กว่าจะปลูก “อินทผลัมกินผล” ในไทยได้ ดูเส้นทางจากยุคแรงงานไปซาอุฯ กระทั่งมีคนทำสำเร็จ

ภาพประกอบเนื้อหา - สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลอฮ์ บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (Abdullah of Saudi Arabia) เมื่อเสด็จฯ เยือนคาซาบลังกา ในโมรอกโก เมื่อมกราคม 2010 มีอินทผลัม เป็นผลไม้ต้อนรับตามธรรมเนียม ภาพจาก AZZOUZ BOUKALLOUCH / AFP

คนไทยเริ่มรู้จัก อินทผลัม ในรูปของผลไม้อบแห้ง ที่รสชาติหวาน กินแล้วสดชื่น ยุคก่อนอาจจะหายากสักหน่อย ส่วนใหญ่แล้วโน่นเลยที่หาดใหญ่ สงขลา แต่ต่อมาเริ่มหาซื้อง่ายขึ้น

เพราะนิสัยชอบปลูกต้นไม้ของคนไทย เมื่อได้กินผลไม้รสดี จึงนำเมล็ดเพาะแล้วปลูกลงดิน ต้นอินทผลัมเจริญเติบโตดี แต่ไม่ได้ผลผลิตตามแบบฉบับดั้งเดิม

อินทผลัม มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่แห้งแล้ง พบว่ามีหลายชนิดด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วมีการพัฒนาพันธุ์กินผล ปลูกในเชิงเศรษฐกิจ นอกจากปลูกในท้องถิ่นเดิมอย่างแอฟริกาและตะวันออกกลางแล้ว ยังขยายไปอินเดีย สหรัฐอเมริกา ไทยก็เริ่มได้รับความสนใจเช่นกัน

อินทผลัมสำหรับการปลูกประดับ

ในแง่ของการปลูกและปฏิบัติต่ออินทผลัม คนไทยคุ้นเคยกับอินทผลัมสำหรับการปลูกประดับมากกว่า ผู้จุดประกายคือ อาจารย์ปิฏฐะ บุนนาค

อาจารย์ปิฏฐะ ตระเวนสอนตามวิทยาลัยเกษตรกรรมต่างๆ ที่สังกัดกรมอาชีวศึกษา แต่ที่ปักหลักนานคือวิทยาลัยเกษตรกรรมลาดกระบัง ปัจจุบันคือสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ขณะทำงานอยู่ อาจารย์ปิฏฐะปลูกต้นไม้ไว้รอบๆ บ้าน หลายชนิดด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือปาล์มประดับ มีอยู่ช่วงหนึ่งอาจารย์ปิฏฐะต้องไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ต้องห่างบ้านนานพอสมควร เมื่อกลับมาพบว่าไม้ประดับหลายชนิดล้มหายตายจากไปเกือบหมด ที่เหลือคือปาล์มประดับ ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์จึงศึกษาปาล์มประดับอย่างจริงจัง

เหตุผลที่ปาล์มน่าสนใจนั้น อาจารย์ได้เล่าบ่อยๆ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ว่า ปาล์มมีความทนทาน ไม่ต้องเอาใจใส่มาก เหมาะสำหรับคนมีเวลาน้อย อีกอย่างหนึ่งนั้น นานๆ ปาล์มจะทิ้งใบสักทีหนึ่ง จึงไม่เป็นภาระในการเก็บกวาด

ในจำนวนปาล์มมากมายหลายชนิดที่อาจารย์ปิฏฐะนำเสนอนั้น อินทผลัมใบเงินได้รับความนิยมอย่างมากเมื่อ 20 ปีก่อน

อาจารย์ปิฏฐะไปพบอินทผลัมใบเงินในต่างประเทศ ลักษณะทรงต้นสวยสง่า เวลาลมพัดใบพลิ้ว ท่านจึงนำเมล็ดมาเพาะ ช่วงนั้นท่านย้ายเข้าทำงานในกรมอาชีวศึกษาแล้ว เมื่อไปตรวจงานตามวิทยาลัยเกษตรกรรม หรืออาจารย์มาราชการในกรมฯ ก็ให้ไปปลูก ทั้งนี้เพราะวิทยาลัยเกษตรกรรมตามต่างจังหวัดมีพื้นที่มาก บางแห่งมีมากถึง 2,500 ไร่

อาจารย์ตามวิทยาลัยเกษตรกรรม ได้นำพันธุ์อินทผลัมใบเงินไปปลูกเพื่อประดับอาคารสถานที่

เพราะความสวยงาม จึงมีการขยายต่อๆ กัน อาจารย์บางคนมีบริเวณบ้านพัก 1-2 ไร่ ก็ปลูกไว้รอบๆ

ต่อมา วงการปาล์มประดับได้รับความนิยม จึงมีการขุดปาล์มอินทผลัมใบเงินจำหน่าย เมื่อ 20 ปีที่แล้ว แหล่งใหญ่ของอินทผลัมใบเงินที่สวยงามและมีชื่อเสียง คือวิทยาลัยเกษตรกรรมนครราชสีมา สนนราคาที่จำหน่ายกันตอนนั้น ต้นละ 25,000 บาท จัดว่าเป็นราคาที่สูง เพราะของมีน้อย

อาจารย์ปิฏฐะยังคงพัฒนาปาล์มประดับอย่างต่อเนื่อง ท่านมีแปลงปลูกอยู่ที่นครนายก แต่น้ำท่วม จึงย้ายไปอยู่ที่ตำบลยางงาม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผลงานของอาจารย์ปิฏฐะเป็นที่ยอมรับของคนในวงกว้าง ถือได้ว่าท่านคือ “บิดาปาล์มประดับของเมืองไทย”

ย้อนมาที่อินทผลัมใบเงิน ทุกวันนี้ยังมีการใช้งานกันอยู่ แต่สนนราคาลดลงเหลือหลักพัน ส่วนใหญ่ชอบปลูกในสถานที่กว้างๆ ในกรุงเทพฯ พบเห็นอยู่ทั่วไป เช่น ที่หน้าตึก 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

อินทผลัมกินผล

สำหรับอินทผลัมกินผล มีความพยายามนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยรุ่นแล้วรุ่นเล่า ในช่วงที่แรงงานไทยไปทำงานซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งอิสราเอล มีการนำเมล็ดมาปลูกในภาคอีสาน แต่ก็ไม่ได้ผล

แต่ผู้ที่ทดลองแล้วได้ผล คือ ดร. ศักดิ์ ลำจวน อดีตนักศึกษาเกษตรแม่โจ้รุ่นที่ 36

ดร. ศักดิ์ หรือโกหลัก มีประสบการณ์ในตะวันออกกลาง เขาได้นำเมล็ดพันธุ์อินทผลัมมาปลูกเพื่อกินผลที่อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ แรกเริ่มไม่มีวี่แววว่าจะได้ผล แต่เพราะนำหลักวิชาการเกษตรเข้าช่วย หลายสิ่งหลายอย่างจึงเริ่มนิ่ง และเผยแพร่ให้คนรู้จักในวงกว้างขึ้น

พืชในวงศ์อินทผลัมนั้น มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันทั้งรูปร่างและการใช้ประโยชน์ บางประเทศปลูกอินทผลัมเพื่อผลิตน้ำตาลเป็นล่ำเป็นสัน เหมือนกับที่ชาวเพชรบุรีปลูกตาลโตนด

ส่วนอินทผลัมกินผล แบ่งเป็นอินทผลัมกินผลสด และอินทผลัมกินผลแห้ง

อินทผลัมกินผลสด อาจจะเปรียบเทียบใกล้เคียง แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียวกับมะม่วงฟ้าลั่น คือเก็บกินได้อร่อยเมื่อผลแก่ ยังไม่จำเป็นต้องสุกก็เก็บมาใช้ประโยชน์ได้แล้ว

ส่วนอินทผลัมกินผลแห้ง ต้องให้ผลสุกคาต้น จึงนำลงมาอบแห้ง จะได้ผลิตภัณฑ์เหมือนอย่างที่ขายในตลาดหาดใหญ่

ดร. ศักดิ์ผสมคัดเลือกอินทผลัมกินผลสดได้ผลดีมากในปัจจุบัน

ส่วนการปลูกอินทผลัมกินผลแห้งนั้น ความก้าวหน้ายังมีไม่มากนัก เพราะว่าช่วงที่ผลผลิตสุก ตรงกับช่วงฝนชุกในเมืองไทย คือช่วงมรสุม ทำให้ผลผลิตเน่าเสีย ซึ่งก็ต้องรอดูผลงานของคนไทยต่อไป บางคนพยายามนำไปปลูกยังจุดอับฝน เช่น พื้นที่บางอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่และเพชรบุรี

แน่นอนเหลือเกิน พื้นที่การปลูกอินทผลัมกินผล โดยเฉพาะผลสด มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อ ดร. ศักดิ์ทำได้ผล คนแวะเวียนเข้าไปซื้อต้นพันธุ์ ถึงแม้ราคาค่อนข้างสูงก็สู้กัน นอกจากคนไทยที่ไปอุดหนุน ดร. ศักดิ์แล้ว คนจากมาเลเซียก็ซื้อครั้งละ 400-500 ต้น

พื้นที่ปลูกอินทผลัมกินผลสด นอกจากเชียงใหม่แหล่งเดิม พื้นที่ยังขยายไปยังภาคอีสาน อย่างทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดอื่นๆ ก็มีที่อุดรธานี สกลนคร

กรุงเทพฯ มีปลูกที่มีนบุรี ไกลออกไปปลูกที่กาญจนบุรี ราชบุรี ชลบุรี ระยอง เพชรบูรณ์

งานปลูกอินทผลัมกินผลสด ส่วนใหญ่ต้นพันธุ์ได้จากการเพาะเมล็ด ต้นกล้าเล็กแยกเพศไม่ได้ว่าตัวไหนต้นตัวผู้ ตัวไหนต้นตัวเมีย ปลูกผ่านไป 2-3 ปี จึงรู้เพศ

อินทผลัมที่ให้ผลผลิต คือต้นตัวเมีย ดังนั้น หากปลูกอินทผลัมไว้ 20 ต้น หากเป็นตัวเมีย 10 ต้น ตัวผู้ที่เหลือ ก็มีประโยชน์สำหรับนำเกสรมาผสม แต่ไม่จำเป็นต้องมากถึง 10 ต้น อาจจะใช้ 2-3 ต้น ที่เหลือเจ้าของสามารถขุดไปขายเป็นไม้ประดับ

ต้นพันธุ์ที่ปลูกกันอยู่ ช่วงนี้ ส่วนหนึ่งนำเข้ามาจากต่างประเทศ ขยายพันธุ์โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สนนราคามากกว่า 1,500 บาทต่อต้น

ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับพืชค่อนข้างใหม่อย่างอินทผลัมกินผลสด

ในวงการเกษตรปี 2558 มีข้อมูลอยู่ว่า อินทผลัมกินผลสดอายุต้น 5 ปี ให้ผลผลิตอย่างต่ำ 100 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี อินทผลัมกินผลสดพันธุ์เคแอล 1 ของ ดร. ศักดิ์ 1 กิโลกรัม มี 80 ผล ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 500 บาท นั่นเท่ากับว่า ราคาเฉลี่ยผลละ 6.25 บาท

อินทผลัม เป็นผลไม้มีคุณค่า เดิมคนไทยทั่วไปรู้จักอินทผลัมอบแห้ง ทุกวันนี้เริ่มรู้จักผลสดมากขึ้น

ศาสนาอิสลาม นะบีมุฮัมมัด ศาสดาสอนว่า ผู้ใดที่จะลดศีลอดให้ รับประทานอาหารมื้อแรกด้วยอินทผลัมและน้ำบริสุทธิ์ เนื่องจากในอินผลัมมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์จำนวนมากต่อร่างกาย จึงเหมาะอย่างมากกับผู้ที่อดอาหารมาเป็นระยะเวลานาน

งานปลูกอินทผลัมกินผล โดยเฉพาะผลสด มีความก้าวหน้ามาก ผู้ปลูกบางราย เริ่มคิดถึงการนำต้นอินทผลัมกินผลปลูกประดับบ้าน เพราะโดยปกติแล้ว อินทผลัมใบเงินที่ปลูกประดับ ถือว่ามีความสวยงาม ยิ่งถ้าเพิ่มประโยชน์ในแง่ที่ว่างามแล้วกินได้ด้วยก็จะถูกใจเจ้าของบ้านเป็นอย่างยิ่ง เดิมบ้านที่มีบริเวณกว้าง ซื้อไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ราคา 40,000-50,000 บาท มาปลูก หากหันมาปลูกอินทผลัมกินผลก็ไม่เสียหายแต่อย่างใด

พืชต่างแดน ถูกคนไทยนำมาพัฒนา จนใช้ประโยชน์ได้มากมายมหาศาล ยุคก่อนโน้นคือมะละกอ ถึงแม้ไม่ใช่พืชดั้งเดิมของไทย แต่คนไทยก็กินมะละกอได้หลากหลายรูปแบบและปริมาณมาก

ชวนชม พืชทะเลทราย คนไทยจากอีสานนำเข้ามาปลูก หลังๆ ดัดแปลงจนไม่มีเค้าโครงเดิมให้เห็น อินทผลัมกินผล คงมีความก้าวหน้าเช่นกัน

 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อินทผลัมกินผล พืชจากท้องถิ่นแห้งแล้งกันดาร ปรับตัวได้ในเมืองไทย” เขียนโดย พานิชย์ ยศปัญญา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มกราคม 2565