ผู้เขียน | กลับบางแสน |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อมนุษย์กิน ผลไม้ต้องห้าม (forbidden fruit) จาก “สวนอีเดน” (Garden of Eden) ได้ทำให้ “มนุษ” ถูกขับไล่ออกจากสวนอีเดนของ “พระเจ้า” และไม่มีชีวิตเป็นอมตะอีกต่อไป ดังนั้นมนุษย์จึงต้องสืบพันธุ์เพื่อให้เผ่าพันธุ์ตัวเองอยู่ต่อไปได้ การฝ่าฝืนกินผลไม้ต้องห้ามและการมีเพศสัมพันธ์ จึงเท่ากับการไม่เชื่อฟังพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้น การร่วมเพศ จึงเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นขบถของมนุษย์ต่อพระผู้เป็นเจ้า
บทความ จะโดดเดี่ยวและเหงาหรือไม่ ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 43 ฉบับที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ได้อธิบายถึงการที่มนุษย์ถูกไล่ออกจากสวนอีเดน เปรียบดั่งการออกไปจากอ้อมกอดของพระเจ้า ดังนั้น มนุษย์จึงโหยหาที่จะกลับสู่อ้อมกอดของพระเจ้าอยู่เสมอ แต่การจะเข้าสู่อ้อมกอดพระเจ้าได้ต้องโดดเดี่ยว และห้ามมีเพศสัมพันธ์ มีรายละเอียดดังนี้
ในกรอบคิดของคริสต์ศาสนา “การถูกขับไล่” จาก Garden of Eden ทำให้มนุษย์ต้องร่วมเพศ มนุษย์มีบาปกำเนิด (original sin) และต้องหลุดออกจากอ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์โหยหาที่จะกลับไปอยู่ในอ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้า เพราะแม้แต่วาระสุดท้ายบนไม้กางเขนของพระเยซูก็ยังพูดถึงการที่พระผู้เป็นเจ้าได้ละทิ้งมนุษย์ไป
ในพระคัมภีร์ไบเบิล Matthew 27:46 และ Mark 15:34 ประโยค “My God, my god, why have you forsaken me?” “พระเจ้า พระเจ้า ทำไมถึงทอดทิ้งข้าไป?” เป็นประโยคที่ส่งเสียงดังกึกก้องในสำนึกของคริสต์ศาสนา ยามลำบากกำลังจะตายกลับไม่มีใครช่วย ทำไมถึงปล่อยให้ชีวิตต้องทนทุกข์ทรมานอย่างโดดเดี่ยว?
การได้กลับไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระผู้เป็นเจ้าเป็นสิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น มนุษย์ของชาวคริสต์เฝ้าคอยวันเวลานั้นมาเป็นเวลานานแสนนาน โดยมนุษย์ก็ยังคงจะต้องรอคอยอย่างมีความหวัง การไร้ซึ่งความหวังบ่งบอกถึงการมองโลกในแง่ร้าย (pessimism)
การมองโลกในแง่ร้ายเท่ากับเป็นการปฏิเสธคริสต์ศาสนาว่าทางรอด (salvation) นั้นเป็นไปไม่ได้ การมองโลกในแง่ดี (optimism) หรือจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นมนุษย์ที่ดีของคริสต์ศาสนา การคิดบวก (positive thinking) จึงเป็นพัฒนาการที่สำคัญของโลกคริสต์ศาสนา เมื่อคิดบวกแล้วชีวิตจะได้ไม่โดดเดี่ยว คิดบวกแล้วจะเพิ่มความหวังและความมั่นใจให้กับชีวิต
มนุษย์ผู้โดดเดี่ยวเหงาเศร้าเพราะการถูกขับไล่ด้วยน้ำมือของพระผู้เป็นเจ้านั้นเป็นชีวิตที่เปรียบประหนึ่งถูกสาป ความไม่เป็นอมตะของมนุษย์มีทางออกด้วยการร่วมเพศ พร้อมๆ กันนั้นหนทางสำคัญอันหนึ่งที่จะไม่โดดเดี่ยวเหงาของมนุษย์ก็คือ “การร่วมเพศ”
การสืบเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ยังแสดงผ่านความรักที่มีให้กันและกัน แนวความคิดของคริสต์ศาสนาที่ให้ความสำคัญกับ “ความรัก” ที่มีต่อกันและกัน ดูจะเป็นการทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปของมนุษย์ การทดแทนของมนุษย์ที่เข้ามาแทนความรักของพระผู้เป็นเจ้ากลายเป็นเพียงสภาวะที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักเต็ม
การมีมนุษย์คนอื่นๆ อยู่ด้วยไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความโดดเดี่ยวเหงา ท่ามกลางผู้คนในชีวิตที่มากมาย ก็ไม่ได้ทำให้มนุษย์บางคนหายเหงาและรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะการใช้ชีวิตคู่ก็ไม่ได้ทำให้หายโดดเดี่ยวและเหงาได้…
ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังไม่สามารถคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้าได้ ความเหงาโดดเดี่ยวคือการดำรงอยู่ของชีวิตที่ยังไร้พระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ยิ่งมีความโดดเดี่ยวเหงามากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเท่านั้น หนทางไปกลับไปสู่พระผู้เป็นเจ้ายิ่งเป็นไปทำให้ความโดดเดี่ยวเหงาเป็นอะไรที่โหยหามากยิ่งขึ้น ยิ่งติดอยู่กับความเหงาโดดเดี่ยวมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องการใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้ามากขึ้นเท่านั้น
ความเหงาและโดดเดี่ยวเปรียบเสมือน “หลุมดำ” (Black Hole) ของมนุษย์ที่โหยหาอ้อมกอดของพระผู้เป็นเจ้า อ้อมกอดที่ไม่สามารถที่จะมีอะไรอื่นทดแทนได้ “หลุมดำ” ที่ดูดทุกๆ คนให้จมดิ่ง ลงไปพร้อมกับความหวังที่จะคืนดีกับพระผู้เป็นเจ้า ประหนึ่งการรอคอยความรักที่จากไปแล้วให้หวนกลับคืนมายิ่งรอคอยยิ่งกระวนกระวายกับการที่ยังไม่มา ยิ่งไม่มีมายิ่งดูดดื่ม ยิ่งดูดดื่มยิ่งเสพติด
ความเหงาและโดดเดี่ยวพร้อมเสมอที่จะกลายมาเป็นสิ่งเสพติด การรอคอยด้วยความโดดเดี่ยว เหงาและ เศร้ากลับแสดงถึงความเข้มแข็งของมนุษย์ที่รอการกลับไปสู่อ้อมอกของพระผู้เป็นเจ้า การยืนหยัดรอคอยกันมาเป็นพันๆ ปีพร้อมกับความโดดเดี่ยวและเหงากลายมาเป็นคนพิเศษ เช่น นักบุญคนพิเศษ ผู้แข็งแกร่งที่เผชิญหน้ากับความเหงาเศร้าและสิ้นหวังทางศาสนาเหล่านี้ก็พร้อมเสมอที่จะกลายเป็นวีรบุรุษหรือวีรสตรี…..
ความเหงาและโดดเดียวเสริมสร้างหนทางของพระผู้เป็นเจ้าให้กับมนุษย์ การเลือกชีวิตที่จะอยู่คนเดียวพร้อมที่จะให้ทางสว่างกับมนุษย์แสงสว่างที่บอกว่าจะต้องหวนกลับคืนไปสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับพระผู้เป็นเจ้า การใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจึงพร้อมเสมอที่จะเป็นวิถีชีวิตแห่งคุณธรรม (virtuous life)
การใช้ชีวิตที่โดดเดี่ยวของพระเยซูในทะเลทราย 40 วันนั้นเป็นทางเลือกชีวิตสันโดษในทะเลทรายเป็นชีวิตที่ได้มาจากการเลือกเลียนแบบพระเยซูของ St. Anthony ในศตวรรษที่ 3 และ 4 ผู้ได้กลายมาเป็นนักบุญผู้อดทนกับชีวิตที่สุดแสนจะทรมานในทะเลทราย นักบุญผู้นี้สามารถตัดขาดจากมนุษย์คนอื่นๆ ได้ ครอบครัวจึงเป็นส่วนเกินที่ต้องตัดทิ้งให้ได้ก่อน
สำหรับในกรอบคิดของคริสต์ศาสนาการละทิ้งครอบครัวเพื่อพระเยซู พระผู้เป็นเจ้าถือเป็นคุณธรรมอันสูงส่ง เช่น Luke 14:26 “ถ้าผู้ใดติดตามเราโดยไม่รักเรามากกว่าบิดามารดาภรรยาบุตรที่น้องชายหญิงและแม้กระทั่งชีวิตตัวเองผู้นั้นเป็นสานุศิษย์ของเราไม่ได้” การละทิ้งครอบครัวเป็นกลไกสำคัญของศาสนาใหญ่ๆ …
ชีวิตที่โดดเดี่ยวและเหงาทำให้มนุษย์เลือกที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ มนุษย์จำนวนหนึ่งเลือกที่จะเปิด “ประตู” ชีวิตตัวเองให้เชื่อมต่อกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วย เช่น ความรัก เป็นต้น กรอบความคิดของความโดดเดี่ยวและเหงาทำให้ต้องแสวงหาคนอื่นๆ…
สำหรับในคริสต์ศาสนา การร่วมเพศที่ชั่วร้ายสามารถกระทำได้แต่ในสถาบันครอบครัวเท่านั้น สำหรับการละทิ้งการร่วมเพศก็เท่ากับเป็นการละทิ้งการมีครอบครัว
ทั้งนี้นับตั้งแต่ St. Augustine ผู้วางแนวทางให้กับวิถีปฏิบัติของคริสต์ศาสนานั้นถือว่า การร่วมเพศ ในสถาบันครอบครัวที่ต้องมีการแต่งงาน นั้นมีเป้าหมายอยู่ที่การมีลูก (procreation) น้ำอสุจิทุกคนจึงต้องหลั่งเข้าไปในช่องคลอดเท่านั้น นอกเหนือไปจากนี้เป็นบาป
อ่านเพิ่มเติม :
- แดง-เขียว สีแห่งปีศาจและความชั่วร้าย ในสายตาของชาวคริสต์
- เรื่อง “เพศ” ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม “ด้านมืด” ของสังคมยิว
- ประวัติศาสตร์ “การถึงจุดสุดยอด” และ “ฮิสทีเรีย” กระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่ในร่างสตรีเพศ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤษภาคม 2565