ที่มา | สารพัดเก็บ, สนพ. มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
น้ำมะเน็ด เป็น “น้ำอัดลม” ชนิดหนึ่ง ที่คนไทยเรียกเพี้ยนมาจากน้ำ Lemonade ของฝรั่ง คำว่า Lemonade แปลว่าน้ำมะนาวก็จริง แต่น้ำมะเน็ดไม่ใช่น้ำมะนาวเปรี้ยวแท้ๆ แต่เป็นน้ำมะนาวปลอมๆ ที่มีการแต่งรสแต่งสีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบกับ น้ำอัดลม ยุคปัจจุบันคงใกล้เคียงกับน้ำสไปรท์
แรกมี “น้ำมะเน็ด” ในสยาม
ฝรั่งเริ่มผลิตน้ำมะเน็ดขายตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่ต้องหลังจากจาคอบ ชเวพ (Jacob Schwepp) คิดทำน้ำโซดาได้เมื่อ พ.ศ. 2335 หรือเมื่อราว 200 ปีก่อน
ส่วนเมืองไทยนั้นพบโฆษณาขายน้ำมะเน็ดในหนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์เดอร์ ของหมอบรัดเลย์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ.1866 [พ.ศ. 2406] หน้า 261 ว่า
ประกาศด้วยน้ำโซดะ
ผู้มีชื่อใต้นี้ ขอแจ้งแก่ท่านทั้งปวง ทั้งหญิงทั้งชายที่ในกรุงเทพฯ ว่าพวกเราได้ซื้อเครื่องทำน้ำโซดาและน้ำมนาวแต่มิศเตอกะไดโช และทำน้ำโซดะและน้ำมนาวที่ห้างของเราที่ริมบ้านกงสุลฝรั่งเสศ ลงพิมพ์ ณ วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น 13 ค่ำ ชื่อพวน (พวก-เอนก) เรารีเมดีมนตินี
หมายความว่าในครั้งนั้น รี เมดี มนตินี ได้ซื้อเครื่องทำโซดา กับน้ำมะนาวผลิตน้ำทั้งสองชนิดขายแล้ว แต่น้ำมะนาวสมัยโน้นเห็นจะบรรจุขวดรีๆ แบบลูกรักบี้ และปิดปากด้วยจุกไม้ก๊อก
ขวดแบบนี้วางแนวตั้งไม่ได้ เขาออกแบบให้นอนขนานกับพื้นอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้จุกก๊อกแห้งและหด
ข้อนี้พูดเอาตามที่เห็นรูปในหนังสือ The Art of the Label ของโรเบิร์ต โอปี (Robert Opie) ยอดนักสะสมบรรจุภัณฑ์ หน้า 10 กับหน้า 65 ต่อภายหลัง จึงมีการประดิษฐ์ขวดแบบคอคอด และมีลูกแก้วที่ปากขวดน้ำมะเน็ด
ขวดใส่น้ำมะเน็ด รวมทั้งน้ำโซดา น้ำอัดลมอื่นๆ ชนิดใช้จุกลูกแก้ว นายฮีแรม คอดด์ (Hiram Codd) เป็นผู้ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1875 หรือ พ.ศ. 2418 ตรงกับต้นสมัยรัชกาลที่ 5 (ทราบจากหนังสือ Tomorrow Antique โดย Peter Johnson หน้า 51 ห้องสมุกเอนก นาวิกมูล)
ขวดแบบนี้มีความสวยงาม และมีเสน่ห์น่าเก็บมาก เวลาบรรจุน้ำเขาต้องจับหัวขวดให้คว่ำลง เมื่อน้ำอัดลมเข้าไปในขวดแล้ว แรงแก๊สจะดันลูกแก้วให้ลอยขึ้นไปติดกับวงแหวนยางที่ตรงปากขวดอย่างแนบแน่น เวลาจะกินต้องเอาไม้กระแทกลูกแก้วลงไปแรงๆ ส่วนวิธีรินไม่ให้ลูกแก้วกลิ้งมาปิดปากขวด เราต้องหมุนขวดให้ลูกแก้วไปตกอยู่ระหว่างคอหยักที่เขาทำเอาไว้ นั้นแหละจึงจะรินน้ำได้สะดวก
น้ำมะเน็ดเคยมีขายตามโรงหนังและตามร้านต่างๆ อยู่นอนพอสมควร แต่ที่สุดก็หายไปจากเมืองไทยเมื่อ 50-60 ปีก่อน ทิ้งไว้แต่ขวดยี่ห้อต่างๆ ให้นักสะสมได้ช่วยกันตามเก็บต่อไป
หน้าตาเครื่องทำน้ำมะเน็ด
ต่อไปถามว่า เครื่องทำน้ำมะเน็ดหน้าตาอย่างไร ได้พยายามถามใครต่อใครมานานก็ไม่ได้รับคำตอบสักที เพราะไม่เจอผู้รู้ ในหนังสือ “ธรรมนูญชีวิต” ที่พระธรรมปิฎก (อาจารย์ อ. ปยุตฺโต) แต่งและพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพนายสำราญ อารยางกูร ณ วัดพระพิเรนทร์ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539…พระธรรมปิฎกกล่าวว่า นายสำราญ ผู้เป็นโยมพ่อ เกิดที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี…เคยขายน้ำมะเน็ดในช่วงหลัง พ.ศ. 2470
ในหน้า 42-44 พระธรรมปิฎกกล่าวเรื่องนี้ไว้ 2 หน้า อยากจะคัดมาลงให้หมด ข้อมูลจะได้ไม่กระจัดกระจาย แต่หน้ากระดาษไม่อำนวย จึงต้องคัดมาเพียงบางส่วนดังนี้
“ขวดที่บรรจุน้ำอัดลมสมัยก่อนมีแต่ขวดแก้ว มี 2 ลักษณะ คือเป็นขวดแก้ว บรรจุน้ำอัดกาซแล้วปิดฝาด้วยฝาจุกจีบอย่างที่เห็นกันในสมัยนี้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นขวดแก้วที่คอบีบแคบเป็นช่องยาว มีลูกแก้วกลมๆ ติดค้างอยู่ในนั้น
ลูกแก้วกลมนี้มีขนาดอุดปากขวดได้พอดี ในเมื่อตรงปากขวดที่จะอุดมีวงแหวนยางบางๆ ทาบอยู่ เวลาบรรจุน้ำลงในขวดและต้องการปิด ลูกแก้วกลมนี้ก็จะถูกแรงดันของกาซอัดเข้าไปติดกับแหวนยางที่ทาบปากขวดอยู่ทำให้อุดปากขวดแน่น…(ขอกระโดดข้ามไป-เอนก)
เมื่อเตี่ยจะเริ่มประกอบอาชีพ ท่านได้ไปตามงานเทศกาลในสมัยนั้นซึ่งส่วนมากเป็นงานประจำปีตามวัดซึ่งจะมีมหรสพสมโภชเพื่อจูงใจให้คนไปเที่ยวชม….
ยุคนั้นน้ำแข็งเพิ่งจะมีมาไม่นาน คนตื่นเต้นและนิยมกันมาก ร้านน้ำแข็งไสจึงขายดี มีลูกค้ามาก น้ำอัดลมยังมีน้อย อาศัยที่เตี่ยเคยอยู่ในกรุงเทพฯ และเห็นมาก่อน จึงได้ความคิดว่าถ้าเอามาจำหน่ายในงานอย่างนี้น่าจะขายได้ดี ท่านจึงไปซื้อเครื่องอัดน้ำอัดลมซึ่งในสมัยนั้นเคยได้ยินท่านเรียกว่า เครื่องอัดน้ำมะเน็ด มา แล้วยกเครื่องมือดังกล่าวพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ ไปเปิดอัดน้ำมะเน็ดในงานสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงราวๆ พ.ศ. 2470 เศษนิดหน่อย ปรากฏว่าลูกค้าแน่นทุกงานแทบอัดไม่ทัน
เตี่ยและลูกมือได้ตระเวนไปอัดน้ำมะเน็ดขายตามงานเทศกาลต่างๆ ในย่านอำเภอศรีประจันต์ในสมัยนั้นอยู่ 2-3 ปี ก็ละเลิกงานนี้และเปลี่ยนไปทำงานรับจ้างใช้ระหัดวิดน้ำเข้านา”
จะเห็นว่าพระธรรมปิฎกเขียนเล่าไว้น่าอ่านมากสำหรับคนสนใจ แต่พอกำลังตื่นเต้นและลุ้นว่าเครื่องทำน้ำมะเน็ดหน้าตาอย่างไร ทำงานอย่างไร ท่านกลับไม่ได้พรรณนา ทำให้ความรู้ขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย แม้ภายหลังเมื่อผู้เขียนทราบว่าคุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บรรณาธิการสารคดี จะไปสัมภาษณ์พระธรรมปิฎกมาลงสารคดี ได้ฝากถามเรื่องนี้ไป ก็ไม่ได้รับรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ เพราะพระธรรมปิฎกจำไม่ได้
อีก 2 ปีต่อมา เดือนกันยายน พ.ศ. 2541 ผู้เขียนมีกิจเร่งด่วน ต้องไปค้นเรื่องเรื่องหนึ่งที่หอสมุดแห่งชาติ ระหว่างกำลังพลิกหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองรายวัน พลันก็ได้พบโฆษณาชิ้นหนึ่งลงในฉบับมกราคม 2471 ว่า ห้างเหเดมัน เอเวร์ส สะพานมอญ ขาย
“เครื่องทำน้ำมะเน็ด และโซดา….มีทั้งเครื่องอัดจุกฝาสังกะสี และฝาจุกลูกแก้ว”
นี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก แต่ที่ทำให้ตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นก็คือ โฆษณาชิ้นนั้นมีภาพถ่ายภาพหนึ่งลงประกอบด้วย ในภาพถ่ายนั้นท่านจะเห็นเครื่องอัดมีรูปร่างคล้ายที่อัดลูกโป่ง ผสมเครื่องเติมน้ำมันดูประหลาด อันเครื่องวิเศษนี้ถึงจะพรรณนาอย่างไร คนที่ได้ยินแต่คำพรรณนา ก็คงไม่สามารถเข้าใจได้ นึกออกได้ ต้องเห็นภาพด้วย นี่แหละผู้เขียนจึงเน้นเรื่องความสำคัญของภาพมาตลอด ได้รีบเร่งก๊อบปี้ภาพมาให้ท่านดูทั้งๆ ที่เวลาจำกัด และฟิล์มจำกัด
เรื่องยังไม่จบ ครั้นเปิดหนังสือพิมพ์ต่อไปอีก ทันใดนั้นผู้เขียนก็ได้พบภาพโฆษณาขายเครื่องทำน้ำมะเน็ดภาพหนึ่งอีก คราวนี้เป็นของคนละห้าง คือเป็นของห้างเพาล์ ปิกเคนปัก เชิงสะพานมอญ กรุงเทพฯ ลงในฉบับเมษายน 2471 หน้าตาของเครื่องเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ยังคงใช้หลักการมีถังแก๊สกับที่หมุน
ทว่าอนิจจา ฟิล์มสไลด์ซึ่งมีติดไปจำกัดแสนจำกัด ได้ถูกใช้จนหมดแล้ว ไม่มีทางจะหาซื้อใหม่ในตอนนั้นได้ เหลือแต่ฟิล์มสีซึ่งปกติไม่ใช้ และไม่ชอบใช้อยู่ม้วนหนึ่งติดกระเป๋าอยู่ ก็ได้แต่กล้ำกลืนถ่ายๆ มา
หมายเหตุ : เพิ่มหัวข้อย่อยเพื่อความสะดวกในการอ่าน โดย กอง บก. ออนไลน์
อ่านเพิ่มเติม :
- “เหล้ารัม” เครื่องดื่มฮิตสุดของ “อเมริกัน” สู่เครื่องมือสร้างชาติ “อเมริกา”
- กว่าจะมี “เบียร์” เสรีในวันนี้ “ญี่ปุ่น” แดนปลาดิบต้องเผชิญอะไรบ้าง เกี่ยวกับเหตุการณ์ฟองสบู่แตก?
- เบียร์-ไวน์-เหล้า-กาแฟ-ชา-โคลา: เครื่องดื่มเล่าประวัติศาสตร์
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2565