คำว่า “ตกเขียว” มีที่มาจากไหน? ไฉนกลายเป็นคำศัพท์ของการค้าประเวณี

หญิงสาว ให้ความบันเทิง ใน ร้านคาราโอเกะ
(ภาพประกอบเนื้อหา) หญิงสาวให้บริการความบันเทิงแก่ลูกค้าในร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2541 (Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

คำว่า “ตกเขียว” มีที่มาจากไหน? เหตุใดจึงกลายเป็นคำศัพท์ “ค้าประเวณี”

ฝรั่งพูดกันมานาน อาจจะนานหลายศตวรรษแล้วถึงอาชีพที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และเป็นที่รู้ว่าอาชีพเก่าแก่ที่สุดในโลกนั้นคือ โสเภณี เมื่อเป็นดังว่านี้ก็แสดงว่าอาชีพโสเภณีนั้นเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ อาชีพโสเภณีจึงไม่ใช่วัฒนธรรมของชนชาติใดชาติหนึ่ง แต่กล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของโลก

วัฒนธรรมนี้ก็เหมือนวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่มีการคลี่คลาย ปรับเปลี่ยนกันมา จนล่วงมาถึงสมัยปัจจุบันที่เป็นอยู่ แต่ละชนแต่ละชาติต่างก็ผสมเสริมวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตัวเองเข้าไปในวัฒนธรรมนั้น วิธีการในการดำเนินอาชีพของโสเภณีแต่ละชาติแต่ละภาษาจึงมีรายละเอียดแตกต่างกันไป

ในรายละเอียดที่แตกต่างกันไปของวัฒนธรรมนี้อาชีพนี้ ต้องถือว่าเมืองไทยของเราเป็นที่สุดของที่สุดที่สุดที่พัฒนาในสาขานี้

ผมเข้าใจว่ายังไม่มีชนชาติไหนในโลกที่พัฒนามาจนถึงขั้น “ตกเขียว” เหมือนของไทยเรา

สำนวน “ตกเขียว” เป็นสำนวนเก่า แต่จะเก่าแค่ไหนผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน จำได้ว่าสำนวนนี้ใช้มากเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน [นับจาก พ.ศ. 2537 – กอง บก.ออนไลน์] สมัยที่กระแสฝ่ายซ้ายกำลังไหลเชี่ยว วิธีการที่นายทุนไปซื้อข้าวจากชาวนานั้นเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าไร้มนุษยธรรม คือ วิธีตกเขียวที่ว่านี้

เมื่อชาวนาปลูกข้าวเป็นต้นกล้าขึ้นมาแล้วเกิดขาดเงิน ข้าวในนานั้นก็เป็นหลักทรัพย์ที่จะใช้รับประกันได้เมื่อไปหยิบยืมเงินจากนายทุนหรือใครอื่นที่มีเงิน โดยมีลักษณะสัญญาว่าจะใช้คืนด้วยข้าว

สำนวนตกเขียวอาจจะมาจากคำว่า “ตกข้าว” ซึ่งเป็นคำเก่า มีความหมายว่าให้เงินไปก่อนแล้วชำระคืนด้วยข้าว ซึ่งในการนี้ ชาวนาก็จะดูแลข้าวของตนไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและตวงข้าว กู้ยืมเงินมาเท่าไรก็คิดจากราคาข้าวในขณะนั้น เอาเงินมาหนึ่งพัน ถ้าข้าวขณะนั้นถังละหนึ่งร้อยบาทก็ใช้คืนด้วยข้าวสิบถัง

ในกรณีนี้ชาวนาอาจจะเหลือข้าวไว้เป็นของตัวเองได้

แต่การตกเขียวนั้นหมายความว่า ข้าวทั้งหมดในผืนนาที่ตกลงกันจะต้องเป็นของเจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะส่งคนมาดูและเก็บเกี่ยว วิธีนี้ชาวนาจะไม่เหลือข้าวของตนเองเลย จะได้ข้าวมากหรือน้อย ก็จะตกเป็นของเจ้าหนี้ทั้งหมด

ในสมัยดังว่าถึงได้ประณามกันมากว่าไร้มนุษยธรรม

“ตกเขียว” แตกต่างจาก “ตกข้าว” ดังนี้ คำว่าตกเขียว จึงเป็นไปได้ว่าจะมาจากคำว่า “ตกข้าวเขียว” แต่คำหรือสำนวนตกเขียวนี้ก็ไม่ได้หมายถึงข้าวเสมอไป ผลไม้อื่น ๆ หลายชนิด ก็มีวิธีการตกเขียวด้วยเหมือนกัน พรรคพวกคนหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ไร่แตงโมบอกว่า คนทำไร่แตงโมที่สวนแตง จังหวัดสุพรรณบุรี ก็มีวิธีการเดียวกัน และเรียกว่าตกเขียวเหมือนกัน

วิธีการนี้เป็นวิธีการปกติที่ใช้อยู่ทั่วไป ผลไม้บางอย่างเช่น เงาะบางทีนายทุนหรือพ่อค้าก็ใช้เหมาต้นเอาตอนที่เงาะเริ่มติดผล แต่อาจจะไม่เรียกว่าตกเขียว

สำนวนตกเขียวกลับมาเป็นที่ฮือฮากันอีกครั้งหนึ่งหลังจากหลงลืมกันไปนาน โดยการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเกี่ยวกับเรื่องการค้าผู้หญิง คือซื้อผู้หญิงเพื่อนำไปประกอบอาชีพโสเภณี วิธีการก็คือติดต่อกับพ่อแม่ของเด็กผู้หญิง ให้เงินล่วงหน้าไปก่อน โดยมีข้อผูกมัดว่าเมื่อเด็กเรียนจบชั้นประถมหกก็จะมารับตัวไป

วิธีการเดียวกันกับตกเขียวโดยแท้ และออกจะไร้มนุษยธรรมอย่างแท้จริง แท้กว่าตกเขียวที่ตกข้าวมาก

ข่าวฮือฮากันขึ้นมาเมื่อมีรถตู้ไปรับเด็กถึงโรงเรียนในวันสอบไล่วันสุดท้าย

การใช้เงื่อนไขว่าให้เด็กสอบไล่ ป. 6 เสร็จแล้วจะเข้าถือสิทธิ์ในตัวเด็กนั้นเป็นธรรมชาติ เพราะการศึกษาภาคบังคับนั้น บังคับให้เด็กต้องเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 6 และเมื่อเด็กจบชั้นประถมปีที่ 6 ก็จะได้เวลาแตกเนื้อสาวใช้การได้พอดี เอาตัวไปก่อนหน้านั้นก็ดูจะเร็วเกินไป

ที่ว่าใช้ได้พอดีนี้หมายถึงใช้อย่างเขียว ๆ นะครับ ยังไม่สุกยังไม่แก่ เด็กก็คงจะอายุในราวสิบสามสิบสี่ขวบ เป็นมะม่วงก็เป็นมะม่วงขบเผาะ ไม่ใช่มะม่วงปากตะกร้อ

โดยปกติแล้วมะม่วงขบเผาะไม่น่าจะมีราคามากกว่ามะม่วงปากตะกร้อ เพราะมะม่วงปากตะกร้อเป็นมะม่วงที่กำลังได้ที่ สมควรจะสอยมากินได้ตามธรรมชาติ ได้น้ำได้เนื้อได้รสอย่างที่พันธุ์มะม่วงแต่ละพันธุ์พึงเป็น แต่มะม่วงขบเผาะนั้นเป็นมะม่วงลูกเล็ก ๆ ยังดิบจัดเพราะโตไม่ได้ที่ คนเอามากินก็กินเพื่อจะได้ขบให้เสียงดังเผาะเพราะความกรอบ รสมะม่วงที่ได้ที่นั้นยังไม่มี การกินมะม่วงขบเผาะจึงต้องจิ้มกะปิจิ้มเกลือหรือจิ้มน้ำพริก

มะม่วงขบเผาะนั้นไม่มีราคาและหาไม่ยาก แต่โสเภณีวัยขบเผาะนั้นหายากและมีราคา ยิ่งนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน [พ.ศ. 2537 – กองบก.ออนไลน์] เอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามโสเภณีเด็กก็ดูจะยิ่งทำให้สาววัยขบเผาะยิ่งมีราคา

ของผิดกฎหมายไม่ได้มีดาษดื่นในท้องตลาดนะครับ ราคามันแพงโดยธรรมชาติ และลูกค้าที่มีรสนิยมเจาะจงว่าจะแดกมะม่วงขบเผาะ ไม่เอามะม่วงสุก ไม่กินมะม่วงปากตะกร้อ ก็มีอยู่มาก

เมื่อประมาณเกือบ ๆ สามสิบปีก่อน [นับจาก พ.ศ. 2537 – กองบก.ออนไลน์] ซ่องโสเภณีที่ถนนนอกเมืองของจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นซ่องที่อึกทึกครึกครื้นมาก เรียกว่าทั้งถนนนั้นเป็นซ่องโสเภณีแทบทุกบ้าน ผู้หญิงที่มาหากินเกือบทั้งหมดมาจากจังหวัดทางภาคเหนือ ผมเจอเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอยู่ในซ่องด้วย ตัวเล็กจิ๋วหน้าสวยจัดเลยทีเดียว ทุกวันนี้ผมก็ยังจำหน้าสวยนั้นได้ อายุสิบสองเท่านั้นเอง หาครั้งละหนึ่งร้อยบาท ในขณะที่ราคาทั่วไปอยู่ยี่สิบสามสิบบาท

ผมไปเห็นแล้วกลับมาได้ไม่ถึงอาทิตย์หรอกครับ ตำรวจ กองปราบฯ ก็บุกเข้าไปจับ เป็นข่าวใหญ่ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทีเดียว ยังจำได้ว่าเรื่องเด็กอายุสิบสองเป็นที่พูดถึงและในการจับกุมครั้งนั้นมีเด็กอายุสิบสองอยู่สองคน

เล่าตรงนี้เพื่อให้เห็นว่าวิธีการในการซื้อขายนี้มีมานานมาก แล้วในบ้านเรา รายละเอียดของวิธีการมีมากมายและพัฒนามาเรื่อย ๆ มีการสืบทอดวัฒนธรรมนี้มาและปรับปรุงพัฒนามาเป็นระยะ ๆ เพื่อหาวิธีการที่ได้ผลและเป็นประโยชน์มากที่สุด

ไม่อย่างนั้นเขาคิดวิธีการตกเขียวขึ้นมาไม่ได้ดอกครับ วิธีการอันสร้างสรรค์ทันสมัยใหม่ล้ำยุคอย่างนี้ มีคนไทยเท่านั้นแหละครับที่คิดได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ตกเขียว” เขียนโดย วาณิช จรุงกิจอนันต์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 พฤษภาคม 2565