ซาดิสม์-มาโซคิสม์ มาจากไหน? ถกสมมติฐานเหตุผลที่คนเป็นซาดิสม์

พฤติกรรม ซาดิสม์ มาโซคิสม์
(ภาพซ้าย) การ์ตูนโดย Joe Shuster (Nights of Horror (magazine)) [Public domain], via Wikimedia Commons (ขวา) ภาพวาดมาร์ควิส เดอ ซาด (1740-1814) [Public domain/Mary Evans]

ซาดิสม์ (sadism) และมาโซคิสม์ (masochism) ทั้งคู่เป็นพฤติกรรมที่จัดอยู่ในขั้นกามวิปริต (sexual perversion) อย่างแรกพบมากในบุรุษ อย่างหลังพบมากในสตรี ทั้ง 2 อย่างอาจรวมเกิดในบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เรียกว่า พฤติกรรมซาโด-มาโซคิสม์ (sado-masochism)

มีคำจำกัดความสั้นๆ ของพฤติกรรมทั้งสองนี้ว่า

ซาดิสม์ เป็นความแปรปรวนทางเพศที่เกิดจากความพึงพอใจในการทำให้ผู้อื่นเจ็บปวด (เป็นความสะใจในกรณีใช้ความก้าวร้าวทางกาย หรือทางวาจา ทำให้คู่หรือผู้เกี่ยวข้องเจ็บปวด แม้มิใช่เรื่องเซ็กซ์โดยตรงก็ตามบางทีถือว่าผู้นั้นมีแรงผลักดันซาดิสม์อยู่

มาโซคิสม์ เป็นความแปรปรวนทางเพศที่บุคคลได้รับความพึงพอใจจากการถูกทำให้เจ็บปวด

ซาดิสม์เป็นคำที่ได้มาจากชื่อของ มาร์ควิส เดอ ซาด (Marquis de Sade 1740-1814) ผู้พึงพอใจในอารมณ์ทางเพศที่ได้จากการกระทำการต่างๆ อย่างดุดันต่อเหยื่อของตน อย่างไรก็ตาม กระทำการอย่างดุดันหรือซาดิสม์มีความหมายกว้าง แต่ในที่นี้หมายถึงการกระทำอย่างดุดันเพื่อความพึงพอใจหรือสะใจทางเพศ ผ่านการทำโทษอย่างดุดันเจ็บปวดทางกายหรือทางใจ หรือโดยการลบหลู่ความเป็นมนุษย์ต่อคู่ร่วมเพศของตน

การทำโทษอย่างดุดันทางกายให้ได้รับความเจ็บปวด อาจกระทำโดยการเฆี่ยน กัด หรือหยิก หรือทุบถองตบตีต่างๆ จากเจ็บปวดธรรมดาจนสาหัสถึงตาย ซาดิสม์ในดีกรีที่รุนแรง คือการกระทำสม่ำเสมอต่อเนื่องและควบคุมตัวเองไม่ได้ มักพบในบุรุษมากกว่าสตรี อย่างไรก็ดี แคร็ฟฟ์-เอบิง (Krafft-Ebing) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้เคยรายงานซาดิสม์ในสตรี และสตรีซาดิสม์ผู้หนึ่งในรายงานนั้นมักกรีดแขนสามีจนเลือดไหลก่อนร่วมเพศ และเธอจะดูดเลือดนั้นด้วยความรู้สึกเร้าอารมณ์อย่างมาก

ซาดิสม์บางรายทำให้คู่เจ็บปวดทางใจมากกว่าทางกาย เช่น ใช้การด่าทอ เยาะเย้ย พูดจากระแหนะกระแหน เหน็บแนมต่างๆ หรือพูดจากระทบกระเทียบ ดูถูกดูแคลน ข่มขู่ กวนโมโห หรือพาลพาโลชวนทะเลาะ บางรายมีดีกรีของความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับทำร้ายร่างกายจนเหยื่อบาดเจ็บสาหัสหรือล้มตายได้

ส่วนซาดิสม์ประเภทลบหลู่ความเป็นมนุษย์ คือ พฤติกรรมขู่หรือบังคับคู่หรือผู้เกี่ยวข้อง ให้กระทำหรือมีพฤติการร่วมเพศวิปริตต่างๆ ซึ่งตนเองได้รับความสุขสะใจ ตื่นเต้นในอารมณ์เพศ แต่คู่หรือเหยื่อรู้สึกสังเวชทุกข์ทรมาน มีภรรยาจำนวนไม่น้อยกล้าที่จะแถลงต่อองค์กรยุติธรรม เพื่อหย่าขาดจากสามีซาดิสม์เหล่านั้น

มีคำตอบอย่างน้อยๆ 2 คำตอบ ว่าทำไมคนจึงเป็นซาดิสม์ คำตอบแรกก็คือว่าพวกเขาเคยมีความประทับใจกับพฤติกรรมทำนองนี้มาก่อน ซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว และเมื่อมีโอกาสก็กระทำเพื่อตอบสนองความรู้สึกที่รอคอยมานานนั้น คำตอบที่ 2 ก็คือ พวกเขามีจิตใจที่แปรปรวนมากถึงขั้นเป็นโรคจิตหลงผิด ขาดสติและควบคุมตนเองไม่ได้

ส่วมมาโซคิสม์ ได้คำนี้มาจากชื่อของนักเขียนนวนิยายชาวออสเตรียผู้หนึ่งชื่อ เลโอโปล วี. ซาเซอร์-มาโซค (Leopold V. Sacher-Masoch 1836-1895) คือนวนิยายของท่านผู้นี้มักมีตัวเอกได้ความสุขทางเพศ เมื่อถูกทำให้เจ็บปวดหรือกระทำตนเองให้ได้รับความเจ็บปวดเสมอ ทั้งทางร่างกายและจิตใจหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จากการถูกทุบถอง เฆี่ยนตี หรือถูกทรมานด้วยเครื่องพันธนาการต่างๆ เป็นต้น

มาโซคิสม์มักเกิดกับสตรี แต่ก็พบในบุรุษด้วยเหมือนกัน บุรุษมาโซคิสม์จะยอมภรรยาทุกอย่าง เป็นเหยื่อให้โขกสับ ยอมเป็นทาส ยอมทำงานที่ตกต่ำน่าอับอายให้เธอทุกประการ แต่ได้รับความสุขในอารมณ์ทางเพศตอบแทน

การเกิดมาโซคิสม์ของบุคคลต่างๆ น่าจะเนื่องมาจากประสบการณ์เร้าใจหรือสะใจในอดีต เช่น เด็กหนุ่มผู้หนึ่งได้รับอุบัติเหตุแขนหัก พยาบาลได้ประคองเข้าห้องปฐมพยาบาล เด็กหนุ่มผู้นั้นรู้สึกวาบหวิวในอารมณ์ที่ใบหน้าของเขาเคล้าเคลียกับทรวงอกของเธอ แต่ความเจ็บปวดจากแขนก็มิได้บรรเทาลงเลย ความซับซ้อน (combination) ของความเจ็บปวดและแรงเร้าอารมณ์เพศที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน น่าจะเป็นชนวนนำไปสู่มาโซคิสม์ได้

ส่วนมาโซคิสม์ในดีกรีที่แรงจัด มักเนื่องมาแต่จิตใจที่แปรปรวนถึงขั้นโรคจิตนั่นเอง

มีเพลงป๊อปเพลงหนึ่งที่มีเนื้อทำนองว่า “แม้มีปีกโผบินได้เหมือนนกอกจะต้องธนูเจ็บปวดนัก ฉันจะบินมาตายที่หน้าตัก ให้ยอดรักเช็ดเลือดและน้ำตา” เป็นเพลงที่เพราะดี แต่มีแนวโน้มของมาโซคิสม์ค่อนข้างมาก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Jame C. Coleman et.al. Abnormal Psychology and Modern life. 7th edit. Scott, Foresman and Company. London. 1984, pp. xi, xv.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2559