สหรัฐอเมริกาเคยประกาศสงครามสู้รบกับอังกฤษ แต่ไม่ใช่สงครามประกาศอิสรภาพ!?

สมรภูมิที่ New Orleans ค.ศ. 1815 (ภาพจาก britannica.com)

สงครามประกาศอิสรภาพเมื่อ ค.ศ. 1776 เป็นที่ทราบกันดีว่าสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษ สามารถปลดแอกและจัดตั้งประเทศของพวกเขาได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ยังมีสงครามระหว่างสองชาตินี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง และในครั้งนั้นอังกฤษถึงกับยึดและเผากรุงวอชิงตันเลยทีเดียว

สงครามแห่งปี 1812 (War of 1812) เป็นสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. 1812 โดยปัญหาระหว่างสองชาตินั้นมีที่มาจากปัญหาในทวีปยุโรปซึ่งเริ่มก่อตัวขึ้นจากสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสเรื่อยมาถึงสงครามนโปเลียน ตั้งแต่ ค.ศ. 1792–1815 แม้ในช่วงตอนต้น George Washington ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในขณะนั้นจะประกาศเป็นกลางไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในยุโรปก็ตาม

สงครามจากยุโรปข้ามไปไกลถึงอเมริกา

ฝรั่งเศสในสมัยจักรพรรดินโปเลียน (Napoléon Bonaparte) ดำเนินนโยบายโดดเดี่ยวอังกฤษ โดยใช้ “ระบบภาคพื้นทวีป” (Continental System) ซึ่งห้ามพลเมืองฝรั่งเศสและชาติที่อยู่ใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสติดต่อค้าขายกับอังกฤษเด็ดขาด อังกฤษก็ตอบโต้ในทำนองเดียวกับฝรั่งเศสเช่นกัน ระบบของนโปเลียนนี้ไม่สามารถทำลายการค้าของอังกฤษได้แต่ก็ทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์การค้าบนทวีปยุโรปไม่น้อย ขณะที่ฝรั่งเศสประสบปัญหาราคาสินค้าหลายอย่างแพงขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

ทวีปอเมริกาเหนือช่วง ค.ศ. 1790

สหรัฐอเมริกาค้าขายกับอังกฤษและฝรั่งเศสมากพอ ๆ กัน และได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าครั้งนี้ด้วยเพราะเรือของทั้งสองชาติต่างก็พยายามขัดขวางเรือพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาที่จะไปค้าขายกับคู่อริ อย่างไรก็ตาม อังกฤษเริ่มใช้มาตรการเข้มงวดกับเรือพาณิชย์อเมริกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรือที่ค้าขายในทวีปอเมริกา ในบางครั้งเรืออังกฤษก็บุกยึดเรือสหรัฐอเมริกา โดยอ้างว่าต้องการจับกุมชาวอังกฤษที่แอบหนีทัพ แต่สหรัฐอเมริกาอ้างว่าเป็นความพยายามของอังฤษที่จะจับพลเมืองชาวอเมริกันไปทำสงคราม

คู่ขัดแย้งไม่ได้มีเฉพาะอังกฤษกับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่รวมไปถึงชาวอินเดียนแดงในสหรัฐอเมริกาด้วย ชาวอินเดียนแดงบริเวณเขต Northwest Territory ตอนเหนือรอบ ๆ ทะเลสาบทั้ง 5 กังวลเรื่องความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับอังกฤษ เพราะความตึงเครียดนี้ส่งผลกระทบให้พวกเขารู้สึกว่าสหรัฐอเมริกาก้าวร้าวและต้องการขยายดินแดนมากขึ้น พวกอินเดียนแดงนำโดย Tecumseh จากเผ่า Shawnee จึงเริ่มระดมพรรคพวกจัดตั้งสมาพันธ์อินเดียนแดงเพื่อต่อต้านสหรัฐอเมริกาโดยได้รับความสนับสนุนจากอังกฤษ

สหรัฐอเมริกาประกาศสงคราม

ความตึงเครียดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนักการเมืองที่นิยมฝรั่งเศสเห็นว่าควรจะช่วยฝรั่งเศสทำสงครามกับอังกฤษ เพราะฝรั่งเศสเคยช่วยสหรัฐอเมริกาทำสงครามประกาศอิสรภาพมาก่อน ฝ่ายนิยมฝรั่งเศสคือ Republicans นำโดย Thomas Jefferson และ James Madison ขณะที่ฝ่ายนิยมอังกฤษคือ Federalists นำโดย George Washington และ John Adams

ประธานาธิบดี James Madison เห็นว่าความตึงเครียดมาถึงจุดสูงสุดจึงส่งเรื่องไปให้รัฐสภาพิจารณาประกาศสงครามกับอังกฤษ ท่ามกลางเสียงต่อต้านจากนักการเมืองอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ผลมติของสภาล่างคือ 79 ต่อ 49 ในสภาสูง 19 ต่อ 13 ซึ่งนำไปสู่ประกาศสงครามกับอังกฤษในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1812 ทั้งนี้ชาวนิวอิวแลนด์และดินแดนทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือคัดค้าน ขณะที่ชาวอเมริกันทางใต้และตะวันตกสนับสนุนสงคราม

ฝ่าย Federalists อ้างว่าการประกาศสงครามครั้งนี้เป็นแผนการของพวกลัทธิขยายดินแดน (Expansionism) โดยยกเรื่องการปกป้องสิทธิทางทะเลของชาวอเมริกันมาเป็นข้ออ้าง แต่รัฐบาลก็เดินหน้าทำสงครามเต็มกำลังและเริ่มจากการโจมตีแคนาดาซึ่งเป็นดินแดนใต้ปกครองของอังกฤษ

Tecumseh ผู้นำชาวอินเดียนแดงผู้ร่วมมือกับอังกฤษต่อต้านสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก www.britannica.com)

รัฐบาลอังกฤษประหลาดใจไม่น้อยที่สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามกับฝ่ายตน อังกฤษคอยแต่หมกมุ่นสงครามกับฝรั่งเศสบนทวีปยุโรปโดยมองว่าสงครามกับสหรัฐอเมริกานั้นเป็นเรื่องจุกจิกน่ารำคาญ ขณะที่ William Eustis รัฐมนตรีการสงครามของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าพวกเขาสามารถยึดแคนาดาได้โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร เพียงแค่ส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำที่เมืองเหล่านั้น ประชาชนจะโห่ร้องต้อนรับอย่างดี

ทว่า สงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดาใต้ปกครองของอังกฤษนั้นไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด การรบเป็นไปอย่างดุเดือด ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ผลัดกันรุกผลัดกันถอย จนกระทั่งในสมรภูมิที่ Thames (Battle of the Thames) Tecumseh ผู้นำของชาวอินเดียนแดงที่ร่วมมือกับอังกฤษต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาถูกสังหาร ทำให้ความเป็นพันธมิตรระหว่างอินเดียนแดงกับอังกฤษสิ้นสุดไปโดยปริยาย

ในขณะที่ราชนาวีอังกฤษซึ่งเข้มแข็งกว่าก็สามารถควบคุมน่านน้ำสหรัฐอเมริกาได้ในระยะเวลาเพียงแค่ประมาณ 1 ปีนับจากช่วงสงครามปะทุขึ้น ฝ่ายอังกฤษสามารถปิดล้อมน่านน้ำตั้งแต่นิวอิงแลนด์ทางตะวันออกเฉียงเหนือเรื่อยลงมาจนถึงจอร์เจียทางใต้ ภายหลังจากนโปเลียนพ่ายแพ้กองทัพของชาติพันธมิตรยุโรป ใน ค.ศ. 1814 อังกฤษจึงหันมาให้ความสนใจสงครามกับสหรัฐอเมริกา โดยส่งกองทัพขนาดใหญ่ไปสู่สมรภูมิ

อังกฤษเคลื่อนทัพสู่รอบ ๆ อ่าว Chesapeake และไม่นานก็ยกทัพไปยึดกรุงวอชิงตันได้ในวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1814 จากนั้นจึงเผาสถานที่ราชการหลายแห่ง ทั้งอาคารรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา และ “Executive Mansion” หรือทำเนียบขาว เพื่อตอบโต้ที่กองทัพสหรัฐอเมริกายึดและทำลายเมือง York หรือในปัจจุบันคือ Toronto

สมรภูมิที่ Thames กองทัพผสมอังกฤษ-อินเดียนแดงรบกับกองทัพสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก www.britannica.com)

เจรจาสันติภาพ

อังกฤษกับสหรัฐอเมริกามีความพยายามเจรจากันตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1814 ฝ่ายอังกฤษรั้งรอข่าวจากสมรภูมิที่พวกเขาหวังว่าจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองในสนธิสัญญา ขณะที่ชาวอังกฤษรู้สึกไม่พอใจชาวอเมริกันที่ทำสงครามกับฝ่ายตน แต่ความโกรธนั้นก็ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความรู้สึกของพวกเขาที่มีต่อสงครามบนทวีปยุโรปที่ดำเนินมากว่า 20 ปี

Duke of Wellington วีรบุรุษแห่งสมรภูมิ Waterloo ผู้ปราบนโปเลียนได้แนะนำให้รัฐบาลอังกฤษเปิดเจรจาสันติภาพอย่างจริงจังกับสหรัฐอเมริกา และในที่สุดได้ลงนามสนธิสัญญาเกนต์ (Treaty of Ghent) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1814 ที่เมือง Ghent  (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม) โดยไม่ได้มีฝ่ายไหนชนะ-แพ้กันอย่างเบ็ดเสร็จ ฝ่ายอังกฤษไม่ต้องการทำสงครามต่อเพราะสูญเสียทั้งกำลังคนและอาวุธไปมาก ส่วนฝ่ายสหรัฐอเมริกาคิดว่าฝ่ายตนไม่ได้เป็นฝ่ายสูญเสียและชัยชนะก็เป็นของสหรัฐอเมริกา 

Executive Mansion หรือที่รู้จักกันคือ White House หลังจากถูกเผาโดยกองทัพอังกฤษ (ภาพจาก www.britannica.com)

อย่างไรก็ตาม ข่าวการลงนามสนธิสัญญาฉบับนี้ยังไปไม่ถึงทวีปอเมริกา กองทัพของอังกฤษยังคงทำสงครามต่อไปโดยบุกโจมตี New Orleans ในวันที่ 8 มกราคม ค.ศ. 1815 แต่ก็พ่ายแพ้อย่างหนักต่อกองทัพของสหรัฐอเมริกานำโดย Andrew Jackson (อนาคตได้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาคนที่ 7) ภายหลังจากข่าวการลงนามสนธิสัญญามาถึง วุฒิสภาของสหรัฐก็ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้การรับรองสนธิสัญญานั้น

สงครามครั้งนี้มอบประโยชน์มหาศาลให้สหรัฐอเมริกาอย่างคาดไม่ถึง ชาวอเมริกันสามารถขยายดินแดนไปทางตะวันตกได้มากขึ้นโดยปราศจากอิทธิพลของอังกฤษ และลดความระแวงและหวาดกลัวที่จะกระทบกระทั่งกับชาวอินเดียนแดง ขณะที่รัฐทางใต้ก็เข้าไปมีอิทธิพลเหนือรัฐฟลอริดามากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การซื้อรัฐฟลอริดาจากสเปนในปี ค.ศ. 1821

แม้ฝ่ายอังกฤษจะสูญเสียมากกว่าและดูเหมือนว่าจะเป็นผู้แพ้สงครามเสียด้วยซ้ำ ทว่า อังกฤษก็ยังสามารถรักษาความเป็นชาติมหาอำนาจได้ต่อไป ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการกำหนดเขตแดนเพื่อป้องกันข้อพิพาทระหว่างทั้งสองดินแดนในอนาคต และมีผลให้ความสัมพันธ์และสันติภาพระหว่างสหรัฐอเมริกากับแคนาดายืดยาวมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย


อ้างอิง David S. Heidler and Jeanne T. Heidler.  (2019).  War of 1812, from www.britannica.com/event/War-of-1812


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562