ถกปม เสื้อครอป (crop top) จริงหรือที่เริ่มโดยผู้ชาย จนกลับมานิยมใส่อีก ฮิตไม่แพ้แฟชั่นผู้หญิง

ภาพประกอบเนื้อหา - เสื้อแบบครอป (crop top)

การแต่งกายเป็นวัฒนธรรมชนิดหนึ่งที่สำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คน ในยุคสมัยใหม่ คนมักคุ้นเคยกับคำว่า “แฟชั่น” ซึ่งบางรูปแบบก็นิยมกันระยะหนึ่งแล้วก็จางหายไป บางแบบสามารถย้อนกลับมานิยมได้หลังจากจางหายไปเช่นกัน และปีที่ผ่านมา มีแฟชั่นที่(กลับมา)ได้รับความนิยมนั่นคือแฟชั่นที่คนไทยเรียกกันว่า “เสื้อครอป” (crop top)

ตัวอย่างล่าสุดคือ “แคทรียา อิงลิซ” นักร้องนักแสดงสาวชื่อดังซึ่งโพสต์คลิปในอินสตาแกรม (Instagram) ส่วนตัว โดยที่ใส่เสื้อสีแดงแบบเปิดเอวคู่กับกางเกงยีนส์ขายาว

เจ้าของโพสต์เขียนคำอธิบายไว้ว่าเป็นการ “ขุดชุดกลับมาใส่ในรอบ 21 ปี” ชุดที่ว่าคือ “เสื้อตอนอัลบั้มแรก+กางเกงตอนถ่ายโฆษณาโค้กเมื่อปี 2544”

ความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์ของแคทรียา อิงลิช อาจเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนว่า “เสื้อครอป” ซึ่งได้รับความนิยมในตะวันตกช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ ปรากฏในไทยไม่ต่ำกว่า 20 ปีก่อนด้วย และในปัจจุบัน ลักษณะของ “เสื้อครอป” ยังกลับมาให้ได้พบเห็นกันบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในกรณีรูปแบบกระแส “ย้อนยุค” หรือกระแส “ร่วมสมัย” ก็ตาม

หากพูดถึงจุดเริ่มต้นของลักษณะเครื่องแต่งกายท่อนบนที่คนไทยเรียกว่า “เสื้อครอป” ข้อมูลจากหลายแห่งบอกเล่าไว้ต่างยุคสมัยกัน

มุมมองจากฝั่งเชื่อมโยงกับช่วงก่อนยุค 90s

บทความเรื่อง “A LOOK AT THE HISTORY OF THE CROP TOP” ในเว็บไซต์ Startup Fashion ผู้เขียนบทความชื่อ เจสสิก้า บุชชี (Jessica Bucci) ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมสิ่งทอ ในบทความนี้เธออธิบายไว้ว่า เสื้อครอปมีความเป็นมาก่อนหน้าจะเริ่มฮิตกันในยุค 90s

บทความนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า ลักษณะของเสื้อแบบนี้อาจยังไม่ได้แพร่หลายในตะวันตกในช่วงแรกเนื่องจากลักษณะอุณหภูมิที่ค่อนข้างหนาวกว่าตะวันออก ตัวอย่างเช่น ส่าหรี (Sari) ในเอเชียใต้ ส่าหรีแบบดั้งเดิมในอินเดียที่มีความเป็นมายาวนานมีองค์ประกอบของเสื้อผ้าส่วนบนที่ไม่ได้ปิดส่วนหน้าท้อง

หรืออย่างกรณีของเครื่องแต่งกายที่เปิดบริเวณตั้งแต่ใต้หน้าอกมาถึงเอว (midriff) แบบที่นักเต้นระบำหน้าท้องสวมใส่กันก็มีที่มาจากฝั่งตะวันออก บทความนี้มองว่า นักเต้นระบำหน้าท้องที่มาแสดงโชว์ในงานเวิลด์แฟร์ (World Fair) ที่ชิคาโก เมื่อค.ศ. 1893 ทำให้ชาวตะวันตกรู้จักแนวคิดโดยรวมของเครื่องแต่งกายแบบ bedlah อันเป็นเครื่องแต่งกายสำหรับเต้น ชุดถูกแยกเป็น 2 ชิ้น และไม่ได้ปกปิดบริเวณใต้หน้าอกมาถึงเอว

ขณะที่จุดเปลี่ยนของการสวมใส่ “เสื้อครอป”(Crop Top) นั้น เจสสิก้า มองว่า มาจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงทศวรรษ 1940 เหตุเกิดจากวัตถุดิบในการผลิตผ้าขาดแคลนและผลิตได้น้อยกว่าเดิม ซึ่งหมายความว่าการออกแบบเสื้อผ้าจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นเพื่อประหยัดวัตถุดิบ

นักออกแบบเครื่องแต่งกายได้เกิดไอเดียมาประยุกต์ใช้ โดยคงความเป็นเสื้อผ้าทั่วไปไว้แต่ตัดเนื้อผ้าบริเวณครึ่งล่างออก เพื่อโชว์สัดส่วนเล็กน้อย

เสื้อครอปจึงกลายเป็นลุคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของยุค 40s ในยุคนี้มักจะตัดเย็บด้วยคอปกสูง แขนสั้น และสวมใส่กับกระโปรงทรงเอวสูง ชุดนี้ทำให้เกิดการเผยทรวดทรงแบบ “นาฬิกาทราย” ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น

มุมมองฝั่งสื่อแวดวงแฟชั่น

ขณะที่ความคิดเห็นของ Chandler Tregaskes นักเขียนเจ้าของบทความ Top of the crops: Is the midriff back as the must-have red carpet accessory? ใน Tatler ซึ่งตั้งข้อสังเกตเรื่องการกลับมาของกระแสแฟชั่นเปิดรูปทรงหน้าท้องเริ่มกลับมาแล้วหรือไม่ เมื่อมีคนดังหลายรายสวมใส่เครื่องแต่งกายลักษณะนี้ในงานเดินพรมแดง บทความนี้ชี้ว่า เสื้อครอปเริ่มได้รับการยอมรับในวงกว้างในช่วงยุค 60s เป็นต้นไป จากอิทธิพลของการปฏิวัติแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องทางเพศของผู้คน คนดังในยุคนี้เริ่มผูกชายเสื้อไว้รอบชายโครงแบบสบายๆ ขณะเดียวกันระดับของชายเสื้อก็เริ่มร่นสูงขึ้นไป

กระทั่งถึงยุคกลาง 80s กระแสเสื้อครอปฮิตกระจาย โดยเฉพาะเมื่อการเต้นแอโรบิกได้รับความนิยมอย่างมาก ผู้คนยุคนั้นเริ่มตัดแต่งเสื้อจากอิทธิพลของสื่ออย่างหนัง Flashdance

มุมมองฝั่งฝ่ายชาย

อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกด้านที่น่าสนใจว่า เสื้อแบบครอปนั้น เดิมทีแล้วถูกออกแบบโดยผู้ชาย กลุ่ม Crop Tops Are For Guys ในเว็บไซต์ Tumblr อ้างว่า เสื้อครอป ปรากฏขึ้นในช่วงยุค 70s แล้ว และอ้างว่าเสื้อลักษณะนี้ถูกออกแบบโดยผู้ชาย สำหรับให้ผู้ชายสวมใส่ และเป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่นผู้ชายมาหลายปีก่อนที่ผู้หญิงจะสวมใส่

กลุ่มนี้อ้างว่า ช่วงต้นยุค 70s กลุ่มนักเพาะกายตัดส่วนล่างของเสื้อเพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบการแต่งกายในยิม ซึ่งห้ามผู้ชายใช้บริการโดยไม่สวมใส่เสื้อ

แนวคิดนี้ใกล้เคียงกับมุมมองของ คริสตัล เบลล์ (CRYSTAL BELL) ผู้เขียนบทความ “K-Pop Boys in Crop Tops: A History” ซึ่งมองว่า ในยุค 70-80s เสื้อครอปปรากฏขึ้นในสถานะสัญลักษณ์ของ “ความเป็นชาย” และลักษณะร่างกายแบบ “นักกีฬา” เชื่อมโยงกับกลุ่มนักอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

กล่าวคือ นักเพาะกายหรือนักกีฬาในยุค 80s มักโชว์รูปร่างสัดส่วนของตัวเองผ่านเครื่องแต่งกายแนวกีฬาทั้งในและนอกยิม

ตัวอย่างที่ถูกยกมาอ้างอิงคือภาพลักษณ์ของ จอห์นนี่ เดปป์ (Johnny Depp) นักแสดงหนุ่มชื่อดังในยุคนี้ ซึ่งเข้าวงการแผ่นฟิล์มโดยปรากฏตัวในการแสดงภาพยนตร์ Nightmare On Elm Street (1984) ช่วงหนึ่งตัวละครที่เล่นโดยเดปป์ สวมใส่เสื้อกีฬาขนาดสั้นแบบที่เปิดส่วนหน้าท้อง (คลิกชมเนื้อหาในหนังที่นี่)

นั่นเป็นความเห็นและมุมมองอีกฝั่งหนึ่ง แต่ไม่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะจริงเท็จอย่างไร มากน้อยแค่ไหน ภายหลังผลงานของจอห์นนี่ เดปป์ เมื่อ 1984 ช่วงปลายยุค 80 จนถึงต้น 90s ผลงานที่ฉายผ่านสื่อโทรทัศน์มีคาแรกเตอร์เพศชายที่ปรากฏตัวในเสื้อครอปโชว์หน้าท้อง ตัวอย่างหนึ่งคือ วิล สมิธ (Will Smith) ในทีวีโชว์ชื่อ The Fresh Prince of Bel-Air

ไม่เพียงแค่ในโลกทีวีและแผ่นฟิล์ม ในวงการดนตรีร็อกและพังก์ยุค 60-70s ศิลปินคนดังก็สวมใส่เสื้อครอปแล้วเช่นกันเช่นทอมมี่ ราโมน (Tommy Ramone) มือกลองวงราโมนส์ (Ramones) และเดวิด โบวี่ (David Bowie) มาจนถึงพรินซ์ (Prince) ในยุค 80s

เมื่อมาถึงยุค 90s เสื้อครอปได้รับความนิยมอย่างมาก แต่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความที่มันถูกผูกโยงกับภาพจำแนวเซ็กซ์, คนดัง และแฟชั่น ทำให้เพศชายที่มีรสนิยมทางเพศตามธรรมชาติเริ่มตีตัวออกห่างจากเสื้อแบบนี้ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 90s เมื่อมาถึงยุค 2000 เสื้อครอปกลายเป็นสิ่งที่ถูกมองในภาพลักษณ์แบบ Queer (หนึ่งในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ)

ช่วงล็อกดาวน์และหลังล็อกดาวน์

ในยุคปัจจุบัน มักไม่ค่อยเห็นผู้ชาย (ในแง่บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้มีสถานะเป็นคนดัง) หยิบเสื้อครอปออกมาใส่มากนัก ด้วยค่านิยมต่างๆในยุคปัจจุบันที่ให้เหตุผลว่า “ใส่แล้วดูไม่แมน” หรือ “ใส่แล้วเหมือนกลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศ” และให้ความรู้สึกแปลกแตกต่างจากปกติเมื่อผู้ชายนั้นหยิบเสื้อครอปออกมาใส่นอกบ้าน

แต่กระแสก็เริ่มกลับมาในช่วงหลายปีมานี้ (ช่วงระหว่างก่อนล็อกดาวน์และหลังล็อกดาวน์) เมื่อนักแสดงชาย ศิลปินชื่อดังในทั่วทุกมุมโลกต่างพากันหยิบเสื้อครอปมาสวมใส่กันอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีศิลปินจากฝั่งเอเชียจำนวนไม่น้อยอย่างกลุ่ม K-pop นิยมสวมเสื้อครอปขึ้นมาแสดงโชว์มากขึ้น

ทางฝั่งผู้หญิง ดูเหมือนว่าวงการแฟชั่นเสื้อครอปจะไม่หายไปง่ายๆ เพราะในปัจจุบัน เสื้อครอปยังได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ผู้หญิง ส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่าสอดรับกับสภาพอากาศของประเทศไทย และความสะดวกต่อการใช้ชีวิตในประจำวัน ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ง่าย

นอกจากนี้เหล่าศิลปิน คนดัง และดาราจากทั่วทุกมุมโลก ยังคงสวมใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น โชว์สัดส่วนรูปร่างของตัวเอง นั่นย่อมเป็นผลทำให้กระแสของเสื้อครอปยังคงปรากฏให้เห็นผ่านตาทั้งในสื่อและชีวิตประจำวันจนถึงวันนี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เรื่องจริงของ Corset ชุดรัดเอวเข้ารูปในซีรีส์ Bridgerton จารีตชนชั้นสูงที่ส่งผลต่อสุขภาพ


อ้างอิง :

BELL, CRYSTAL. “K-Pop Boys in Crop Tops: A History”. Teen Vogue. Online. Published 12 NOV 2020. Access 18 JAN 2022. <https://www.teenvogue.com/story/a-history-of-k-pop-boys-in-crop-tops>

BUCCI, JESSICA. “FASHION ARCHIVES: A LOOK AT THE HISTORY OF THE CROP TOP”. Startup Fashion. Online. Published 7 NOV 2015. Access 18 JAN 2022. <https://startupfashion.com/fashion-archives-history-crop-top/>

Elan, Priya. “Fire in your belly: the return of men’s crop tops”. The Guardian. Online. Published 17 AUG 2020. Access 18 JAN 2022. <https://www.theguardian.com/fashion/2020/aug/17/fire-in-your-belly-the-return-of-mens-crop-tops>

Tregaskes, Chandler. “Top of the crops: Is the midriff back as the must-have red carpet accessory?”. Tatler. Online. Published 29 JAN 2020. Access 18 JAN 2022. <https://www.tatler.com/article/the-history-of-the-crop-top>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2565