ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2547 |
---|---|
ผู้เขียน | วีระพงศ์ มีสถาน |
เผยแพร่ |
“บักหำ” คำของผู้ใหญ่เรียกผู้น้อยอย่างเอ็นดู ทำไมผู้ชายถึงมีคำ “บัก”?
คำอีสานเรียกคนผู้ชายว่า “บัก” และเรียกผู้หญิงว่า “อี่” หรือ “อี” ซึ่งเป็นการเรียกเพื่อจำแนกเพศอย่างกว้างๆ เด็กผู้ชายคลอดใหม่ที่ครบอาการสามสิบสอง แน่นอน ต้องมีบัก โดยคำว่าบักนั้น มีแนวเทียบ (analogy) กับอวัยวะสืบพันธุ์ที่ติดตัวต่องแต่งมาแต่เมื่อแรกคลอด
ยุคที่ไม่มีระบอบตรวจสอบลูกในครรภ์ด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย กว่าจะรู้ว่าลูกเป็นเพศอะไร ก็ต้องรอตอนคลอด แม้ขณะที่โผล่หัวออกมาจากช่องคลอด บางคนก็ยังจำแนกไม่ออก ด้วยว่าเป็นตัวแดงๆ มีขนติดหัวมากระหย็อมหนึ่ง ต้องดูกันจะจะก็ตรงเครื่องเพศนั่นเองว่า จะเป็นอี หรือเป็นบัก
ฐานเดิมของคำว่าบัก ถ้าเป็นกริยา หมายถึงบาก/ฟัน/ควั่น/ทำให้คอด/หรือทำให้กิ่วโดยรอบ เช่น เวลาจะผูกด้ายที่ปลายไม้คันเบ็ด ถ้าใช้ด้ายผูกแล้วดึงทบให้แน่นๆ ก็พอใช้การได้ แต่คนมีประสบการณ์ท่านสอนให้บักปลายคันเบ็ดเสียก่อน คือใช้มีดควั่นบริเวณปลายคันไม้นั้นโดยรอบ เพื่อให้เป็นร่องหรือเป็นแนวเล็กๆ เมื่อผูกด้าย จะทำให้ด้ายไม่เคลื่อนหรือเลื่อนหลุดโดยง่าย; บักที่เป็นวิเศษณ์ ก็หมายถึง (สิ่ง) ซึ่งมีสภาพคอดหรือกิ่วโดยรอบ
แล้วอะไรเล่าที่ทำให้ผู้ชายได้รับการเรียกขานว่าบัก ในขณะที่ผู้หญิงไม่ได้รับการเรียกเช่นนั้น อีกทั้งเป็นเครื่องจำแนกเพศชายกับเพศหญิงที่เด่นชัด
คำตอบที่ทำให้เข้าใจง่ายที่สุดก็คือ อวัยวะเพศ นั้นแหละ
ส่วนที่จะเรียกว่าบัก หาใช่หมดทั้งพวงไม่ แต่เป็นเพียงส่วนปลายซึ่ง “มีสภาพคอดโดยรอบ” และนี่เป็นฐานความหมายพาดพิงถึงการเรียกว่าบัก ซึ่งถ้าพูดเรื่องง่ายๆ ให้ยุ่งๆ ขึ้นมาอีกนิด คำว่าบัก ในภาษาอีสานที่ใช้เรียกเพศชาย/เพศผู้ ก็ต้องแปลว่า “ผู้ซึ่งมีสภาพคอดโดยรอบ (ติดตัวมาแต่กำเนิด)” นั่นเอง
จริงอยู่ มนุษย์นั้นมีส่วนที่คอดเหมือนๆ กันคือที่คอบ้าง ที่ข้อมือข้อเท้าบ้าง แต่เมื่อมีแล้วไม่สามารถจำแนกหาลักษณะพิเศษที่แตกต่างอย่างเด่นชัด จึงต้องมองหาส่วนอื่นๆ เรียกว่าเป็นการจำแนกหาความต่าง
ภาษาแขกเรียกชุดเครื่องเพศชายออกเป็นสองอย่าง
ส่วนที่เป็นลำหรือท่อ หรือแท่งนั้นเรียกว่าลิงค หรือลึงค์
ส่วนที่เป็นก้อนเหมือนกับไข่นั้น เรียกว่าอัณฑะ
คำอีสานก็มีวิธีจำแนกชุดเครื่องเพศด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ
เรียกลึงค์ว่าโค็ย หรือโคย
เรียกอัณฑะว่าหำ ไข่หำ หมากไข่หำ หรือไข่ลอน ก็มี
คำว่าโค็ยนี้ ความหมายหลักก็อยู่ตรงที่เป็นท่อนแท่งแห่งอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศชายหรือสัตว์เพศผู้ แล้วก็มีการใช้ในความหมายที่ขยายตัวออก หมายถึงวัตถุที่ให้สอดใส่ในช่องของวัตถุอื่น เช่น โค็ยกง = เดือยระวิง, โค็ยเกวียน = เพลาเกวียน ซึ่งเป็นความหมายโดยปริยาย
การโพล่งคำว่า “โค็ย” ออกคำเดียวดังๆ ก็เป็นการผรุสวาท หรือบริภาษ รวมทั้งหมายถึงอาการแสดงความไม่พอใจอะไรบางอย่างได้ด้วย แต่คนอีสานจะบอกลูกสอนหลานว่า หากหนุ่มคนไหนกินเหล้าเมาแอ๋ แล้วแจกอวัยวะดังว่าเสียงดังลั่นเจ็ดบ้านแปดเรือน ท่านว่าไม่ควรเอามาสืบหน่อต่อแนว ด้วยถือว่าเป็นคนไม่ดี
แม้โค็ยจะแสดงออกถึงความไม่สุภาพในบางวาระ แต่คำอีสานก็มีชื่อเรียกสิ่งของอื่นๆ อีก อย่างเป็นสามัญธรรมดา เช่น โค็ยงู = ต้นควยงู, โค็ยตาล = งวงตาล, โค็ยมอน = หางไหล เป็นอาทิ
ชาวอีสานพูดคำว่าหำโดยไม่กระเดียมเหนียมปาก เพราะมันเป็นคำสามัญจริงๆ เช่น เรียกปมรากที่เกิดกับเถามันป่าและมันปลูกบางชนิด ปมดังกล่าวนี้ทรงกลม บางชนิดก็แป้นเล็กน้อย ขนาดย่อมกว่าลูกปิงปอง มักเรียกกันว่าหำมัน สามารถนำมาเผาไฟ ต้ม หรือนึ่งกินก็ได้ นำไปปลูกก็ได้, เรียกเห็ดชนิดหนึ่ง ทรงกลม สีเหลืองๆ เนื้อเหนียวว่าเห็ดหำฟาน, เรียกส่าขนุนหรือผลขนุนอ่อนที่เพิ่งติดลูกว่าหำมี้
ชาวฝรั่งนำต้นมะฮอกกานีไปปลูกที่เวียงจัน เป็นเพราะเหตุที่ไม่ใช่ต้นไม้ท้องถิ่นที่เคยมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกเป็นคำฝรั่งก็ไม่สะดวกปาก ชาวลาวกำหนดเรียกไม้ดังกล่าวนี้ว่าหำงัว ด้วยว่าผลของต้นมะฮอกกานี มีสัณฐานคล้ายกับอัณฑะของวัว แถมยังมีสีน้ำตาลเหมือนกับสีหนังวัวอีก เป็นการนิยามคำศัพท์ได้เด็ดขาดเฉียบคมมาก
ชื่อโรคก็มีที่พาดพิงถึงเรื่องหำคือคำว่าหำโปง หมายถึงไส้เลื่อนลงถุง (อัณฑะ) ทำให้อัณฑะโตขึ้นและปวดหนึบๆ ทรมานสิ้นดี บางทีก็เรียกว่าไส้ลงหำ
สำนวนว่าหำหด ใช้เรียกภาวะกลัวหรือหวาด หรือขยาดเกรงขาม
นั่นว่าด้วยเรื่องหำ
ส่วนคำว่าบัก ไม่จำกัดเฉพาะคนเพศชายเท่านั้น ยังใช้เรียกสัตว์เพศผู้อย่างวัว ควาย เช่น บักคำดี บักทองคูน บักด่อน บักตู้ เรียกสุนัขว่าบักก่าน บักดำ รวมถึงสัตว์อื่นๆ แม้หา “รอยบักที่อวัยวะเพศ” ไม่ได้ แต่ก็ถูกจำแนกให้เป็นบักไปโดยความเข้าใจ เช่น เรียกแมลงกว่างตัวผู้เขาสั้นว่าบักกิ เรียกตัวผู้ที่เขายาวว่าบักโง้ง เรียกไก่ตัวผู้เป็นบักโอก บักโจ้น เรียกม้าตัวผู้ขนาดเล็กว่าบักจ้อน เป็นอาทิ
มีสำนวนอีสานเกิดใหม่ คือคำว่าบวชล้างบัก ใช้เรียก “เหน็บ” คนยุคสมัยหลังๆ ที่มักจะบวชกันไม่กี่วัน ไม่ทันได้ศึกษาอบรมเรื่องมารยาทหรือฝึกจิตใจในทางพุทธธรรมสักเท่าใด แล้วก็ด่วนลาสิกขาออกมา จากที่เคยเรียกบักนำหน้าชื่อ ก็เรียกทิดนำหน้าแทน แต่ถ้าทำตัวเกกมะเหรกเกเรเหมือนเคย ชาวบ้านก็มักจะพูดประเทียดเอาว่าบวชล้างบัก
คำว่าบัก มีปรากฏใช้ที่หน้าคำอื่น เป็นลักษณะของการใช้พยางค์เสริมหน้า (pre syllable) เช่น
บักใหญ่ หมายถึงใหญ่ (พิเศษ)
บักเอ้บ หมายถึง (ลักษณะรูปร่างที่ปรากฏทางสายตา) ใหญ่เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดีคำพ้องรูปและพ้องเสียงกับ “บัก” ที่ปรากฏในคำเรียกผลไม้ บักอึ (ฟักทอง) บักโต่น (ฟักเขียว ผลใหญ่) บักขาม บักแตง คำเหล่านี้เป็นการเลื่อนเสียงกัน ระหว่างหน่วยเสียง /m/ หรือเสียง /ม/ กับหน่วยเสียง /b/ หรือเสียง /บ/ เพราะเป็นหน่วยเสียงที่เกิดริมฝีปากทั้งสอง (เราจะออกเสียง ม หรือ บ โดยไม่เอาริมฝีปากทั้งสองแตะกันก่อนไม่ได้) คือคำว่าหมาก เลื่อนเป็นหมัก และถ้าบังคับลมไม่ให้ออกทางจมูก เสียงหมักก็จะเป็นเสียงบักได้โดยง่าย บางคนยังถนัดปากที่จะเรียกหมักอึ หมักแตง อยู่เลย คำว่าหมาก/หมัก/บัก ในที่นี้ หมายถึงผลของพรรณไม้ ไม่เกี่ยวกับรอยบัก แต่ประการใด
ในภาษาอีสานจำแนกเพศเป็นสองอย่าง คือเพศผู้ กับเพศแม่ ต่อเมื่อมีคนประเภท “มีบัก” แต่จริตจก้านกระเดียดไปทางเพศหญิง ก็จึงเกิดมีคำว่าคนผู้แม่ (คำนี้เก่าเต็มที หาคนพูดน้อยแล้ว) ซึ่งก็หมายถึงกะเทยในความหมายที่เราสื่อความกันในปัจจุบัน หรือเช่นเรียกไก่ตัวผู้ที่ไม่ขัน (แม้อายุของไก่จะล่วงเลยเข้าสู่วัยที่ควรขัน และไก่ลักษณะนี้ก็หายาก) ว่าไก่ผู้แม่ เป็นต้น
บัก เมื่อใช้กับคนเพศชาย ใช้ได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่จะไม่ใช้กับผู้อาวุโสกว่า เว้นเสียแต่ว่าจะใช้ในความหมายที่เป็นสามัญและเป็นภาษาพูดไม่เป็นทางการ เช่นเรียกนักร้องชายที่เป็นซูเปอร์สตาร์ว่าบัก…(ตามด้วยชื่อ) หรือใช้ในความหมายที่ดูถูก ไม่ยำเกรง เช่นเรียกรัฐมนตรีที่มีข่าวพฤติกรรมที่โกงกินว่าบัก…(ตามด้วยชื่อ) หรือเรียกชาวตะวันตกว่าบักดังโม (ไอ้จมูกโต) เป็นต้น และมักจะเรียกในฐานะเป็นบุรุษที่สาม คือเรียกลับหลัง ไม่ได้เรียกต่อหน้าในฐานะที่เป็นบุรุษที่สอง
ดังที่เกริ่นมาแต่ต้น คำว่าบักนั้นเป็นการจำแนกผู้ชาย ซึ่งมีความต่างจากผู้หญิงแล้ว บักก็ถูกนำไปผนวกกับคำอื่น เช่น บักหำ เป็นคำที่ผู้ใหญ่เรียกเด็กชายด้วยความเอ็นดู บางคราวก็ประสมกับความเสแสร้งแกล้งใช้เด็ก เช่น ถ้าผู้ใหญ่พูดว่า “มึงไปตักน้ำให้กูสักขัน” กับ “บักหำ…ไปตักน้ำมาให้จั๊กขันแด่” ข้อความหลังนี้ นุ่มหูและน่าไปตักน้ำให้มากกว่าข้อความแรกเยอะเลย
เรียกบักหำ แค่นี้ยังไม่พอ บางคนเรียกบักหำน้อย ยิ่งระคนความน่ารักน่าเอ็นดูเจืออยู่ในน้ำคำเข้าไปใหญ่ แต่อย่าริไปพูดเอาคำว่าใหญ่ ไปแทนคำว่าน้อย นั่นเชียว เป็นการล้อเลียนที่ไม่น่าให้อภัย
อ่านเพิ่มเติม :
- ถอดรหัสคำทางเพศใน “หมอลำ” ที่ชาวบ้านชอบ ชาวเมืองว่าหยาบโลน สะท้อนอะไร?
- ตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้ สื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน สู่กำเนิด “บักหำศิลปิน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2560