เส้นทาง “กี่เพ้า” ชุดยอดฮิตประจำเทศกาล(จีน) ไฉนพลิกจากชุดปิดรูปร่าง กลายเป็นรัดรูป

ภาพประกอบเนื้อหา - ชุด กี่เพ้า แบบร่วมสมัย ภาพจาก pixabay/TieuBaoTruong สิทธิ์ใช้งานในเชิงพาณิชย์

“ตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของจีน มีสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมจีนมากมาย ในอดีตชาวจีนได้อพยพออกไปลงหลักปักฐานนอกเมืองกันหลายแห่ง รวมถึงไทยด้วย ทำให้ในไทยได้รับอิทธิพลจากจีนอย่างแพร่หลาย วันตรุษจีนจึงถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคนไทย(เชื้อสายจีน) สิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในช่วงนี้คือ “กี่เพ้า” เครื่องแต่งกายของชาวจีนที่รู้จักกันทั่วโลก ซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 400 ปี

หยิง ดิง (Ying Ding) ผู้เขียนบทความเรื่อง “On the Transformation and Popularity of the Cheongsam in Modern Time” ในเอกสารประกอบงาน 6th International Conference on Electronics, Mechanics, Culture and Medicine (EMCM 2015) เอกสารนี้รายงานไว้ว่า “ฉีผาว”(qipao) หรือที่ภาษาไทยมักคุ้นชื่อกันว่า “กี่เพ้า” คำทับศัพท์ที่ฝรั่งเรียกกันในภาษากวางตุ้งคือ “ฉ่องซัม”(cheongsam) พบว่ามีต้นกำเนิดมาจากสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911)

สอดคล้องกับข้อมูลในบทความเรื่อง “กี่เพ้า” ในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 8-14 ก.ย. 2549 โดย  “พันหนีต๋า” ซึ่งระบุว่า “กี่เพ้า หรือ ฉีเผา เป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติของผู้หญิงจีน มีกำเนิดมาจากเสื้อชุดยาวที่สตรีแมนจูสวมใส่ เป็นเสื้อกระโปรงชิ้นเดียวหลวมๆ ยาวถึงเท้า คอตั้งสูง ติดกระดุมข้างลำตัว ชายกระโปรงผ่าสูงขึ้นมาจนเกือบถึงสะโพก แขนยาว”

บทความเดียวกันยังระบุว่า ฉลองพระองค์ของพระนางซูสีไทเฮา หรือสตรีในราชสำนักแมนจูที่เราเห็นในภาพยนตร์ คือต้นตำรับของชุดฉีเผาที่แท้จริง

คำว่า “ฉี” แปลว่า “ธง” ใช้เรียกคนแมนจูโดยรวมๆ เพราะในสมัยโบราณ แมนจูบริหารการปกครองโดยแบ่งคนออกเป็น 8 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมีธงอันหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ เมื่อแมนจูขึ้นมาปกครองประเทศ ก็ยังจัดตั้งคนแมนจูให้อยู่เป็นธงๆ คนทั่วไปจึงเรียกคนแมนจูว่า “ฉีเหริน” หรือ “พวกคนธง” ส่วนเสื้อคลุมหลวมๆ ตัวยาวๆ ที่ผู้หญิงแมนจูใส่ก็เรียกว่าชุด “ฉีเผา” หรือ “ชุดของคนธง”

ราชวงศ์ชิงปกครองประเทศจีนนานถึง 295 ปี ชุดฉีเผาของแมนจูจึงส่งอิทธิพลจนกลายเป็นชุดที่ผู้หญิงทั่วไปนิยมใส่ โดยเฉพาะที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นศูนย์รวมของกลุ่มชนชั้นสูง

ฉีเผาถูกดัดแปลงให้ทันสมัยเหมือนเป็นเสื้อแฟชั่น จากชุดหลวมๆ ที่ผู้หญิงแมนจูสวมใส่เพื่อปกปิดรูปร่าง กลายมาเป็นชุดรัดรูปทรง แขนเสื้อที่เคยยาวถึงข้อมือ ก็กุดหายไปจนเป็นเสื้อไม่มีแขน หรือมีแขนเล็กๆ เพื่อให้ดูเซ็กซี่

ราชวงศ์ชิงถูกโค่นล้มไปในปี 1911 แต่ชุดฉีเผาก็ยังอยู่ สตรีสมัยใหม่ในยุคสาธารณรัฐยังใส่ฉีเผาเป็นชุดแต่งกายประจำวัน จนกระทั่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้รับชัยชนะในการปฏิวัติ ฉีเผาก็หมดบทบาททางสังคมของมันไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ฉีเผาสามารถหลบหนีออกจากประเทศจีนไปได้พร้อมกับสตรีจีนที่ลี้ภัยไปอยู่ตามที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ฮ่องกง

ที่เหล่านั้น ฉีเผาได้รับการพัฒนาทั้งรูปแบบลวดลายและความงาม จนถือว่าเป็นชุดแต่งกายของสตรีจีนประเภทที่มีสไตล์

ฝรั่งรู้จัก “ฉีเผา” ในชื่อที่แตกต่างออกไปว่า “ฉ่งซัม” (cheongsam) ซึ่งเป็นสำเนียงภาษากวางตุ้งของคำว่า “ฉางซัน” แปลว่า “ชุดยาว” ความหมายเดิมหมายถึงเสื้อคลุมยาวๆ ของผู้ชาย เหมือนกับฉีเผาที่เป็นของผู้หญิง

แต่ต่อมาความหมายเพี้ยนไปจน “ฉ่งซัม” กลายเป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของคำว่า “ฉีเผา” หรือ “กี่เพ้า” ของสตรีนั่นเอง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ถกปม เสื้อครอป (crop top) จริงหรือที่เริ่มโดยผู้ชาย จนกลับมานิยมใส่อีก ฮิตไม่แพ้แฟชั่นผู้หญิง


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงใหม่โดยใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “กี่เพ้า” โดย พันหนีต๋า ในมติชนสุดสัปดาห์ 26, 1360 (8-14 ก.ย. 2549) น. 70

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2565