ทำไม? นางเอกหนังไทยไม่ถึงจุดสุดยอด

ภาพ "Love Scene" วาดโดย Jacob Gole

สำหรับคนที่ติดตามหนังไทยมาตลอดเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า เพราะเหตุใดฉากรักในหนังไทยจึงแห้งแล้งอารมณ์และไร้ชีวิตชีวา

หนังไทยหลายเรื่องทำให้คนดูสนุกสนานจากฉากการต่อสู้ หลายเรื่องสามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจได้อย่างรุนแรง และหลายเรื่องก็ทำให้คนดูหัวเราะได้อย่างเต็มที่แทบไม่มีเวลาพัก

แต่ว่าทำไมไม่มีหนังไทยสักเรื่องที่มีพลังพอที่จะทำให้เกิดความตื่นเต้นจากการได้เห็นฉากรักบนจอ!

ผมดูหนังไทยมาตั้งแต่เด็ก จนถึงปัจจุบันก็ยังดูอยู่ ได้พบเห็นฉากรักมากมายจนเกินจะจดจำ แต่ยืนยันได้อย่างหนักแน่นว่าไม่เคยพบฉากรักที่ประทับใจเลยแม้แต่ฉากเดียว แม้แต่ในหนังที่นำเสนออย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นหนังที่ขายฉากรักเป็นหลักก็ยังไม่มีอะไรดี บางเรื่องกลับแย่ลงไปอีก ถึงขนาดอัปลักษณ์จนเกิดอาการคลื่นเหียน

ผมเคยเขียนบทความเรื่องหนึ่งลงใน “ศิลปวัฒนธรรม” เมื่อหลายเล่มก่อน เนื้อหาสำคัญของบทความเรื่องนั้นแสดงให้เห็นว่า กรอบทางสังคมและวัฒนธรรมนั้นมีบทบาทอย่างไรต่อการจำกัดขอบเขตกับความหลากหลายทางเนื้อหาของหนังไทย และต่อคุณภาพของหนังไทย

ในกรณีของการทำฉากรักได้ไม่ดีก็คิดว่า น่าจะสามารถอธิบายโดยใช้กรอบทางสังคมและวัฒนธรรมได้เช่นกัน เพียงแต่อาจมีความแตกต่างกันบ้างทางรายละเอียด นอกจากนั้น มันยังมีเงื่อนไขอื่นเข้ามามีส่วนกำหนด นั่นคือ ความสามารถของผู้สร้าง

อาจจะสรุปได้ว่า การที่ฉากรักในหนังไทยไม่ได้เรื่องนั้นมันมาจากสาเหตุ 2 ประการใหญ่ๆ

ประการแรก เป็นเงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรม

ประการที่สอง เป็นความสามารถของผู้สร้าง ซึ่งรวมไปถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการสร้างงานส่วนต่างๆ

สาเหตุแรก เป็นเงื่อนไขทางด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยมีความหมายรวมไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี กฎศีลธรรม และกฎหมาย (โดยผ่านทางระบบเซ็นเซอร์) ซึ่งทั้งหมดเข้ามามีบทบาทในระดับที่มากอย่างแตกต่างกัน

เรื่องเพศเป็นเรื่องที่มีอยู่ในทุกสังคม คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงข้อนี้ ถ้าหากมองเข้าไปในงานศิลปะก็จะพบว่า งานศิลปะหลายชิ้นมีการนำเสนอเรื่องเพศอยู่ในนั้น ทั้งในระดับที่เปิดเผย และในระดับที่ซ่อนเร้นจนต้องมีการตีความ

งานศิลปะของไทยก็มีการสอดแทรกเรื่องเพศเอาไว้มาก ในงานประเภทวรรณคดีดูจะเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจน วรรณคดีไทยหลายเรื่องมีฉากรักที่เร่าร้อนรุนแรง ทั้งจากการบรรยายอย่างตรงไปตรงมา หรือโดยการใช้โวหารเปรียบเทียบ ลักษณะเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ใช่พวกกามตายด้าน การนำเสนอเรื่องเพศในหนังก็แสดงความจริงในข้อนี้

การที่มีฉากรักในหนังแสดงให้เห็นว่า เรื่องเพศถูกนำมาเสนอและให้ความสำคัญ (ถ้าไม่สำคัญ ก็คงไม่ใส่เข้ามา) แต่เมื่อตั้งใจจะให้ความสำคัญแล้วทำไมจึงทำออกมาไม่ได้เรื่อง การที่ทำออกมาแล้วไม่ได้เรื่องก็เพราะถูกสังคมกำหนด

สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มงวดในเรื่องเพศมองว่ามันสมควรจะปกปิด มาตรการทางสังคมที่ปรากฏเด่นชัดคือ การเซ็นเซอร์

แต่การเซ็นเซอร์ ซึ่งเป็นการควบคุมทางกฎหมาย ไม่ใช่เงื่อนไขที่มีอิทธิพลมากนัก เนื่องจากหนังไทยหลายเรื่องซึ่งมีฉากรักอยู่ในหนังก็ยังออกฉายได้โดยไม่ถูกทำให้มืด กล่าวคือ หนังผ่านเซ็นเซอร์ออกมาแล้ว แต่ฉากรักที่ออกมากลับไม่ดี เป็นฉากรักที่ปราศจากอารมณ์ หรือหนังโป๊ที่ไม่ต้องผ่านเซ็นเซอร์ก็เช่นกัน (กรณีหลังนี้หนักกว่าหลายเท่า เพราะทำออกมาน่าเกลียดนัก)

ผมอยากจะยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจ เช่น ในฉากหนึ่งหนุ่มสาวร่วมรักกันอย่างรุนแรงโดยยังมีเสื้อผ้าปกปิดเกือบหมด แต่คนดูรู้ว่าทั้งคู่กำลังทำอะไร (คนดูรู้ว่าทั้งคู่ไม่ได้กำลังเต้นรำ ไม่ได้ออกกำลังกาย) ผมว่าฉากนี้เป็นฉากที่ตื่นเต้นและผ่านเซ็นเซอร์ได้

หรือถ้าเป็นฉากที่ผู้หญิงกำลังถึงจุดสุดยอดทางเพศ จากการแสดงออกทางสีหน้าและน้ำเสียง ภาพที่ปรากฏบนจอเป็นภาพแสดงเฉพาะใบหน้า คนดูได้เห็นแต่ใบหน้า และได้ยินเสียงก็ทราบว่า มันเป็นฉากรักที่น่าตื่นเต้น ผมเชื่อว่าฉากอย่างนี้ ถ้ามีอยู่ในหนังไทย ถ้าออกฉายก็ผ่านเซ็นเซอร์อย่างไร้ปัญหา

นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ภายใต้ระบบภาษาและการสื่อความหมายนั้นมันมีทางเลือกให้ทำฉากรักเพื่อผ่านการพิจารณาได้ แต่ที่ไม่มีฉากอย่างนี้ออกมา มันไม่ใช่เรื่องของการควบคุม หากแต่เป็นเรื่องของผู้สร้างที่ไม่คิดจะทำ อาจจะคิดไม่ถึง หรือคิดถึงก็ไม่กล้าทำ คิดถึงแต่ทำไม่ได้ ที่ทำไม่ได้ เพราะหาผู้แสดงไม่ได้ อาจหาได้ แต่ไม่มีใครกล้าแสดง ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ไม่กล้าทำ กับไม่กล้าแสดง

การที่ผู้สร้างไม่กล้าทำก็อาจเชื่อว่า ผู้แสดงไม่กล้าแสดง แต่ถ้าในกรณีที่ผู้สร้างสามารถตกลงกับผู้แสดง โดยผู้แสดงตกลงใจยินยอมก็อาจจะไม่กล้าทำอยู่ดี เพราะเชื่อว่าคนดูอาจไม่ยอมรับ ไม่ยอมรับทั้งตัวผู้แสดง และไม่ยอมรับในส่วนของการแสดงที่ออกมา

เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็มาถึงต้นตอที่สำคัญ นั่นคือคนดู คนดูดูหนังไทยโดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางสังคม มีค่านิยมและมาตรฐานทางสังคมเข้ามามีส่วนกำหนดในการดูหนัง ค่านิยมและมาตรฐานอย่างหนึ่งก็คือ ผู้หญิงไทยต้องไม่แสดงออกทางเพศ ทั้งในส่วนของชีวิตจริงและในมายา

ผมอยากจะตั้งคำถามว่า มีใครเคยเห็นนางเอกหนังไทยมีความต้องการทางเพศบ้าง

มีใครเคยดูหนังไทยแล้วพบว่านางเอกในหนังเคยสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง

มีใครเคยเห็นนางเอกหนังไทยแสดงความรู้สึกสุดยอดทางเพศ

ผมเชื่อว่าไม่มี ตัวผมเองก็ไม่เคยเห็น

แล้วเพราะเหตุใด นางเอกในหนังไทยจึงไม่มีอารมณ์ปรารถนา อย่าว่าแต่จะถึงจุดสุดยอดเลย แค่แสดงความต้องการออกมาก็ยังไม่ได้ เมื่อตัวละครหลักในฉากรักเป็นพวกที่ไม่สามารถจะแสดงออกทางด้านอารมณ์ได้ ดังนั้น ฉากรักจึงแทบไม่มีออกมา หรือออกมาก็ไม่ได้อารมณ์

คำถามที่ติดตามมาก็คือ เพราะเหตุใดนางเอกหนังไทยจึงต้องไร้อารมณ์ คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ ถูกควบคุมจากคนดู คนดูไม่ยอมรับการแสดงออกในด้านนี้ ไม่ยอมรับทั้งการแสดงกับผู้แสดง

คนดูหนังไทยมักวาดภาพนางเอกหนังไทยให้เป็นสาวบริสุทธิ์ สะอาดและปราศจากมลทิน อาจจะมีคนรักได้ แต่ต้องไม่แสดงออกทางอารมณ์ทั้งความรักและเรื่องเพศ อาจจะแต่งงานได้แต่ต้องไม่ให้เห็นว่าร่วมรักกับสามี แม้แต่ถูกจูบก็ยังถูกตำหนิ จะเห็นว่านางเอกหนังไทยในระดับยอดนิยม คนหนึ่งเคยถูกจูบ และมีภาพเป็นลบในทันที

คนดูมักรวมภาพของความเป็นนางเอกเข้ากับชีวิตจริง เอาความลวงในหนังมาเป็นความจริงในโลก ดาราหญิงไทยที่เป็นนางเอกต้องแสดงภาพของความเป็นนางเอกอย่างสมบูรณ์แบบ คนดูหนังไทยจะไม่แยกแยะว่าผู้หญิงที่กำลังร้องด้วยความสุขสุดยอดนั้นเป็นตัวละครในหนังที่แต่งขึ้นและมีดาราสาวเป็นคนแสดง แต่จะมองว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน

นางเอกไม่ควรแสดงอาการอย่างนั้น

ลองนึกภาพว่าเพียงแค่ไปแสดงบทรักอย่างฉาบฉวย นางเอกในหนังไทยยังแทบจะแย่ ถ้าหากไปแสดงอาการสุขสุดยอดด้วยการส่งเสียงครวญครางสนั่นโรง หรือแสดงการสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเองในหนัง คนดูจะว่าอย่างไร ภาพที่ปรากฏในหนังจะเป็นตราประทับที่จะคอยหลอกหลอนดาราคนนั้นไปตลอด

ถ้าหากจะตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วทำไมคนดูจึงไม่ยอมรับ ทำไมจึงกำหนดขอบเขตการแสดงออกทางเพศให้อยู่ในระดับที่สมควรปกปิด เป็นไปได้มากทีเดียวว่า มันเป็นผลมาจากสังคมไทยค่อนข้างกดขี่ผู้หญิง ผู้หญิงไม่มีโอกาสแสดงออกถึงความต้องการในด้านนี้

สรุปแล้วก็คือ เป็นเรื่องของการรักษาอำนาจทางสังคม (ที่ชายเป็นใหญ่) ในลักษณะหนึ่งนั่นเอง

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเหตุผลประการแรก คือ เหตุผลทางสังคม แต่มันยังไม่เพียงพอที่จะอธิบายความไร้อารมณ์ของหนังไทย เพราะว่าฉากรักในหนังไทยอีกมากมายที่มิได้ใช้ “นางเอก” หากแต่เป็นดาราที่มีภาพออกไปในทำนองเป็นดาวยั่ว หรือไม่ก็เป็นหญิงสาวที่มีภาพใหม่อันอยู่นอกกรอบของนางเอกในมาตรฐานของคนดูหนังไทย และมีฉากรักมากมายอยู่ในหนังโป๊ ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า เธอเหล่านั้นไม่มีคุณค่าของความเป็นนางเอกเลย

แต่แล้วเพราะเหตุใดพวกเธอเหล่านั้นก็ไม่ถึงจุดสุดยอด ไม่มีอารมณ์ทางเพศถึงขีดสุด ไม่เคยมีส่วนทำให้ฉากรักได้อารมณ์ นั้นยอมแสดงว่ามันมีเหตุผลอื่นๆ อีก

เหตุผลอื่นๆ ในที่นี้คือ เหตุผลประการที่สองที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนแรก นั่นคือ ความสามารถของผู้สร้างและองค์ประกอบส่วนต่างๆ

ผู้สร้างกับองค์ประกอบส่วนต่างๆ นั้นมีที่สำคัญอยู่ 2-3 อย่างเท่านั้น ได้แก่ ผู้เขียนบท ผู้กำกับฯ และนักแสดง เหตุผลที่ทำให้ฉากรักไร้อารมณ์ก็เพราะผู้กำกับฯ ไม่เก่ง นักแสดงเล่นไม่ และคนเขียนบทแต่งเรื่องมาไม่ดี

คนเขียนบท เป็นผู้ที่มีส่วนในการสร้างเรื่องให้น่าสนใจ แต่คนเขียนบทในหนังไทย (มองเฉพาะบทหนังโป๊และหนังที่มีฉากรัก) กลับแต่งเรื่องที่ธรรมดาเกินไป เป็นเรื่องที่ขาดแง่มุมอันน่าสนใจเหมือนชีวิตจริงมากเกินไป หรือไม่ก็ห่างจากชีวิตจริงมากเกินไป

โดยปกติแล้ว คนดูต้องการเรื่องที่อยู่นอกเหนือจากความปกติธรรมดา ความปรารถนาอย่างเร้นลับของคนดูคืออยากเห็นเรื่องที่แตกต่างจากชีวิตจริง เพราะคนดูต้องการให้ถูกชักนำให้หลุดพ้นจากโลกแห่งความเป็นจริง อย่างน้อยก็ประมาณ 2 ชั่วโมง (บางคนดูจบแล้วก็อาจจินตนาการต่อได้ต่อไปอีกหลายวัน)

ทางด้านผู้กำกับฯ ผู้กำกับฯ เป็นคนที่มีบทบาทอย่างมากในการกำหนดและคุมงานด้านต่างๆ โดยเฉพาะนักแสดง ผู้กำกับฯ หนังไทยไม่สามารถทำให้นักแสดงจูบอย่างที่เป็นการจูบได้ บางคนทำได้แค่ดมเท่านั้น นอกจากนั้นก็ยังมีความบกพร่องทางด้านความคิดสร้างสรรค์

ยกตัวอย่างเช่น การสร้างฉากที่มีความเย้ายวนจากเรื่องปกติธรรมดา ในหนังเรื่อง The Lover (ฌอง-ฌาคส์ อังโนด์, 1992) มีฉากที่ฝ่ายชายพยายามจะจับมือเด็กสาวในรถ หรือในฉากที่ชายกลางคนพยายามลูบหัวเข่าของเด็กสาวใน Claire’s Knee (อีริค โรห์แมร์, 1971) หรือการลูบคลำตามลำตัว ใน Monsieur Hire (แพ็ททริซ เลอคองต์, 1990) ลักษณะที่ยกตัวอย่างมาเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถูกทำให้มีความพิเศษ (จากตัวอย่างหนัง 3 เรื่อง แสดงให้เห็นว่า นักทำหนังฝรั่งเศสนั้นเก่งกาจในการสร้างความเย้ายวนในหนัง) นอกจากนั้นก็เป็นเพราะว่าเลือกผู้แสดงที่รูปร่างหน้าตาไม่เข้าท่ามารับท

ส่วนผู้แสดง ผู้แสดงส่วนมากขาดทักษะทางด้านการแสดง บางคนแสดงได้อย่างเย็นชา บางคนแสดงอย่าง “มากเกินไป” (over) จนน่ารำคาญ แต่ไม่ว่าจะเป็นพวกเย็นชาหรือเกินพอดี ผมก็พอจะสรุปได้ว่า พวกเธอนั้นดูท่าจะไม่รู้ว่าจุดสุดยอด (orgasm) เป็นอย่างไร

นอกจากเงื่อนไขทางด้านการเขียนบท การกำกับฯ และการแสดงแล้ว องค์ประกอบทางด้านอื่นๆ ในงานสร้างสรรค์ก็มีส่วนในการกำหนดความไร้อารมณ์ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ การจัดแสง (เปิดเผยเห็นแผลเป็นบนเรียวขาของดาราสาว) การตัดต่อ (อืดอาดยืดยาด) เครื่องแต่งกาย (ประเภทชุดชั้นในราคาถูก) และดนตรีประกอบ (รกรุงรังจนน่ารำคาญ)

ฉากรักในหนังไทยกับการไร้ความสุขสุดยอดของนางเอกอาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ จุดหนึ่ง แต่จุดเล็กๆ ดังกล่าว สามารถอธิบายแง่มุมของสังคม มันทำให้มองสังคมไทยได้ชัดเจนขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถอธิบายหลายๆ อย่างเกี่ยวกับวงการหนังไทยโดยรวมได้อย่างยิ่ง

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 มกราคม 2566