ตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้ สื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน สู่กำเนิด “บักหำศิลปิน”

หนังพร้อม บุญฤทธิ์ อดีต ส.ส. พัทลุง ผู้มีอ้ายหลำเป็นตลกเอกคู่บารมี (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ก.พ. 2543)

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่วัฒนธรรมจากเมืองหลวงมามีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น ในชนบทภาคใต้จะมีกลุ่มบุคคลที่มีความสําคัญต่อการสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อและทัศนะในการดําเนินชีวิตของชาวบ้านอยู่ 4 กลุ่มคือ พระภิกษุสูงอายุที่ชาวบ้านเรียกว่า พ่อหลวง ครูประถมศึกษา กํานันผู้ใหญ่บ้าน และนายหนังตะลุง

ทั้ง 4 กลุ่มที่กล่าวมานั้น นายหนังตะลุงจะมี ลักษณะพิเศษกว่ากลุ่มอื่น ๆ กล่าวคือมีความเป็นอิสระในการนําสาระต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้แก่ชาวบ้านโดยไม่มีพันธะใดๆ มาเป็นเครื่องจํากัด นายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงจะได้รับความเชื่อถือจากชาวบ้านทั่วไปยิ่งกว่าคนของทางราชการที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “นาย” หนังตะลุงจะเป็นขวัญใจของชาวบ้านอย่างแท้จริงไม่แพ้นักร้องนักแสดงที่เป็นขวัญใจของวัยรุ่นในสมัยนี้

การที่หนังตะลุงคณะหนึ่งคณะใดจะเป็นที่นิยมชมชอบของชาวบ้านได้นั้น จะต้องมีมุขตลกที่ชาวบ้านชื่นชอบ หนังตะลุงแต่ละคณะจะมีตัวตลกเอกประจำคณะของตนเอง เช่น หนังจันทร์แก้ว จะมีอ้ายเมืองเป็นตัวชูโรง หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากล จะมีอ้ายหลํา หนังปฐม จะมีอ้ายลูกหมีเป็นตัวตลกเอก เป็นต้น

ตัวตลกในหนังตะลุงมีหลายตัว แต่ที่เป็นตลกสากลที่ต้องมีทุกคณะคือ อ้ายเท่ง และอ้ายหนูนุ้ย นอกจากนั้นแล้วแต่คณะใดจะใช้ตัวตลกใดก็ได้ เช่น อ้ายแก้ว อ้ายพูน อ้ายปราบ อ้ายเมือง อ้ายยอดทอง อ้ายดิก เป็นต้น

ตัวตลกทุกตัวในหนังตะลุงจะมีนิสัย สําเนียงการพูดที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น อ้ายเท่ง ไม่ว่านายหนังคนไหนจะเชิดรูปอ้ายเท่ง ก็ต้องพากย์เสียงของอ้ายเท่งให้เหมือนจริง จะพากย์ตามใจชอบไม่ได้

นอกจากนี้ตัวตลกในหนังตะลุงนั้น เชื่อกันว่ามีประวัติความเป็นมาจากคนที่มีชีวตอยู่จริงทั้งสิ้น เช่น

อ้ายยอดทอง ความเดิมเล่าว่า เป็นชาวบ้านธรรมเจดีย์ จังหวัดสงขลา ที่หมู่บ้านนี้ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเคยมีเจ้านายสตรีมาประทับอยู่ อ้ายยอดทองจึงชอบผู้หญิงสวยๆ ชอบคุยโต จึงมีสำนวนของชาวภาคใต้ว่า “ยอดทองบ้านาย” อ้ายยอดทองนี้จะถือกริชเป็นอาวุธ

อ้ายหนูนุ้ย  เป็นเป็นชาวบ้านคลองขวาง จังหวัดสงขลา เป็นคนวิกลจริต หนังนุ้ยหมาตาย เป็นคนไปพบแล้วเอามาจําลองเป็นตัวตลก อ้ายยหนูนุ้ยจะมีใบหน้าคล้ายวัว ถือกรรไกรหนีบหมากเป็นอาวุธ เป็นตลกที่คู่กับอ้ายเท่ง

อ้ายเท่ง เป็นชาวบ้านคูขุด จังหวัดสงขลา มีอาชีพหากุ้งฝอยริมทะเลสาบมาทําเป็นกุ้งส้มให้เมียขาย อ้ายเท่งจะนุ่งโสร่ง มือหงิกงอเพราะเป็นคุดทะราด

อ้ายสีแก้ว เป็นชาวอําเภอกระแสสินธุ์ในปัจจุบันเป็นคนพูดจริงทําจริง ไม่มีอาวุธ เวลาโกรธใครจะใช้มือตบ ถือเป็นนักเลงจริง ไม่เหมือนอ้ายยอดทอง

อ้ายหลํา เป็นตัวตลก ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยที่หนังพร้อมน้อย ตะลุงสากลมีชื่อเสียง

อ้ายหลําเป็นตลกเอกคู่บารมีหนังพร้อมโดยแท้ กล่าวว่าหนังพร้อมดังได้ก็เพราะอ้ายหลํา ภายหลังต่อ มาหนังพร้อมได้เป็นถึง ส.ส.ของจังหวัดพัทลุงถึง 3 สมัยติดต่อกัน คณะหนังตะลุงที่จะใช้อ้ายหลําเป็นตัวตลกได้มีเฉพาะหนังพร้อมและลูกศิษย์ของหนังพร้อมเท่านั้น

ปัจจุบันนี้วงการหนังตะลุงได้มีตัวตลกเพิ่มมาอีกตัวหนึ่งคือ บักหำศิลปิน เป็นคนภาคอีสานที่มาขายแรงงานภาคใต้ ไม่ยอมกลับบ้านหนังที่นําบักทํามาเป็นตัวตลกเอกคือ หนังอาจารย์ณรงค์ตะลุงบัณฑิต จากจังหวัดตรังและตอนนี้บักหำไปเป็นตัวตลกเอกแล้ว

ตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้ถือว่าเป็นขวัญใจของชาวภาคใต้โดยแท้ เพราะการแต่งเนื้อแต่งตัว สําเนียงการพูด นิสัยใจคอต่าง ๆ ถอดมาจากชีวิตจริงของชาวบ้านแท้ๆ

แม้ปัจจุบันนี้หนังตะลุงจะไม่เฟื่องฟูเหมือนสมัยก่อน แต่ใช่ว่าหนังตะลุงจะหมดไปเสียทีเดียว ยังคงได้รับความนิยมอยู่พอสมควร ยิ่งปัจจุบันนี้ นายหนังตะลุงส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี บางคนเป็นถึงมหาบัณฑิตปริญญาโทเสียด้วยซ้ำไป

คลิกอ่านเพิ่มเติม : “หนังตะลุง” ศิลปะที่สอนจริยธรรมนอกกรอบศาสนา กรณีศึกษาจากหนังตะลุง “น้องเดียว”


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2563