ชมประติมากรรม เทพหน้าดุ “จูนิ ชินโช” ผู้พิทักษ์พระพุทธศาสนาของญี่ปุ่น

Juni Shinsho จูนิ ชินโช เทพพิทักษ์ พระพุทธศาสนา ของ ญี่ปุ่น
Juni Shinsho (ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art / pixabay.com)

ชมประติมากรรมสิบสองจอมทัพ หรือ “จูนิ ชินโช” (Juni Shinsho) ศิลปวัตถุโบราณ งานสลักไม้รูปแม่ทัพแห่งสวรรค์ทั้ง 12 องค์ของ ญี่ปุ่น

จูนิ ชินโช (十二神将) หรือ “จูนิเทน” (十二天) เป็นเทพในความเชื่อทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานของ ญี่ปุ่น คำว่า “จูนิ” (十二) แปลว่า 12 คำว่า “ชินโช” (神将) แปลว่า นายพล หรือจอมทัพ ส่วน “เทน” (天) แปลว่า สวรรค์ คำเดียวกับ “เทียน” ในภาษาจีนนั่นเอง

สิบสองจอมทัพนั้นเป็นผู้ปฏิญาณตนรับใช้ “พระยาคุชิ” (Yakushi) หรือภาษาสันสกฤต คือ “พระไภษัชยคุรุ” (Phaisajyaguru) พระพุทธเจ้าอีกองค์ในนิกายมหายานที่ญี่ปุ่นรับมาจากจีน ซึ่งในดินแดนไทยเองก็เคยมีการนับถือพระไภษัชยคุรุอย่างแพร่หลายในอดีตเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 จากวัฒนธรรมเขมรโบราณ

พระนามของ พระไภษัชยคุรุ หมายถึง “ผู้เป็นบรมครูแห่งโอสถ” หรือครูแห่งยา พระยาคุชิในญี่ปุ่นจึงมีอิทธิฤทธิ์ในเรื่องการรักษาเยียวยาและปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง ในที่นี้หมายรวมถึงความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ

จูนิ ชินโชในฐานะผู้รับใช้พระยาคุชินั้นยังมีบทบาทในการเป็น “เทพผู้พิทักษ์” ด้วย คือมีความคล้าย “ท้าวโลกบาล” ผู้รักษาทิศทั้ง 8 ของศาสนาฮินดู หรือท้าวจตุโลกบาลของพุทธหินยาน (มี 4 องค์) ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากที่มาของพระยาคุชิจึงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวว่าเหล่าจูนิ ชินโชพัฒนามาจากท้าวโลกบาลในอินเดีย

เมื่อจูนิ ชินโชมีหน้าที่เป็นเทพผู้พิทักษ์ เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองเหล่าผู้ศรัทธาและปราบศัตรูของพระพุทธศาสนา จึงเป็นเหตุให้งานประติมากรรมหรือภาพเขียนต่าง ๆ ของพวกเขาล้วนมีความโดดเด่นจากการแสดงออกทางสีหน้าที่ดูดุร้าย ท่าทีดุดัน ยืนอยู่ในท่าต่อสู้ พร้อมมีเรื่อง และสวมชุดเกราะทั้งตัว มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่าพวกเขาอาจมีความเกี่ยวข้องกับสัตว์สิบสองตัวในนักษัตรจีนสมัยโบราณด้วย

สำหรับประติมากรรม จูนิ ชินโช ที่กำลังจะพาชมนี้ พวกเขามีความสูงประมาณ 19 นิ้ว ฐานยาว 8.5 นิ้ว กว้าง 6.5 นิ้ว เป็นโบราณวัตถุจากศตวรรษที่ 14 ยุคคามาคุระ (Kamakura) เมื่อประมาณ ค.ศ. 1185-1333 ตัวหุ่นเป็นไม้สลัก ลงรัก (เคลือบ Lacquer) ทาสี ปิดทอง และฝังตาหุ่นด้วยคริสตัล ทำให้มีความสวยงาม ดูสมจริง และเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวาแม้จะผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปีแล้ว

Juni Shinsho ใน “The Met” (ภาพจาก The Metropolitan Museum of Art)

ในจำนวนประติมากรรมทั้ง 12 ชิ้น มีจำนวน 6 ชิ้น จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการของ Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สามารถชมภาพรายละเอียดสูงได้ในเว็บไซต์ “the Met” (คลิกชมภาพเพิ่มเติม Juni Shinsho)

และอีก 5 ชิ้น ถูกเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงโตเกียว (Tokyo National Museum) (คลิกชมภาพเพิ่มเติม Juni Shinsho)

จากรายละเอียดของประติมากรรม ทั้งการลงสี ความปราณีตบนเสื้อผ้าและชุดเกราะของเหล่าจูนิ ชินโช รวมถึงการประดับด้วยแผ่นทองคำเปลวสูงค่า บ่งชี้ได้ว่าผลงานนี้สร้างขึ้นโดยประติมากรใน “สำนักเค” (Kei school) ซึ่งเป็นสำนักช่างแกะสลักชั้นนำของญี่ปุ่นสมัยดังกล่าว โบราณวัตถุล้ำค่านี้เป็นสิ่งตกทอดกันมายาวนานภายในวัดโจรูริจิ (Joruruji Temple) ในกรุงเกียวโตก่อนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรมศิลปากร. (2563). พระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าบรมครูแห่งโอสถ. กรุงเทพฯ : กระทรวงวัฒนธรรม.

NHK (Japan Broadcasting Corporation) : “Twelve Divine Generals
(Juni Shinsho ryuzo)”. (Online)

The Metropolitan Museum of Art : The Collection, Asian Art “Six of the Twelve Divine Generals (Juni shinsho)”. (Online)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 ธันวาคม 2565