั่งสัจธรรม พระคัมภีร์จึงปรากฏเนื้อหาในรูปของจักรวาลวิทยาที่เหมาะสมกับยุคสมัยของผู้รจนา

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 ธันวาคม 2565