ประวัติศาสตร์ “การถึงจุดสุดยอด” และ “ฮิสทีเรีย” กระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่ในร่างสตรีเพศ

เซ็กซ์ทอย
ภาพ SEX TOY (FRANCE - SEX - OFFBEAT - WOMEN - FRANCE - JAPAN / AFP )

ประวัติศาสตร์อารมณ์ทางเพศ “การถึงจุดสุดยอด” และ “ฮิสทีเรีย” การกดทับของกระบวนทัศน์ “ชายเป็นใหญ่” ในร่างสตรีเพศ

วันนี้คุณมีอารมณ์ทางเพศแล้วหรือยัง?

คำถามนี้คงไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรในปัจจุบัน แต่หนังสือเทคโนโยนี ของ Rachel P. Maines
ผู้สมาทานแนวคิดเฟมินิสต์ได้ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การกดทับเรื่อง ไวเบรเตอร์ (เครื่องสั่นอวัยวะเพศ) โรคฮิสทีเรีย และออกัสซั่มของผู้หญิง (การถึงจุดสุดยอด)

Advertisement

ซึ่งจะเห็นได้ว่าในโลกตะวันตกส่วนใหญ่ถูกครอบงำด้วยแนวคิดปิตาธิปไตย (แนวคิดชายเป็นศูนย์กลาง) ในทุกระดับชั้นและทุกวงการเพื่อรักษาอำนาจนำของเพศชาย โดยที่ผู้ชายจะรักษากระบวนทัศน์ชุดนี้เพื่อที่จะไม่ให้ความคิดชายเป็นใหญ่นั้นถูกสั่นคลอน ซึ่งรวมถึงเรื่องเพศด้วย

สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การร่วมเพศระหว่างชาย-หญิง ถูกครอบงำโดยกระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่ที่ว่าด้วย ผู้ชายเท่านั้นที่จะต้องถึงจุดสุดยอดทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีลูกนั้นต้องการการหลั่งอสุจิเข้าไปยังช่องคลอด ฉะนั้นผู้ชายจึงต้องถึงจุดสุดยอดทุกครั้งเป็นผลให้การถึงจุดสุดยอดของเพศหญิงถูกละเลยและไม่ถูกให้ความสำคัญ เพราะการถึงจุดสุดยอดของเพศหญิงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์

ผนวกกับกระบวนทัศน์เช่นนี้จึงสร้างความคิดที่ว่าการจะถึงจุดสุดยอดของเพศหญิงจะต้องผ่านการสอดใส่เท่านั้น (อวัยวะเพศชายเข้าไปในอวัยวะเพศหญิงเท่านั้น) นอกเหนือจากการสอดใส่ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตัวเอง การถูคริสตอริส ล้วนแล้วแต่ถูกกระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่ที่ขยายไปทุกพื้นที่สังคมโดยเฉพาะวงการแพทย์ได้ประกอบสร้างชุดความคิดที่ว่าการที่ผู้หญิงถึงจุดสุดยอดโดยไม่สอดใส่นั้น ผิดศีลธรรมและ “ป่วย” ต้องได้รับการรักษา

สอดคล้องกับแนวคิดทางศาสนา ดังที่ ธเนศ วงศ์ยานนาวา อธิบายว่า การร่วมเพศกันระหว่างชายหญิงนั้นเป็นการ “ผลิต” มากกว่า “ความรื่นรมย์” กล่าวคือ ฐานความคิดของศาสนาคริสต์ได้กล่าวถึงอดัมกับอีฟที่กระทำความผิดในสวนเอเดนโดยการแอบไปกินผลไม้ ทำให้จากเดิมที่ทั้งสองเปลือยกายโดยที่ไม่มีความละอายต่อกัน แต่เมื่อทำผิดกฎจึงเกิดความละอายและเกิดอารมณ์ทางเพศซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ทั้งสองถูกขับออกจากสวนเอเดน เป็นผลให้รากฐานความคิดเช่นนี้เรื่องเพศจึงกลายเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย

ฉะนั้นการร่วมเพศจึงเป็นสิ่งที่สกปรก แต่ขณะเดียวกันถ้าไม่มีการร่วมเพศอาณาจักรของพระเจ้าก็จะล่มสลายไป ดังนั้นการร่วมเพศจึงเป็นการเน้นการผลิตมากกว่าความรื่นรมย์ ทางเดียวในการร่วมเพศคือการหลั่งอสุจิไปในช่องคลอดเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ไม่ว่าจะเป็นการหลังอสุจิภายนอกช่องคลอด การช่วยตัวเอง การมีเพศสัมพันธ์กับวัตถุ จึงถือว่าเป็นสิ่งที่ชั่วร้าย

แน่นอนว่าการร่วมเพศแบบสอดใส่ จากงานวิจัยนั้นผู้หญิงถึงจุดสุดยอดยาก แต่วงการแพทย์ยังยืนยันว่าการถึงจุดสุดยอดของผู้หญิงนั้นเกิดได้จากการสอดใส่โดยไม่ต้องถูคริสตอริส และการสอดใส่ที่ต้องอาศัยอวัยวะเพศชายยังทำให้สุขภาพดี ส่งผลให้ผู้หญิงในประวัติศาสตร์ตะวันตกนั้นไม่ถึงจุดสุดยอดเป็นจำนวนมาก และคนที่ไม่ถึงจุดสุดยอดนั้นล้วนถูกผลักให้การไม่ถึงจุดสุดยอดไม่ใช่เรื่องเพศแต่เป็นเรื่องแพทย์ เป็นการผลักภาระของผู้ชาย

โดยวงการแพทย์ได้ประกอบสร้างว่าผู้หญิงที่ไม่ถึงจุดสุดยอด ส่วนใหญ่จะมีอาการวิกลจริต
ประสาทเปลี้ย งุ่นง่าน (ทั้งๆ ที่จริงเเล้วเป็นแค่อารมณ์ความต้องการทางเพศ ที่อวัยวะเพศชายไม่สามารถทำให้พวกเขามีความสุขได้ต่างหาก) คือผู้ป่วย จึงทำให้เพศหญิงถูกสร้างว่าเป็นเพศที่ไม่ได้มีอารมณ์ทางเพศ อาการดังกล่าวคืออาการป่วย ฮิสทีเรีย

โดยผู้เขียนหนังสือเล่มนี้วิเคราะห์ว่า ทุกวงการที่ชายเป็นใหญ่ต้องรักษาสถานะชายเป็นใหญ่ไว้ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ของความเป็นชาย นั่นคือ อวัยวะเพศชาย หากผู้หญิงสามารถถูคริสตอริสด้วยตัวเองโดยที่ไม่โดนกล่าวหาว่าป่วย ผนวกกับการถึงจุดสุดยอดด้วยตัวเองได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้ชาย (อวัยวะเพศชาย) ในการสอดใส่เพื่อความสุขและการถึงจุดสุดยอด

เพราะฉะนั้น ผู้ชายต้องทำให้การถูคริสตอริสด้วยตัวเองเป็นเรื่องที่ผิด และจำเป็นที่การถูคริสตอริสและอวัยวะเพศจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ในกระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่เท่านั้น เพราะฉะนั้น เมื่อผู้หญิงที่มีอารมณ์ทางเพศแต่ถูกผลักว่าเป็นโรคจึงต้องรักษาบำบัดผ่านแพทย์เท่านั้น อาทิ การคลึงอวัยวะเพศ นวดน้ำมันที่อวัยวะเพศ ฉีดน้ำที่อวัยวะเพศ (วารีบำบัด) ซึ่งคำแนะนำของหมอก็คงยังวงเวียนในกระบวนทัศน์ชายเป็นใหญ่ คือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายแบบสอดใส่จะช่วยรักษาโรคฮีสทีเรีย

ถึงแม้ต่อมาศตวรรษที่ 19 จะมีการเปลี่ยนความคิดอย่างมหาศาล นั่นคือ การเกิดสำนักซิกมุนฟรอยด์ บิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ซึ่งอธิบายว่าผู้หญิงก็มีอารมณ์ทางเพศได้เช่นเดียวกับผู้ชายและสามารถถึงจุดสุดยอดด้วยการถูคริสตอริสได้ แต่ก็ยังอยู่ในกระบวนทัศน์ที่ว่าการรักษาโรคที่ดียังอยู่ที่การเอาอวัยวะเพศชายเข้าไปอยู่ในอวัยวะเพศหญิง (สอดใส่)

นอกจากนี้ผู้เขียนยังอธิบายว่า ฟรอยด์ เองก็ยังติดอยู่ในแนวความคิดชายเป็นใหญ่ที่พยายามอธิบายถึงอารมณ์ทางเพศของผู้หญิงอย่างสลับซับซ้อนว่าเกิดจากปมในวัยเด็ก ทั้งๆ ที่สามารถอธิบายง่ายๆ ว่าผู้หญิงถูคริสตอริสนั้นเกิดจากความต้องการทางเพศและความเพลิดเพลิน แต่เขาเลี่ยงที่จะอธิบาย

ไวเบเตอร์ (เครื่องสั่นอวัยวะเพศ) ในตอนนั้นมิใช่ sex toy อย่างที่เข้าใจในปัจจุบัน เพราะสิ่งประดิษฐ์นี้ถูกสร้างขึ้นจากแพทย์เพื่อรักษาผู้หญิงที่ถูกกล่าวหาว่าป่วย เพราะไม่ถึงจุดสุดยอดหรือมีอารมณ์มากเกินไป แต่เมื่อผู้หญิงมารักษาการคลึงอวัยวะเพศแล้วถึงจุดสุดยอดนั้นใช้เวลานาน แพทย์จึงสร้างเครื่องทุ่นแรงเพื่อให้การรักษานั้นรวดเร็วขึ้น ซึ่งสร้างรายได้ให้กับวงการแพทย์เป็นอย่างมาก

แต่ด้วยกระบวนทัศน์ “ชายเป็นใหญ่” การใช้เครื่องสั่นอวัยวะเพศต้องให้แพทย์ทำเท่านั้น เพื่อที่จะรักษามายาคติที่ว่าการสอดใส่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายตลอดไปเพื่อจะได้เสพสมความสุข แต่ต่อมาเมื่อเครื่องสั่นอวัยวะเพศวิวัฒนาการโดยมีรูปแบบสะดวก พกพาง่าย มันจึงกระจายไปยังทั่วทุกมุมบ้าน เห็นได้จากมันมีมาก่อนเตารีดไฟฟ้าหรือเครื่องดูดฝุ่นไฟฟ้าก่อนเสียอีก มันจึงทำให้ผู้หญิงค้นพบอะไรบางอย่างที่ว่า เราก็มีความสุขด้วยตัวเองได้ และเราก็ไม่ได้ป่วยนี้หว่า เราก็แค่มีอารมณ์ทางเพศ แล้วมันผิดตรงไหน

ถึงแม้ภายหลังหนังสือประวัติศาสตร์ ไวเบรเตอร์ ฮิสทีเรีย และออกัสซั่มของผู้หญิง ของ Rachel P. Maines จะถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรอย่างงานของ Hallie Lieberman, Eric Schatzberg ในบทความ A Failure of Academic Quality Control: The Technology of Orgasm ในเรื่องของการตีความและการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ แต่หากดูบริบทในเชิงการเมืองที่เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในประเด็นทางเพศหนังสือเล่มนี้ก็ยังคงน่าสนใจและน่าอ่านอยู่ดี

วันนี้คุณมีอารมณ์ทางเพศแล้วหรือยัง ?

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ธเนศ วงศ์ยานนาวา. (2562). ว่าด้วยเพศ: จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ และหุ่นยนต์. (พิมพ์ครั้งที่ 4). กรุงเทพฯ : สมมติ.

Hallie Lieberman, Eric Schatzberg. A Failure of Academic Quality Control: The Technology of Orgasm

Rachel P. Maines. (2559). เทคโนโยนี : ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์ ฮิสทีเรีย และออร์กัสซั่มของผู้หญิง (แปลโดย นภ ดารารัตน์). กรุงเทพฯ : พารากราฟ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 มิถุนายน 2565