เผยแพร่ |
---|
ในบรรดาพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 งานพระราชนิพนธ์เป็นพระราชกรณียกิจหนึ่งที่พระองค์ทรงใส่พระทัยยิ่ง ตลอดพระชนมายุทรงมีงานพระราชนิพนธ์มากกว่า 1,200 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนั้นมี “บทละครพูด” งานพระราชนิพนธ์ที่เป็นที่รู้จักและแพร่หลายในรัชกาลของพระองค์
รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชนิพนธ์บทละครพูดเป็นจำนวนมาก ทั้งบทละครที่ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่ และบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงแปลหรือแปลงงานจากต้นฉบับภาษาต่างประเทศ งานนิพนธ์ประเภทละครของพระองค์ได้รับอิทธิพลจากงานประพันธ์ของกวีต่างชาติหลายคน เช่น เอมิเล่ แฟแบร์ (Émile Fabre) ในเรื่อง ตั้กแตน ซึ่งมาจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส เรื่อง เลซ์ โซเตอะแรลซ์ (Les Sauterelles) หรือเรื่อง ท่านรอง ของโรเบริ์ต มาร์แชลล์ (Robert Marshall) จากต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง เซกั่น อิน คอมมานด์ (Second in Command)
วัตถุประสงค์ในการพระราชนิพน์บทละครพูด นอกจากจะใช้สำหรับเล่นละครและใช้อ่านเพื่อความเพลิดเพลินแล้ว หน้าที่สำคัญของงานบทละครพูดที่ทรงพระราชนิพนธ์คือ การถ่ายทอดแนวพระราชดำริของพระองค์ผ่านตัวละคร เพื่อสื่อสารต่อผู้อ่านหรือผู้ชม บทละครพูดที่แต่งขึ้นสามารถให้วาทกรรมเสียดสี วิพากษ์สังคมขณะนั้น, โน้มน้าวใจประชาชนให้คล้อยตาม รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ตามพระราชประสงค์
งานพระราชนิพนธ์บทละครมักปรากฏ “ทหาร” เป็นตัวละครเอกของเรื่อง หรือเป็นตัวดำเนินเรื่องที่สำคัญ ด้วยเหตุที่มีพระราชนิยมโปรดให้ผู้ชายอยู่ในสถานะนักรบ โดยมุ้งเน้นการนำเสนอภาพของความเป็นนักรบที่กล้าหาญเช่นเดียวกับอัศวินของยุโรป ลักษณะทหารในงานพระราชนิพนธ์จึงมีภาพลักษณ์กล้าหาญ สุภาพบุรุษ เสียสละ และที่สำคัญคือจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างดังต่อไปนี้
ฉวยอำนาจ รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อให้เสือป่าเล่นระหว่างการซ้อมรบเสือป่า ที่ค่ายหลวงบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2466 โดยทรงใช้นามปากกาว่า “ศรีอยุธยา” ฉวยอำนาจ เป็นเรื่องราวของนายทหารกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองกว่า “คณะกู้ชาติคอโรเนียน” ที่พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นระบบสาธารณรัฐ ด้วยสมาชิกในคณะกู้ชาติต่างมีความเห็นว่า ต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของพระเจ้าวิคเตอร์ที่ 6 แห่งคอโรเนีย แต่แท้จริงแล้วต้นเหตุของปัญหามาจากบรรดานักการเมืองที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว เรื่องจบลงด้วยพระเจ้าวิคเตอร์ที่ 6 อภัยโทษให้คณะกู้ชาติ ด้วยทรงเห็นว่ากระทำไปเพราะโดนยุยง
จะเห็นได้เค้าโครงเรื่อง ฉวยอำนาจ คล้าย ๆ กับเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ ฉวยอำนาจ สร้างภาพความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระองค์กับทหาร และอธิบายถึงความล้มเหลวงของระบบรัฐสภาที่กบฏ ร.ศ.130 ต้องการนำมาใช้แทนระบอบราชาธิปไตยในเวลานั้น
หัวใจนักรบ บทละครพูดในพระราชนิพนธ์ที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งยังถูกนำมาเล่นเป็นละครเรื่อยมา เค้าโครงเครื่องของ หัวใจนักรบ พระภิรมย์วรากร-ข้าราชการเกษียณที่มองว่า กิจการเสือป่าเป็นเรื่องเหลวไหล ผู้ที่มาเป็นเสือป่าล้วนแต่ถูกบังคับ หรือไม่ก็เข้าร่วมเพื่อหาประโยชน์ในหน้าที่ราชการ กระทั่งวันหนึ่งมีกองกำลังข้าศึกยกเข้ามา พระภิรมย์วรากรจึงได้เห็นเสือป่าป้องกันประเทศอย่างกล้าหาญ
รัชกาลที่ 6 พระราชนิพนธ์บทละครเรื่อง หัวใจรักรบ ขึ้นในปี 2456 โดยทรงมีจุดมุ่งหมายชักจูงให้คนไทยหันมาสนับสนุนกิจการเสือป่าที่พระองค์ทรงก่อตั้งขึ้นในปี 2454
นอกจากนี้ยังมีงานพระราชนิพนธ์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกิจการทหารอื่นๆ อีก เช่น เสียสละ, ท่านรอง, มหาตมะ, ผิดวินัย ฯลฯ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารให้กับพระองค์ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ผู้นำทางทหาร และให้ความสําคัญแก่พระองค์ในฐานะจอมทัพของชาติ ผู้ที่จะนำพาชาติให้รอดพ้นจากอันตราย อริราชศัตรู
งานพระราชนิพนธ์เหล่านี้ยังถ่ายทอดภาพลักษณ์ ทหารที่ดีที่จะต้องมีความจงรักภักดี และพร้อมที่จะสละชีวิตเพื่อปกป้ององค์พระมหากษัตริย์ ทรงใช้งานพระราชนิพนธ์ประเภทบทละครในการตอบโต้ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลต่าง ๆ ต่อพระราชกรณียกิจทางทหารในพระองค์ทั้งเรื่องเสือป่า การเรี่ยไรเงินเพื่อซื้อเรือหลวงพระร่วง รวมทั้งยังใช้งานเหล่านี้อธิบายถึงกระแสต่อต้านจากทหารที่เกิดขึ้นกับพระองค์ในเหตุการณ์ ร.ศ. 130 ฯลฯ
งานพระราชนิพนธ์ยังถูกใช้เพื่อสนับสนุนพระบรมโชบายทางการทหารของพระองค์ เกี่ยวกับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 กับฝ่ายสัมพันธมิตรของสยาม ด้วยความจำเป็นที่จะต้องชักจูงให้คนไทยจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินพระราชหฤทัยของพระองค์ในการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศส อันเนื่องมาจากภูมิหลังทางประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดที่ทั้งสองชาติเคยกระทําย่ำยีประเทศสยาม ให้หันมาสนับสนุนพระบรมราโชบายของพระองค์ในครั้งนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่ลุกขึ้นมาต่อต้านพระบรมราโชบาย
รัชกาลที่ 6 ยังทรงใช้งานพระราชนิพนธ์สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างพระองค์กับบรรดาทหาร และสร้างภาพลักษณ์ทหารที่ดีตามพระราชประสงค์ของพระองค์ โดยการสร้างภาพลักษณ์ให้ทหารในงานพระราชนิพนธ์เป็นผู้ที่มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรม กล้าหาญ และเสียสละไม่ว่าจะทหารของสยามหรือศัตรู และที่สำคัญที่สุดคือความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งงานพระราชนิพนธ์ประเภทบทละครพูดที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการทหารมักจบลงด้วย การกล่าวสรรเสริญพระปรีชาญาณของพระมหากษัตริย์ในฐานจอมทัพของชาติ
แม้งานพระราชนิพนธ์จะเผยแพร่กันอยู่ในวงจำกัดอย่างในกลุ่มข้าราชบริพารในพระองค์และบรรดาเสือป่า แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของพระองค์ในการสร้างภาพลักษณ์ทางการทหารผ่านงานพระราชนิพนธ์เหล่านี้
ข้อมูลจาก :
เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหารไทยสมัยรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 มิถุนายน 2559
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2562