แนวคิด “ชาตินิยม” ใน “บทละครพูดคำกลอน เรื่องพระร่วงฯ” ของรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ชุดพลเอกแห่งกรมทหารราบเบาเดอรัม (ภาพจาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติ รหัสภาพ 22 M00032)

เป็นที่ทราบกันว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ทรงมีพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองจำนวนมาก ทั้งทรงมีพระราชนิยมในการสอดแทรกความคิด มุมมองด้านต่าง ๆ ไว้ในงานพระราชนิพนธ์เหล่านั้น เช่นแนวคิด “ชาตินิยม” ใน “บทละครพูดคำกลอน เรื่องพระร่วงและแถลงเรื่องพระร่วงตามตำนานและโดยสันนิษฐานโบราณคดี” พระราชนิพนธ์ที่ทรงดัดแปลงจาก “บทละครร้องเรื่องพระร่วง”

บทละครพูดคำกลอน เรื่องพระร่วงฯ เป็นพระราชนิพนธ์ประเภท “กลอน” ที่สร้างตามหลักฉันทลักษณ์อย่างถูกต้อง ไพเราะ พร้อมเสนอแนวคิดในลักษณะ “ชาตินิยม” เอาไว้ในส่วนสุดท้ายของบทละครพูดคำกลอนนี้ พระราชนิพนธ์ชุดเดียวกันนี้มียังส่วนแถลงเรื่องพระร่วงตามตำนานและการสันนิษฐานโบราณคดี ซึ่งพระองค์ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า “พระร่วง” น่าจะมีตัวตนจริงและเป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งของกรุงสุโขทัย

สำหรับเนื้อหาส่วนสุดท้ายดังกล่าว มีดังนี้

“อย่าเห็นแก่ตัวมัวพะวง  ลุ่มหลงริษยาไม่ควรที่

อย่าต่างคนต่างแข่งกันแย่งดี  อย่าให้ช่องไพรที่มุ่งร้าย

แม้เราริษยากันและกัน  มิช้าพลันจะพากันฉิบหาย

ระวังการยุยงส่งร้าย  นั้นแหละเครื่องทำลายสามัคคี

คณะใดศัตรูผู้ฉลาด  หมายมาดทำลายให้เร็วรี่

ก็ยุแยกให้แตกสามัคคี  เช่นกษัตริย์ลิจฉวีวงศ์โบราณ

พราหมณ์ผู้เดียวรับใช้ไปยุแหย่  สาระแนยุญาติให้แตกฉาน

จนเวลาศัตรูจู่ไปราญ  มัวเกี่ยวกันเสียการเสียนคร

ฉะนั้นไซร้ขอไทยจงร่วมรัก  จงร่วมสมัครสโมสร

เอาไว้เผื่อมีไพรีรอน  จะได้สู้ดัสกรด้วยเต็มแรง

ไทยรวมกำลังตั้งมั่น  จะสามารถป้องกันขันแข็ง

ถึงแม้ว่าศัตรูผู้มีแรง  มายุทธ์แย้งก็จะปลาตไป

ขอแต่เพียงไทยเราอย่าผลาญญาติ  ร่วมชาติร่วมจิตเป็นข้อใหญ่

ไทยอย่ามุ่งร้ายทำลายไทย  จงพร้อมใจพร้อมกำลังระวังเมือง

ให้นานาภาษาเขานิยม  ชมเกียรติยศฟูเพื่อง

ช่วยกันบำรุงความรุ่งเรือง  ให้ชื่อไทยกระเดื่องทั่วโลกา

ช่วยกันเต็มใจใฝ่ผดุง  บำรุงทั้งชาติศาสนา

ให้อยู่จนสิ้นดินฟ้า  วัฒนาเถิดไทยไชโย”

จากกลอนนี้จะพบการเชื่อมโยงแนวคิดการเมือง ประวัติศาสตร์ มาผูกกับพระราชนิพนธ์ทางวรรณคดี โดยชูเรื่องของ “ความเป็นไทย” และ “ความสามัคคี” มีการยกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กึ่งคำสอนพุทธศาสนามาส่งเสริมแนวคิดชาตินิยม (นิยามว่าเป็น “ความสามัคคี” ของคนในชาติ) คือ เรื่องราวของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีแห่งกรุงเวสาลี แคว้นวัชชี อาณาจักรที่ปกครองแบบคณาธิปไตย (Oligarchy) ซึ่งเก่าแก่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

คณาธิปไตยเป็นระบอบที่ชนชั้นสูงหรือชนชั้นปกครองร่วมกันบริหารดินแดนเป็นหมู่คณะ คำว่า “กษัตริย์ลิจฉวี” จึงหมายถึงกษัตริย์หลายองค์ที่ปกครองแคว้นวัชชีร่วมกันอย่างกลมเกลียว ซึ่งส่งเสริมให้พวกเขาแข็งแกร่งและต้านทานการรุกรานจากอาณาจักรที่ทรงอำนาจในสมัยพุทธกาลอย่างแคว้นมคธได้ นั่นทำให้ “พระเจ้าอชาตศัตรู” กษัตริย์แห่งแคว้นมคธจึงออกอุบายเนรเทศ “วัสสการพราหมณ์” ปุโรหิตคนสนิทไปบ่อนทำลายความสมัครสมานของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี

แผนการแทรกซึมของพระเจ้าอชาตศัตรูประสบความสำเร็จ วัสสการพราหมณ์กลายเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอนเหล่าพระราชโอรสของกษัตริย์ลิจฉวี พราหมณ์ผู้นี้เริ่มจุดประกายความขัดแย้งในหมู่พระกุมารเหล่านั้น ความร้าวฉานในรุ่นลูกจึงค่อย ๆ ลุกลามไปสู่รุ่นพ่อ ไม่กี่ปีหลังอุบายบ่อนทำลายความสามัคคี แคว้นวัชชีก็แตกเป็นเสี่ยง ๆ จากภายใน กองทัพจากแคว้นมคธเข้ามารุกรานแคว้นวัชชีที่บัดนี้เหล่ากษัตริย์ลิจฉวียึดมั่นทิฐิอันหนักแน่น ไร้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อตระเตรียมรับศึกนอก กรุงเวสาลีและแคว้นวัชชีจึงตกเป็นของพระเจ้าอชาตศัตรูในที่สุด

เหตุการณ์นี้ยังถูกขยายความและถ่ายทอดเป็นบทร้อยกรองในรูปแบบ “คำฉันท์” โดยกวีชิต บุรทัต ในชื่อ “สามัคคีเภทคำฉันท์” ด้วย ด้วยหัวใจหลักของเรื่องที่ชูประเด็น “ความสามัคคี” เรื่องราวของกษัตริย์ลิจฉวีจึงถูกผลิตและประกอบสร้างทางวรรณคดีเพื่อปลูกฝังความสามัคคีโดยยกเอา “ความเป็นไทย” มากล่าวถึงควบคู่กันเพื่อสร้างชุดความคิดทำให้ผู้อ่านรวมถึงผู้รับสื่อจากบทละครพูดคำกลอนนี้เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับคนร่วมชาติอีกจำนวนหนึ่งนั่นเอง

เหตุใดแนวคิดชาตินิยมจึงถูกชูในพระราชนิพนธ์เชิงประวัติศาสตร์และวรรณคดีชิ้นนี้ ทั้งที่เรื่องราวของพระร่วงนั้นเป็นประวัติศาสตร์กึ่งตำนาน หากพิจารณาจากบริบททางสังคม ณ ขณะนั้น ถือว่ามีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างจากสภาวการณ์ความตึงเครียดของการเมืองโลก ความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างชาติมหาอำนาจตะวันตกที่นำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 รวมถึงวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่วนสภาวการณ์ในไทย รัชสมัยของรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งระหว่างพระมหากษัตริย์กับกองทัพ รวมถึงมีกระแสเกี่ยวกับการปฏิวัติ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง รัชสมัยของพระองค์ยังเกิดเหตุการณ์กบฏ ร.ศ. 130 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

กระแสการเรียกร้องประชาธิปไตยและระบบรัฐสภาในขณะนั้นยังทำให้รัชกาลที่ 6 มีพระราชนิพนธ์ประชันความคิดกับปัญญาชนสายเสรีนิยมผู้สนับสนุนระบบรัฐสภาในสยามอย่าง “เทียนวรรณ” และ “ก.ศ.ร. กุหลาบ” อยู่บ่อยครั้งด้วย

จากบริบทเหล่านี้ จะเห็นว่าสถานะและพระราชอำนาจของพระองค์ตั้งอยู่บนความไม่แน่นอนหลาย ๆ ประการ การสร้างวาทกรรมทางการเมืองเรื่อง “ชาตินิยม” จึงปรากฏในงานพระราชนิพนธ์หลายชิ้น ซึ่งแนวคิดชาตินิยมนี้เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ค่อนข้างเป็นวงแคบ ไม่เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลาย ก่อนถูกขยายความอย่างจริงจังผ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6

มีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งของรัชกาลที่ 6 เรื่อง “เมืองไทยตื่นเถิด” กล่าวถึงประเด็นชาตินิยมอย่างตรงไปตรงมาว่า “ความเป็นชาติโดยแท้นั้น ใครแสดงตนว่าเป็นอิสระแก่ตน ไม่มีความจงรักภักดีต่อผู้ใด จัดว่าผู้นั้นเป็นคนไม่มีชาติ เพราะคนเดียวหรือหมู่เดียวจะตั้งตนขึ้นเป็นชาติต่างหากไม่ได้ ถ้าเขาจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน ต่อประเจ้าแผ่นดินสยามเขาจึงเป็นไทยแท้ การแสดงความจักรักภักดีต่อชาติ หรือพระเจ้าแผ่นดินก็นับว่าผู้นั้นถือธรรมะที่ชื่อว่าภักดี”

อย่างไรก็ตาม แนวคิดชาตินิยมและ “ความเป็นชาติไทย” สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากมีวาทกรรมหรือชุดความคิดอื่นมามีอิทธิพลแทนที่ เช่น แนวคิดชาตินิยมหรือ “รัฐนิยม” ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็จะต่างไปจากของรัชกาลที่ 6 ด้วยบริบททางสังคมและการเมืองที่แตกต่างออกไป เพราะยุคนั้นรัฐบาลมีจุดประสงค์ในการส่งเสริมชาตินิยมเพื่อเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมโบราณไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ ถึงกระนั้น เป็นที่สังเกตว่า “จุดร่วม” เดียวกันของแนวคิชาตินิยมยังเป็น “ความสามัคคี” ของคนในชาติอยู่เสมอ

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง : 

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,พระบาทสมเด็จพระ. (2517). บทละครพูดคำกลอน เรื่องพระร่วงและแถลงเรื่องพระร่วงตามตำนานและโดยสันนิษฐานโบราณคดี. อนุสรณ์ คุณหญิง ชอุ่ม สุรบดินทรสุรินทรฦๅชัย (ชอุ่ม จารุจินดา). กรุงเทพฯ : อักษรสัมพันธ์.

พัชลินจ์ จีนนุ่น, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. (2560). วรรณคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์. สาขาวิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ตุลาคม 2565