“เหล้ารัม” เครื่องดื่มฮิตสุดของ “อเมริกัน” สู่เครื่องมือสร้างชาติ “อเมริกา”

ภาพวาด โรงงานผลิต เหล้ารัม
โรงงานผลิตเหล้ารัม (ภาพจาก http://americanhistory.si.edu)

“เหล้ารัม” เครื่องดื่มฮิตสุดของ “อเมริกัน” สู่เครื่องมือสร้างชาติ “อเมริกา”

เมื่ออังกฤษมีแผนการที่จะสถาปนาอาณานิคมของตนในอเมริกาเหนือมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 แต่แผนการนั้นวางอยู่บนความเชื่ออันผิดพลาดที่ว่า ทวีปอเมริกาเหนือส่วนที่อังกฤษได้อ้างสิทธิ หรือตั้งแต่เส้นขนานที่ 34 ถึง 38 องศาเหนือ ซึ่งเรียกว่าเวอร์จิเนีย เพื่อเป็นเกียรติแด่ราชินีอลิซาเบธที่ 1 ผู้บริสุทธิ์ จะมีสภาพอากาศแบบเดียวกับเขตเมดิเตอร์เรเนียนของยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในละติจูดเดียวกัน

อังกฤษจึงหวังว่า หากจัดตั้งได้สําเร็จ อาณานิคมของตนในอเมริกาจะสามารถผลิตสินค้าแบบเดียวกับเขตเมดิเตอร์เรเนียน อาทิ มะกอก และผลไม้ ช่วยอังกฤษลดการพึ่งพิงสินค้านำเข้าจากภาคพื้นทวีปยุโรปได้ ทรรศนะหนึ่งเชื่อว่า อาณานิคมจะให้ “ไวน์ ผลไม้ และเกลือ ที่เราต้องซื้อหาจากฝรั่งเศสและสเปน… ให้ผ้าไหมที่เราเคยต้องซื้อจากเปอร์เซียและอิตาลี” ทำนองเดียวกัน ป่าไม้ที่มีอยู่มากมายจะช่วยให้อังกฤษไม่ต้องซื้อไม้จากสแกนดิเนเวีย

อเมริกาจึงถูกคาดหวังว่าจะเป็นดินแดนแห่งความบริบูรณ์ซึ่งจะสร้างกำไรให้อังกฤษได้อย่างรวดเร็ว

แต่ความจริงกลับแตกต่างจากสิ่งที่พวกเขาคาดหวังโดยสิ้นเชิง สภาพอากาศของอเมริกาเหนือนั้นเลวร้ายกว่าที่คาดเอาไว้ จนพืชพรรณแบบเมดิเตอร์เรเนียนและสินค้าที่อังกฤษต้องนำเข้าชนิดอื่นไม่จะเป็นน้ำตาลหรือกล้วยไม่อาจขึ้นได้ ไม่มีการพบโลหะ แร่ และอัญมณีมีค่าดังที่หวังไว้ ความพยายามเลี้ยงไหมก็ล้มเหลว

หลังจากการก่อชุมชนถาวรแห่งแรกของอังกฤษเมื่อปี 1607 เพียงไม่กี่ทศวรรษ บรรดาผู้ตั้งหลักแหล่งก็เผชิญกับความยากลำบากสารพันในการหาเลี้ยงชีพ พวกเขาต้องเผชิญกับโรคร้าย การขาดแคลนอาหาร ความขัดแย้งภายในกลุ่ม และการปะทะกับชาวอินเดียนพื้นเมืองที่พวกเขาไปแย่งชิงดินแดนมา

ในท่ามกลางความยากลำบากนี้ “แอลกอฮอล์” ได้กลายเป็นเครื่องปลอบประโลมที่สำคัญ

เรือเสบียงลำแรกที่มาถึงในช่วงฤดูหนาวนั้นขนเบียร์ติดมาจำนวนหนึ่ง แต่ส่วนมากถูกลูกเรือดื่มไปเรียบร้อยแล้ว เบียร์ชุดต่อไปที่มาถึง ของก็มักจะเน่าเสียระหว่างเดินทาง ในปี 1613 ชาวสเปนคนหนึ่งรายงานว่า ชาวอาณานิคมราวสามร้อยคนไม่มีเครื่องดื่มอื่นใดนอกจากน้ำ ซึ่งผิดธรรมชาติของคนอังกฤษ แต่ละคนต่างต้องการเดินทางกลับ แต่จะพวกเขาไม่มีเสรีภาพที่จะทำได้เช่นนั้น สิ่งที่พวกเขาร่ำร้องหามากที่สุดคือเครื่องดื่มดี ๆ อะไรก็ได้ที่ไม่ใช่น้ำ

เรือ เมย์ฟลาวเออร์
เรือเมย์ฟลาวเออร์จากอังกฤษสู่อาณานิคมในอเมริกาเหนือ (ภาพจากPilgrim Hall Museum)

สภาพอากาศเลวร้ายส่งผลให้ธัญพืชจากยุโรปซึ่งสามารถนำมาทำเบียร์ให้ผลผลิตต่ำ แทนที่จะพึ่งพาเบียร์ซึ่งขนมาจากอังกฤษเท่านั้น เหล่าผู้ตั้งถิ่นฐานก็พยายามเอาข้าวโพด ปลายสนยอดไม้ ยางต้นเมเปิล ฟักทอง และแอปเปิลฝานมาทำเบียร์ดื่ม พวกเขาก็หันมาพยายามทำไวน์จากองุ่นพันธุ์พื้นเมือง แต่ผลที่ได้กลับแย่เกินทน

ครึ่งหลังของศตวรรษที่ 17 ทุกสิ่งก็เปลี่ยนไป เมื่อ “เหล้ารัม” ที่ทำจากกากน้ำตาลและมีราคาต่ำกว่าบรั่นดีและไวน์มาก ทั้งยังสามารถผลิตได้เองในอเมริกาเริ่มแพร่หลาย นอกจากความได้เปรียบเรื่องราคาแล้ว  เหล้ารัมที่มีฤทธิ์รุนแรงก็กลายมาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยม มันช่วยคลายความเหนื่อยล้า ช่วยให้ความอบอุ่นในระหว่างฤดูหนาว ทั้งยังลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากยุโรปลงได้มาก คนยากไร้จะดื่มเหล้ารัมเพียว ๆ ขณะที่ผู้มีฐานะดีกว่าจะผสมมันเข้ากับเหล้า น้ำตาล น้ำเปล่า น้ำมะนาว และเครื่องเทศ เสิร์ฟในชามอันวิจิตรพิสดาร (เครื่องดื่มชนิดนี้ก็เป็นต้นแบบของค็อกเทล)

แต่ใช่ว่าทุกคนจะต้อนรับเครื่องดื่มฤทธิ์แรงราคาถูกชนิดนี้ อินครีส มาเทอร์ ผู้บริหารเมืองบอสตัน แสดงความคิดขัดแย้งว่า “ไม่ใช่เรื่องน่าพิสมัยที่เหล้ารัมได้แพร่หลายในหมู่เราในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้… แม้แต่คนยากไร้และชั่วร้ายก็มีหนทางเมาได้โดยจ่ายเงินหนึ่งหรือสองเพนนีเท่านั้น

คนงาน ใน โรงงาน เหล้ารัม
คนงานในโรงงานผลิตเหล้ารัม (ภาพจาก https://cesaralvarezhistory.wordpress.com)

นับแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 เหล้ารัมก็กลายเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมอันเฟื่องฟู เมื่อพ่อค้าในนิวอิงแลนด์ โดยเฉพาะในเมืองซาเลม วิวพอร์ต เมดฟอร์ด และบอสตัน ลดการนำเข้าเหล้ารัม และเริ่มการนำเข้ากาน้ำตาลมากลั่นด้วยตนเอง รัมที่ได้นั้นแม้จะไม่ดีเท่าที่ผลิตจากหมู่เกาะอินเดียตะวันตก แต่ก็มีราคาย่อมเยากว่ามาก ความแตกต่างด้านราคานี้กมีผลทำให้เหล้ารัมเป็นสินค้าผ่านการผลิตที่สร้างกำไรงามที่สุดแก่นิวอิงแลนด์

นอกจากการขายเหล้ารัมสำหรับบริโภคกันเป็นการภายในแล้ว ผู้กลั่นเหล้าในนิวอิงแลนด์ยังพบว่า บรรดาพ่อค้าทาสพอใจจะใช้เหล้ารัมเป็นสื่อกลางสำหรับใช้ซื้อหาทาสตามชายฝั่งแอฟริกาตะวันตกแทนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ผู้กลั่นเหล้าในเมืองนิวพอร์ตยอมผลิตเหล้ารัมฤทธิ์แรงเป็นพิเศษเพื่อใช้แลกเปลี่ยนกับทาสเป็นการเฉพาะ เหล้ารัมที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้นพิเศษนี้จึงมีราคาสูงกว่า

การซื้อขายเหล้ารัมที่เจริญขึ้นไม่ส่งผลดีต่อผู้ปลูกอ้อยบนเกาะที่ผลิตน้ำตาลของอังกฤษหรือผู้ลงทุนในลอนดอน เนื่องจากผู้กลั่นเหล้าในนิวอิงแลนด์หันไปซื้อหากากน้ำตาลจากหมู่เกาะของฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสประกาศห้ามการผลิตเหล้ารัมในอาณานิคมของตน เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตบรั่นดีภายในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตน้ำตาลชาวฝรั่งเศสมีกากน้ำตาลเหลือสำหรับขายให้ผู้กลั่นเหล้าที่นิวอิงแลนด์ในราคาย่อมเยา

ขณะที่ผู้ผลิตน้ำตาลชาวอังกฤษกลับต้องสูญเสียตลาดน้ำตาลในยุโรปให้แก่ฝรั่งเศส การที่บรรดาผู้กลั่นเหล้าในนิวอิงแลนด์หันไปอาศัยการกากน้ำตาลของฝรั่งเศส จึงเปรียบเสมือนการซ้ำเติมความเสียหายของฝ่ายอังกฤษ ฝ่ายผู้ผลิตชาวอังกฤษพากันเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเข้าแทรกแซง จนทางลอนดอนได้ออกกฎหมายใหม่ในปี 1733 ที่รู้จักกันในนาม กฎหมายกากน้ำตาล (Molasses Act)

กฎหมายฉบับนี้เป็นการจำกัดการนำเข้า โดยเรียกเก็บภาษีกากน้ำตาลที่ถูกนำเข้าจากแหล่งผลิตต่างประเทศ (โดยเฉพาะฝรั่งเศส) มายังอาณานิคมในอเมริกาเหนือ ในอัตราแกลลอนละหกเพนนี เพื่อกระตุ้นให้ผู้กลั่นเหล้าในอเมริกาเหนือหันกลับมาซื้อกากน้ำตาลจากหมู่เกาะน้ำตาลของอังกฤษ ซึ่งจะไม่ถูกเก็บภาษี ทว่าหมู่เกาะของอังกฤษก็ไม่สามารถผลิตกากน้ำตาลได้มากพอจะป้อนอุตสาหกรรมเหล้ารัมของนิวอิงแลนด์ และคุณภาพกากน้ำตาลก็ด้อยกว่าของฝรั่งเศส

หากมีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว ผู้กลั่นก็ต้องลดปริมาณการผลิตและเพิ่มราคาขายขึ้น แต่เมื่อเหล้ารัมสร้างรายได้ร้อยละ 80 จากการส่งออกทั้งหมด กฎหมายกากน้ำตาลจึงอาจทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักและปิดฉากความมั่งคั่งของนิวอิงแลนด์ลงทันที นอกจากนี้ มันยังทำให้ชาวอาณานิคมอเมริกาเหนือต้องขาดเครื่องดื่มยอดนิยมไป เพราะถึงตอนนั้น ชาย หญิง และเด็กในอาณานิคมต่างบริโภคเหล้ารัมในอัตราเฉลี่ยปีละเกือบสี่แกลลอนอเมริกัน

ดังนั้น ผู้กลั่นเหล้าจึงพากันละเลยกฎหมาย พวกเขาลอบนำเข้ากากน้ำตาลมาจากหมู่เกาะของฝรั่งเศส รวมทั้งติดสินบนเจ้าพนักงานซึ่งควรจะทำหน้าที่เก็บภาษี หลังจากออกกฎหมายมาได้เพียงไม่กี่ปี เหล้ารัมส่วนมากที่ผลิตได้ หรือราว ๆ 5 ใน 6 ส่วนของทั้งหมดใช้กากน้ำตาลลอบนำเข้า

จำนวนผู้กลั่นเหล้าในบอสตันยังเพิ่มจาก 8 ราย เมื่อปี 1738 มาเป็น 63 รายในปี 1750 เหล้ารัมยังคงเป็นที่นิยมและมีบทบาทสำคัญในวิถีชีวิตชาวอาณานิคม มันมีความสำคัญยิ่งยวดในการหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อจอร์จ วอชิงตัน ลงสมัครสมาชิกสมัชชาท้องถิ่นของเวอร์จิเนีย หรือที่เรียกว่าเฮาส์ออฟเบอร์เจสในปี 1758 นั้น คณะของเขาแจกเหล้ารัมไป 28 แกลลอน รัมพันธ์ 50 แกลลอน ไวน์ 34 แกลลอน เบียร์ 46 แกลลอน และไซเดอร์อีก 2 แกลลอน ภายในเขตเลือกตั้งที่มีผู้มีสิทธิ์มีเสียงเพียง 391 คน

แม้กฎหมายกากน้ำตาลจะไม่มีการบังคับใช้ แต่ก็สร้างความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์ของฝ่ายรัฐบาลอังกฤษ เพราะำให้การลอบนำเข้ากากน้ำตาลเป็นเรื่องที่ผู้คนในสังคมยอมรับ ได้ทำให้กฎหมายของอังกฤษโดยรวมเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงและสร้างแบบอย่างแก่กรณีอื่น ๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้ตั้งรกรากในอาณานิคมก็ย่ามใจที่จะต่อต้านกฎหมายที่พวกเขามองว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีสินค้า ซึ่งนำเข้ามาและส่งออกจากอาณานิคมอย่างไม่เป็นธรรม ส่งผลให้กระแสต่อด้านกฎหมายกากน้ำตาลที่แพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวางกลับ กลายเป็นก้าวแรกบนเส้นทางสู่เอกราชของอเมริกา

ก้าวต่อไปเกิดขึ้นเมื่อมีการผ่านกฏหมายน้ำตาล (Sugar Act) ณ ช่วงสิ้นสุดสงครามฝรั่งเศสและอินเดียนในปี 1764 ซึ่งทหารอังกฤษและชาวนิคมอเมริการ่วมกันต่อสู้จนเอาชนะฝรั่งเศส (ความขัดแย้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ ซึ่งสู้รบกันในยุโรป อเมริกาเหนือ และอินเดีย จนอาจเรียกได้ว่าเป็นสงครามระดับโลกครั้งแรก ชัยชนะช่วยประกันความเป็นเจ้าของอังกฤษในทวีปอเมริกาเหนือ แต่ก็ทำให้อังกฤษมีหนี้สาธารณะล้นพ้น

รัฐบาลอังกฤษพยายามหาทางออก โดยอ้างว่า ตนทำสงครามกับฝรั่งเศสเพื่อประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ชาวอาณานิคมในอเมริกา และชาวอาณานิคมจะต้องช่วยแบกภาระดังกล่าว นอกจากนี้ การที่ชาวอาณานิคมจำนวนมากยังทำการค้ากับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นศัตรูในระหว่างสงคราม ยังจูงใจให้รัฐบาลอังกฤษติดสินใจบังคับใช้กฎหมายกากน้ำตาลอย่างเคร่งครัดยิ่งขึ้น

กฎหมายใหม่ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่การเพิ่มรายได้มากกว่าจะจัดระเบียบการค้า ทำให้กระแสความเกลียดชังอังกฤษแพร่สะพัดไปทั่วอาณานิคมอเมริกา ผู้กลั่นเหล้ารัมในนิวอิงแลนด์เป็นผู้นำการต่อต้านกฎหมายใหม่นี้ โดยร่วมจัดการบอยคอตสินค้าที่นำเข้ามาจากอังกฤษ ชาวอเมริกันจํานวนมากซึ่งไม่มีผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง ก็มองว่ามันเป็นสิ่งอยุติธรรม ที่พวกเขาต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐสภาในกรุงลอนดอนทั้งที่ไม่มีตัวแทนของพวกเขาเข้าไปร่วมออกเสียงด้วย กระแสเรียกร้อง “ไม่จ่ายภาษีหากไม่มีตัวแทนของเรา” แพร่ไปทั่ว

พวกเรียกร้องเอกราช หรือที่รู้จักในชื่อ “บุตรแห่งเสรีภาพ” (Sons of Liberty) กระตุ้นความเห็นของสาธารณชนในเรื่องการแยกตัวออกจาก ผู้ร่วมปลุกระดมมักไปพบปะกันตามโรงกลั่นเหล้าหรือร้านขายเครื่องดื่ม นอกจากกฎหมายน้ำตาล ยังมีการออกกฎหมายที่สร้างความไม่พอใจอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายตราไปรษณียากร (Stamp Act) ปี 1765, กฎหมายทาวน์เซนด์ (Townshend Acts) ปี 1767 และกฏหมายใบชา (Tea Act) ปี 1773

บทสรุปรวมของสิ่งเหล่านี้คือเหตุการณ์งานเลี้ยงฉลองชาที่บอสตันเมื่อปี 1773 ซึ่งชาวอาณานิคมลอบเทใบชาเต็มสามลำเรือลงสู่อ่าวบอสตันเพื่อประท้วงการเก็บภาษีใหม่ ๆ แม้ชาจะเป็นเครื่องดื่มที่เริ่มต้นการปฏิวัติ ทว่าเหล้ารัมก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กันในช่วงหลายทศวรรษที่นำไปสู่การเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติในปี 1775

จอห์น อดัมส์
จอห์น อดัมส์ (ภาพจากhttps://www.nga.gov)

เมื่อการต่อสู้เปิดฉากขึ้น เหล้ารัมก็เป็นเครื่องดื่มที่ครองใจทหารอเมริกันตลอดช่วงหกปีแห่งสงคราม นายพลเฮนรี่ นอกซ์ เขียนถึง จอร์จ วอชิงตัน ในปี 1780 ว่าด้วยเรื่องเสบียงจากรัฐทางเหนือ โดยเน้นความสำคัญของเหล้ารัมเป็นพิเศษ “นอกจากเนื้อวัวและเนื้อหมู ขนมปังและแป้งแล้ว เหล้ารัมยังเป็นเสบียงสำคัญที่จะขาดเสียมิได้” เขาเขียนว่า “จงใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อให้ได้เหล้ารัมจำนวนมากพอ” การเก็บภาษีเหล้ารัมและกากน้ำตาลที่จุดชนวนความบาดหมาง ระหว่างอาณานิคมในอเมริกากับอังกฤษ ได้ทำให้เหล้ารัมเป็นตัวแทนเครื่องมือแห่งการปฏิวัติ ค.ศ. 1776

ภายหลังจากอังกฤษยอมแพ้ในปี 1781 และการก่อตั้งสหรัฐอเมริกาอีกหลายปี จอห์น อดัมส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งประเทศ เขียนถึงมิตรของเขาว่า “ฉันไม่รู้ว่าทำไมเราจึงต้องอายที่จะยอมรับว่ากากน้ำตาลคือองค์ประกอบสําคัญของการประกาศเอกราชของอเมริกา เหตุการณ์สำคัญสารพัดต่างก็มีที่มาจากต้นเหตุเล็ก ๆ ทั้งนั้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

Tom Standage (เขียน), คุณากร วาณิชย์วิณุฬห์(แปล). ประวัติศาตร์โลกใน 6 แก้ว. สำนักพิมพ์มติชน,  2549.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 มีนาคม 2562