4 กรกฎาคม 1776: สภาแห่งฟิลาเดลเฟียประกาศ “อิสรภาพ” ปลดแอกจากอังกฤษ

วันประกาศอิสรภาพ
ภาพเขียนสีน้ำมันโดย John Trumbull ศิลปินในยุคสงครามปฏิวัติอเมริกา แสดงเหตุการณ์การเสนอร่างคำประกาศอิสรภาพต่อที่ประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีปของคณะกรรมการ 5 คน ประกอบด้วย จอห์น อดัมส์ ตัวแทนจากแมสซาชูเซตส์, โธมัส เจฟเฟอร์สัน ตัวแทนจากเวอร์จิเนีย, เบนจามิน แฟรงคลิน ตัวแทนจากเพนน์ซิลวาเนีย, โรเจอร์ เชอร์แมน ตัวแทนจากคอนเนคติกัต และโรเบิร์ต ลิฟวิงส์ตัน ตัวแทนจากนิวยอร์ก (เป็นเหตุการณ์ในวันที่ 28 มิถุนายน 1776 ไม่ใช่วันลงนามประกาศอิสรภาพ)

วันประกาศอิสรภาพ หรือวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันฉลองประจำปีเพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งประเทศของสหรัฐอเมริกา อดีตอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งถือเอาเหตุการณ์ที่สภาแห่งภาคพื้นทวีป (Continental Congress) หรือสภาแห่งฟิลาเดลเฟียออกประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ

สภาแห่งภาคพื้นทวีป คือที่ประชุมตัวแทนรัฐอาณานิคม 13 รัฐของอังกฤษในทวีปอเมริกา ซึ่งกลายมาเป็นสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน เหตุของการรวมตัวของสมาชิกอาณานิคมรัฐต่างๆ เนื่องมาจากความไม่พอใจการใช้อำนาจขูดรีดของเจ้าอาณานิคม

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของการต่อต้านอังกฤษ ก่อนจะมี วันประกาศอิสรภาพ คือ การประท้วงในบอสตันเมื่อสองร้อยกว่าปีก่อน

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 1773 (พ.ศ. 2316) เมื่อชาวอเมริกันที่ไม่พอใจอังกฤษ ได้ปลอมตัวเป็นชาวอินเดียแดงเผ่าโมฮอว์กบุกขึ้นเรือที่เทียบท่าที่บอสตัน และโยนหีบบรรจุชา 342 หีบของบริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของอังกฤษทิ้งทะเล เพื่อเป็นการประท้วงการเก็บภาษีชา ซึ่งชาวอเมริกันอ้างว่าเป็น “การเก็บภาษีโดยไม่มีตัวแทน” (เนื่องจากการออกกฎหมายของรัฐสภาบริเตนเพื่อบังคับใช้ในดินแดนอาณานิคมนั้นไม่มีตัวแทนโดยตรงของรัฐอาณานิคมในสภา) รวมไปถึงการผูกขาดการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐสภาบริเตนจึงได้ออกกฎหมายมาชุดหนึ่ง ซึ่งถูกเรียกกันว่าเป็นชุดกฎหมายอันไม่อาจยอมรับได้ (Intolerable Acts) ซึ่งรวมถึงพระราชบัญญัติท่าเรือบอสตัน (Boston Port Bill) เพื่อปิดท่าเรือบอสตัน จนกว่าจะมีการชดใช้ค่าเสียหายให้กับชาที่สูญเสียไป

พระราชบัญญัติรัฐบาลแมสซาชูเซตส์ ซึ่งลดสถานะความเป็นรัฐอาณานิคม และเพิ่มอำนาจให้กับข้าหลวงของอังกฤษ พร้อมกับห้ามการชุมนุมโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมไปถึงกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่อังกฤษจากการกระทำผิดอันมีโทษฉกรรจ์ในรัฐอาณานิคม โดยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ดังกล่าวเดินทางไปยังอังกฤษหรือดินแดนอาณานิคมอื่นเพื่อรับการพิจารณาคดีได้ เป็นต้น

หลังการออกชุดกฎหมายดังกล่าว ตัวแทนจากรัฐต่างๆ จึงได้เรียกประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีปครั้งที่ 1 ในฟิลาเดลเฟีย เมื่อวันที่ 5 กันยายน 1774 (พ.ศ. 2317) เพื่อหามาตรการตอบโต้และเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของที่ประชุม จึงได้มีการตกลงให้ตัวแทนแต่ละคนมีเสียงหนึ่งเสียงเท่ากัน โดยไม่คำนึงถึงขนาดของรัฐนั้นๆ

ในการประชุมครั้งที่ 1 ของสภาคองเกรส ตัวแทนซึ่งรวมถึง จอร์จ วอชิงตัน, แพทริค เฮนรี, จอห์น และซามูเอล อดัมส์, จอห์น เจย์ และจอห์น ดิกคินสัน ที่ประชุมมีความเห็นไม่ยอมรับแผนการประนีประนอมกับอังกฤษเพื่ออิสรภาพของอาณานิคม แต่ได้ประกาศหลักการว่าด้วยสิทธิส่วนบุคคลทั้งชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สิน สิทธิในการชุมนุม และการพิจารณาคดีโดยคณะลูกขุน และประณามการเก็บภาษีด้วยไม่มีตัวแทน รวมถึงการการประจำการของกองทัพอังกฤษในดินแดนอาณานิคมโดยปราศจากความยินยอม

ความขัดแย้งของทั้งสองฝ่ายค่อยๆขยายตัว จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันด้วยกำลังทหาร ซึ่งเดิมที่ประชุมของตัวแทนรัฐอาณานิคมเคยยืนยันเป็นเวลาหลายเดือนว่า พวกเขาต้องการต่อสู้เพื่อสิทธิของตนภายใต้จักรวรรดิอังกฤษ แต่กลุ่มรัฐอาณานิคมก็ค่อยๆ ตัดสัมพันธ์กับจักรวรรดิอังกฤษ จนนำไปสู่การแยกตัวเป็นอิสรภาพ

ในวันที่ 2 กรกฎาคม 1776 (พ.ศ. 2319) ที่ประชุมสภาแห่งภาคพื้นทวีป ยกเว้นตัวแทนจากนิวยอร์กที่งดออกเสียง, ต่างลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ให้แยกตัวจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนที่สองวันถัดมาในวันที่ 4 กรกฎาคม วันประกาศอิสรภาพ ได้มีการลงเสียงอนุมัติคำประกาศอิสรภาพอย่างเป็นทางการ 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

David L. Waldstreicher. “Independence Day.” Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica, inc. Web. 3 Jun 2016. <https://www.britannica.com/topic/Independence-Day-United-States-holiday>

“Continental Congress”. Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica, inc. Web. 3 Jun 2016. <https://global.britannica.com/topic/Continental-Congress>

“Intolerable Acts”.Encyclopedia Britannica. Encyclopedia Britannica, inc. Web. 3 Jun 2016. <https://global.britannica.com/event/Intolerable-Acts>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กรกฎาคม 2560