ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2551 |
---|---|
ผู้เขียน | ส. สีมา |
เผยแพร่ |
บทความเรื่องความผิดปกติทางเพศตอนก่อนๆ ในย่ำค่ำวันศุกร์ ผู้เขียนได้แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแรกเป็นกลุ่มกามวิปริตชนิดต่างๆ เช่น พวกชอบอวด ชอบแอบดู ชอบเด็กๆ เป็นพวกซาดิสม์และพวกมาโซคิสม์ พวกชอบถูไถอวัยวะเพศบนรถประจำทาง พวกชอบพูดคำหยาบลามกทางโทรศัพท์ ชอบร่วมกับสัตว์จนถึงร่วมกับศพ ซึ่งน่าจะถือว่าวิปริตสุดๆ
ส่วนกลุ่มที่ 2 คือพวกร่างเป็นชายใจเป็นหญิง (อีผู้ชาย) และพวกร่างเป็นหญิงใจเป็นชาย (พวกทอม) ซึ่งไม่ถูกฝาถูกตัว ต้องผ่าตัดแปลงเพศวุ่นวายมากพอสมควร และวุ่นมากพอๆ กันก็คือ พวกใจถึงยอมตัดอัณฑะเพื่อผิวผ่องหน้าตาสวย กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มกะเทย (Hermaphodite) เป็นทูอินวัน คือมีสองเพศในร่างเดียว
ส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มบกพร่องทางเพศ เป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะพูดถึงในวันนี้ ความบกพร่องทางเพศของบุรุษและสตรี มีหลายชนิดและหลายดีกรีของความบกพร่อง แต่ในที่นี้จะพูดถึงชนิดที่ชุกชุมพบบ่อยๆ คือ พวกหย่อนสมรรถภาพทางเพศของบุรุษ (Impotence) และพวกรู้สึกเย็นชา (Frigidity) ของสตรี
การหย่อนสมรรถภาพทางเพศของบุรุษที่รู้จักกันดี คือ นกเขาไม่ขัน อวัยวะเพศไม่แข็งตัวดีพอหรือนานพอที่จะร่วมเพศได้ หรือบางรายเป็นประเภทนอนไม่ลุกปลุกไม่ตื่นเอาเลย จึงเป้าหมายที่จะพูดคุยอยากจะลงไปที่ยากระตุ้นหรือยาโป๊ว ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ความบกพร่องทางเพศคลี่คลายไป
ยาโป๊วหรือตัวช่วย เรียกเป็นภาษาสากลว่าอโฟรไดแซคส์ (Aphrodisiacs) อันยืมคำเรียกนี้มาจากชื่อของเทวีแห่งความงามและความรัก คือเทวีวีนัส (เรียกตามโรมัน) เรียกตามกรีกว่าอโฟรไดติ (ซึ่งมาจากคำว่า อฟรอส แปลว่า ฟองคลื่นทะเล เพราะเทวีองค์นี้เกิดจากฟองคลื่นทะเล)
เทวีร่ำรวยความรักทั้งในหมู่เทพด้วยกันและยังทอดสวาทมายังหนุ่มมนุษย์ด้วย เช่น กับหนุ่มน้อยอะโดนิส และกับเจ้าชายรูปงามแอนไคซิสแห่งกรุงทรอย เป็นต้น
อโฟรไดแซคส์แบบไทยที่คุ้นเคยกันดีก็คือ ยองดาหรือยาดองสุราแบบต่างๆ ที่ดองใส่โหลตักขายด้วยกระบวยเล็กๆ เป็นยาเพิ่มพลังเพศ อันมีที่มาอย่างน้อย 3 แหล่งด้วยกัน คือ
จากพืชสมุนไพร เช่น พญาช้างดำ พญาเสือโคร่ง กระเทียม เครื่องเทศ โกโก้ โด่ไม่รู้ล้ม และโคคลาน เป็นต้น ใช้ประกอบอาหารหรือใช้เป็นยาดองโดยตรง
จากสัตว์ เช่น หอยนางรม ไข่นกกระทา เขากวางอ่อน แมลงวันสเปน (Spanish fly) ดีงูเห่า อุ้งตีนหมี และอันเดียวตัวเดียว เป็นต้น
จากยาและเครื่องดื่มที่ผ่านกระบวนการปรุงที่ซับซ้อน เช่น สุรา ไวน์กระชายดำ และไวอะกร้า เป็นต้น
เชื่อกันว่า อโฟรไดแซคส์เหล่านี้เคยถูกใช้อย่างกว้างขวางในอินเดียโบราณ โดยประเมินจากอีโรติกอาร์ตที่วิหาร Konark Sun Temple อันเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และเป็นจุดขายการท่องเที่ยวของอินเดียในปัจจุบันด้วย
อโฟรไดแซคส์ในอินเดีย ระบุไว้ในตำรับกามสูตร เน้นไข่นกกระทาและนมเป็นหลัก ที่ค่อนข้างประหลาดก็ตรงระบุถึงคูถ (dung) อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
ในประเทศจีนถือว่าเขากวางอ่อนเป็นยอดอโฟรไดแซคส์ชั้นดี บดละเอียดชงเป็นเครื่องดื่ม หรือดองในสุรา จีนมีความเก่าแก่เรื่องนี้ในระดับเดียวกับอินเดียทีเดียว
โลกตะวันตกให้ความสำคัญกับวิตามินรวม ในสัดส่วนของวิตามินอีสูงกว่าวิตามินอื่น รวมทั้งพวกเกลือไกรเซอโรฟอสเฟตส์และแป้งข้าวชนิดหนึ่งที่เรียกว่าบักวีต (Buck wheat) ทั้งนี้รวมทั้งโกโก้อันถือว่าเป็นอโฟรไดแซคส์ชนิดอ่อนอย่างหนึ่ง
สำหรับในบ้านเรา สมุนไพรเพิ่มพลังเพศมีหลายชนิด จากการสัมมนาแพทย์แผนไทย 4 ภาค เมื่อปี 2542 จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รวบรวมสูตรสมุนไพรเพิ่มพลังเพศที่ใช้อย่างเดียวหรือใช้ทั้งตำรับ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ ใช้กินเป็นยาบำรุงทั่วไป กับแบบที่ใช้เป็นยาทาภายนอก และยาทาภายใน อยู่ภายใต้ชื่อสมุนไพรเพิ่มสมรรถภาพทางเพศเช่นกัน
ตัวอย่างยาบำรุงกำลังทั่วไป เป็นสมุนไพรเดี่ยว คือ กระเทียม กระชาย มะแว้ง กล้วยน้ำว้า พริกไทย และเกสรกวาวเครือแดง เป็นต้น
ตัวอย่างยาทา มักใช้เกสรดอกบัวหลวง 7 ดอก ลูกเบญกานี สารส้มสะตุ กฤษณา โกฐสอ ใช้อย่างละเท่าๆ กัน บดเป็นผง ใช้ทาภายนอกและทาภายใน
ตัวอย่างสูตรยาตำรับ คือใช้สมุนไพรหลายๆ อย่างรวมกัน เพื่อรักษาโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ประกอบด้วย พริกไทย กุ่มทั้งสอง ผิวมะกรูด ผิวมะนาว ย่าไทร ดินประสิว สารส้มสะตุ มะขามเปียก กระชาย เกลือแกง บอระเพ็ด กำลังเสือโคร่ง เบญจกูล อย่างละ 3 กำมือ ใช้น้ำมะขามเปียกผสมกับตัวยาดังกล่าว ถ้าสตรีจะใช้ให้เพิ่มหัวกวาวเครือเข้าไปด้วย
ตำรับยาดังกล่าว คงเป็นเพียงคำบอกจากหมอพื้นบ้าน ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยพิสูจน์สอบอย่างเด่นชัด อย่างไรก็ดี เป็นที่รู้กันอยู่บ้างแล้วว่า สมุนไพรเพิ่มพลังหลายชนิดมีฤทธิ์แต่ไม่มีพิษ เช่น กระชายทั้งดำและขาว กระเจี๊ยบ กำลังวัวเถลิง กำลังเสือโคร่ง กำลังหนุมาน โด่ไม่รู้ล้ม ตะโกนา ม้ากระทืบโลง โสมไทย อำพัน เกสรบัว ว่านนกคุ่ม ว่านใบทองม่วง หนาดดำ พร้อมดองสุราตั้งโหลโชว์ด้วยการผูกผ้าแดง บ่งชี้ความมีฤทธิ์ พร้อมปิดป้ายชื่อชวนเชื่อ เช่น ม้ากระทืบโลง เฒ่าปล้ำช้าง และพระโดดกำแพง เป็นต้น
บางทียาดองที่ดองด้วยสุราก็อาจทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นคนติดสุราได้ด้วย ในหนังสือแฟมิลี เฮลธ์ เอนไซโคลปิเดีย ยืนยันว่าสุรามิใช่ตัวเพิ่มพลังเพศหรือตัวบำบัด สุราในปริมาณพอควรจะทำให้ความยับยั้งชั่งใจน้อยลง กล้า หรือหน้าด้านมากขึ้น มีอารมณ์อันปลอดโปร่ง ยังผลให้การทำงานของระบบประสาทออโตโนมิค ซึ่งควบคุมการทำงานของต่อมบาโทลิน และกระบวนการการหลั่งของบุรุษเป็นไปโดยปกติดีขึ้น แต่ถ้าสุรายาดองมากเกินไป จะกลายเป็นตัวกดการทำงานของระบบประสาทดังกล่าว จะทำให้ความรักหักโค่นอย่างน่าเสียดาย ซ้ำร้ายจะกลายเป็นคนติดเหล้า พาเศร้าไปในที่สุดด้วย
สมุนไพรเพิ่มพลังบางชนิดที่นิยมกันว่าดี บางทีก็เป็นเพียงความเชื่อเท่านั้น เชื่อว่าเพิ่มพลัง เชื่อว่าดีมีฤทธิ์ จะเห็นว่าชื่อสมุนไพรเหล่านั้น มีลักษณะจูงใจอยู่แล้วในตัวของมัน เช่น เฒ่าปล้ำช้าง กำลังเสือโคร่ง กำลังเลือดม้า ฤทธิ์พระยาช้างดำ หรือกำลังหนุมาน ล้วนสำแดงความมีพลังทั้งสิ้น มีคนจำนวนไม่น้อยขาดความเข้าใจเรื่องพลังแข็งแรง โดยลืมไปว่าการดูแลสุขภาพ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอและการรักษาอารมณ์ให้เบิกบานอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาสมุนไพรเพิ่มพลังหรืออโฟรไดแซคส์แต่อย่างใด
สำหรับผู้อาวุโส อาหารประเภทปลาเป็นหลักผักเป็นพื้น ย่อมให้พลังแข็งแรงแน่นอน จะเป็นคนมีความแก่อย่างสง่า และถ้าจะตายก็ตายอย่างสงบ!
ผู้ทรงคุณวุฒิแพทย์แผนไทยเคยให้ความเห็นสั้นๆ แต่น่าสนใจว่า พลังเข้มแข็งโดยเฉพาะพลังเพศนั้น สัมพันธ์กับวาโยธาตุ คือธาตุลม ซึ่งสมุนไพรประเภทเครื่องเทศเผ็ดร้อนจะเกื้อกูลกันดี เช่น พริกไทย กระชาย กะเพรา โหระพา และแห้ว เป็นต้น ทั้งนี้จะต้องเสริมน้ำผึ้งบำรุงหัวใจเข้าไปด้วย
สรุปว่าบ้านเรามีสมุนไพรเพิ่มพลังเพศหรืออโฟรไดแซคส์เป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดการศึกษาวิเคราะห์เพื่อความชัดเจนในสรรพคุณ สาระและความเป็นพิเศษของมัน การใช้สมุนไพรที่ประกอบอาหารอยู่แล้ว น่าจะปลอดภัยกว่า เช่น กระเทียมและกระชาย เป็นต้น ถึงที่สุดแล้วความมีสุขภาพดี ความแข็งแรงไม่จำเป็นต้องแสวงหาสมุนไพรหรืออโฟรไดแซคส์ใดๆ หากกินอาหารได้สารอาหารครบถ้วน พักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรักษาอารมณ์ให้เบิกบานแจ่มใส ไม่วุ่นวายและไม่เครียด พลังเซ็กซ์ก็จะดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
บุรุษผู้ถูกรุมเร้าด้วยความบกพร่องทางเพศโปรดไตร่ตรอง
สำหรับความรู้สึกเย็นชาของหญิงอันเป็นความบกพร่องทางเพศอย่างหนึ่ง คือการไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้นทางเพศ ไม่มีน้ำหล่อลื่นในช่องคลอด หรือมีน้อย ทำให้การร่วมเพศไม่เป็นสุข เหตุของมันน่าจะมาจากทั้งทางกายและทางใจ
ทางกาย ก็คือการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน และการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิดมากเกินไป รวมทั้งยาประเภทแอนตี้ฮิสตามีนบางอย่างด้วย ส่วนสาเหตุทางใจนั้นอาจมาจากความขัดแย้งในจิตไร้สำนึก เช่น มีปมรักบิดามากเกินไป หรือรังเกียจบิดามากเกินไป ความรู้สึกดูถูกสามี ว่าไม่ฉลาด โง่เขลา หรือไร้การศึกษา การมีอารมณ์เศร้าและความรู้สึกเบื่อหน่าย ย่อมทำให้สตรีเกิดความรู้สึกบกร่องทางเพศได้ง่ายๆ
ที่สำคัญก็คือ สตรีจะใช้วิธีดูแลสุขภาพแบบบุรุษดังที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยฟื้นความรู้สึกบกพร่องทางเพศให้ดีขึ้นได้เหมือนกัน
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2565