ของดี? ของอร่อย? ของไทยที่ขึ้นโต๊ะ งานเลี้ยงสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-จีน

งานเลี้ยง ความสัมพันธ์ไทย-จีน หม่อมคึกฤทธิ์ เติ้งเสี่ยวผิง
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช และนายเติ้งเสี่ยวผิง ในงานเลี้ยงรับรอง ที่กรุงปักกิ่ง

ของดี? ของอร่อย? ของไทยที่ขึ้นโต๊ะ “งานเลี้ยง” สถาปนา ความสัมพันธ์ไทย-จีน

ในการสถาปนา ความสัมพันธ์ไทย-จีน (1 กรกฎาคม ปี 2518) แม้การลงนามเกิดขึ้นที่ประเทศจีน และทางการจีนเป็นเจ้าภาพเสียส่วนใหญ่ แต่ก็มีอาหารมื้อหนึ่งที่รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม สิ่งของ, อาหาร ฯลฯ นอกจากผลิตภัณฑ์ภายในประเทศจีนแล้ว ที่เหลือก็จะเป็นของดีมีชื่อเสียงของประเทศไทย ที่จัดการบรรทุกใส่เครื่องบินไปรับแขก ซึ่งมีรายการดังนี้

ดอกไม้ สำหรับจัดประดับโต๊ะอาหารใน งานเลี้ยง ก็เลือก “กล้วยไม้หวาย” ส่งตรงจากประเทศไทยจำนวน 6 กล่อง ที่เล่ากันว่า หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็น “พี่เลี้ยงกล้วยไม้” ดูแลมันเป็นอย่างดีตั้งแต่สนามบินดอนเมือง (29 มิถุนายน) จนถึงวันที่ต้องใช้งาน (2 กรกฎาคม)

เพราะเมื่อ 40 กว่าปีก่อนนั้น โรงแรมที่จีนเปิดเครื่องปรับอากาศถึงเวลาตี 1 เท่านั้น ขณะที่อากาศก็ร้อนเหลือ สุดท้ายจึงต้องใช้ห้องน้ำในโรงแรม ที่มีความชื้น แดดส่องไม่ถึง และลมพัดผ่าน หากทุก 6 โมงเช้า และ 6 โมงเย็น ก็ต้องฉีดน้ำยาคริสตัลรักษา และให้น้ำอีกวันละ 4 ลิตร จากการดูแลอย่างดี ถึงวันใช้งานดอกกล้วยไม้ร่วงไปแค่ 3 ดอกเท่านั้น

ส่วนผู้จัดคือ ชูพาสน์ ชูโต ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดอกไม้จากในวังมาช่วยออกแบบและจัดโต๊ะอาหาร โดยใช้ “ปิ่นโต” ที่เอาขาปิ่นโตออกเหลือแต่กล่องกะไหล่ทองแกะสลักต่างแจกัน จัดออกมาได้อลังการ จนแขกชมว่า “คนไทยจัดดอกไม้เข้าแถวได้”

ด้าน “ของอร่อย” หรือรายการอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มเลี้ยงแขกเมืองใน “งานเลี้ยง” ความสัมพันธ์ไทย-จีน จัดเรียงลำดับก่อนหลัง ไว้ดังนี้

อาหารคาว ที่เลือกเอาใจแขก เพราะออกแนวอาหารจีนมากกว่า เริ่มด้วย กุ้งทอด, ถั่วฝักยาวโรยส้มกับเชอร์รี่, แฮมปลาจีนทอด, หมูผัด, ขนมปัง, ไก่วุ้น, ซุปไข่, ข้าวสวย, หูฉลาม, ลูกชิ้นทอด, แป้งทอดไส้ถั่ว

เครื่องดื่ม นอกจาก “เบียร์ไทยตราสิงห์” เบียร์ยี่ห้อเดียวของไทยในเวลานั้น ก็มี เหมาไถ-สุราขี้นชื่อของจีน, ไวน์แดง, น้ำส้มของจีนยี่ห้อเมฆขาว และน้ำดื่ม

บุหรี่ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเลี้ยงแขกของจีน รัฐบาลเลือกใช้ไทยทั้งหมดได้แก่ “สามิต 14-สายฝน-กรุงทอง 75”

ผลไม้ มี “ทุเรียนหมอนทอง” ราชาแห่งผลไม้ 200 ลูก ผลไม้สร้างชื่อของไทยที่เป็นที่นิยมของชาวจีนเช่นกัน

บทเพลง แม้ตลอดงานวงดนตรีปฏิวัติของจีนเล่นเพลงปฏิวัติให้กระหึ่ม แต่ก็มี “เพลงรำวงลอยกระทง” ของวงสุนทราภรณ์ เพลงไทยที่เนื้อร้องทำนองสั้นและง่ายเล่นสลับ

แล้วงานเลี้ยงที่เต็มไปด้วยของดี ของอร่อย ก็จบลงด้วยดี “กันเปย”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. เอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 26 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 ธันวาคม 2564