ผู้เขียน | เจษฎา บัวบาล |
---|---|
เผยแพร่ |
หนังตะลุง ไม่ได้ทำหน้าที่รักษาอัตลักษณ์/วัฒนธรรมอันแข็งทื่อของชาวใต้อย่างที่เคยเข้าใจ หากแต่ช่วยเปลี่ยนแปลงมโนทัศน์ของชาวใต้ด้วยการนำนวัตกรรมและโลกทัศน์สมัยใหม่เข้ามาสู่ภาคใต้ เช่น “หนังตะลุงน้องเดียว”
จริยธรรมที่หนังตะลุงน้องเดียวฯ เสนอจำนวนมาก มิได้มาจากศาสนาหรือนิทานพื้นบ้าน หากแต่เปิดพื้นที่ให้กับทุนนิยมและมองว่าจริยธรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล (individualism) ที่เน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพมากกว่าการเคารพผู้ใหญ่หรือความเชื่อทางศาสนา เช่น หนีตามผู้ชายดีกว่าแต่งงานอย่างถูกต้อง หลายผัวหลายเมียดีกว่ารักเดียวใจเดียว 7- Eleven ดีกว่าร้านขายของชำในชุมชน เป็นต้น
หนังตะลุง จึงไม่ใช่คู่ตรงข้ามของความเป็นสมัยใหม่ หากแต่เป็นเวที (platform) ในการนำเสนอความทันสมัยแก่ชาวใต้ การปรับตัวดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หนังตะลุงน้องเดียวฯ ได้รับความนิยมและการเติบโตนี้ก็สะท้อนว่า มโนทัศน์หรือวัฒนธรรมการเสพจริยธรรมของชาวใต้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
“หนังตะลุง” กับศาสนา
หนังตะลุงเป็นการแกะหนังวัวเป็นรูปตัวละครสำหรับเชิด ซึ่งแพร่หลายในแหลมมลายูและชวา เรียกกันว่า Wayang Kulit โดย บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง (2558) เสนอว่า ในทางประวัติศาสตร์ หนังตะลุงคือเครื่องมือให้ความบันเทิงกับคนท้องถิ่นควบคู่ไปกับการสอนศาสนาอิสลาม เช่นเดียวกับ อนุรักษ์ เจ้ยทอง (2551) ที่เสนอว่า นายหนังมักประยุกต์ใช้นิยายหรือคำสอนในทางพุทธศาสนาสอดแทรกเข้ากับการดำเนินเรื่อง กล่าวโดยสรุปคือ ในทางประวัติศาสตร์ การแสดงหนังตะลุงมีความเกี่ยวโยงกับศาสนา
อย่างไรก็ตาม หนังตะลุงยังให้ภาพคู่ตรงกันข้ามกับศาสนาได้ด้วย ขณะที่กระแสอิสลามานุวัตน์ (Islamization) แพร่หลายขึ้นในอุษาคเนย์ช่วงศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาจากการย้ายถิ่นไปศึกษาศาสนาในตะวันออกกลางและกลับมาเผยแพร่ศาสนาในดินแดนนี้ ธรรมเนียมปฏิบัติดั้งเดิมได้ถูกวิพากษ์ว่าไม่มีความเป็นอิสลามแท้เป็นต้น กระแสอิสลามานุวัตน์จึงมีส่วนในการเปลี่ยนมโนทัศน์ทางศาสนาของคนในอาณาบริเวณนี้ (ทวีลักษณ์ พลราชม, 2559)
หนังตะลุงเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่ให้ภาพความตรงกันข้ามกับอิสลามแท้ การที่ซูการ์โน (Sukarno) ประธานาธิบดีคนแรกของอินโดนีเซียประกาศใช้ปัญจสีละ (Pancasila) เป็นอุดมการณ์ของรัฐชาติแทนที่จะทำให้เป็นรัฐอิสลาม นักวิชาการมองว่า เพราะซูการ์โนเองมาจากครอบครัวมุสลิมชั้นสูง (Priyayi Muslims) ซึ่งไม่ได้เคร่งครัดในหลักศาสนาและได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมท้องถิ่นของชวา ซึ่งซูการ์โนมีความคลั่งไคล้ในหนังตะลุงอย่างมาก (Martin Ramstedt, 2004, p. 13)
ดังนั้น แม้จะมองว่าหนังตะลุงเป็นสิ่งที่ใช้สอนศาสนาพราหมณ์ พุทธและอิสลามดังที่เชื่อกัน แต่หนังตะลุงและศาสนาก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน บทความนี้เสนอว่า หนังตะลุงที่เติบโตในประเทศไทยปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของหนังน้องเดียวลูกทุ่งวัฒนธรรม สะท้อนชัดว่า จริยธรรมที่หนังตะลุงสื่อออกมาจำนวนมากเป็นแนวคิดที่อยู่นอกกรอบศาสนาและที่ยิ่งกว่านั้นยังต่อต้านความเชื่อท้องถิ่นอีกด้วย
การเสนอแนวคิดใหม่ที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมนั้นดำเนินไปได้ด้วยการเสริมมุขตลกเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกผ่อนคลาย หนังตะลุงได้ทำหน้าที่สื่อสมัยใหม่ที่สอนให้คนปรับตัวต่อทุนนิยมและเน้นระบบคุณค่าจริยธรรมเชิงปัจเจกนิยม มิใช่การตัดสินถูกผิดตามกรอบความเชื่อท้องถิ่นและศาสนา
“หนังตะลุงน้องเดียว” ลูกทุ่งวัฒนธรรม
บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง หรือนายหนัง น้องเดียว (ลูกทุ่งวัฒนธรรม) เป็นนักเชิดหนังตะลุงที่พิการทางสายตา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2533 ที่จังหวัดพัทลุง เขาเริ่มฝึกการพากษ์หนังตะลุงจาการฟังเทปและเลียนเสียงตัวละครต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ น้องเดียวเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างร้องเพลงและต่อมาพัฒนาเป็นการเล่นหนังตะลุง เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ 20 ปีต้น ๆ และมีชื่อเสียงมากที่สุดในปัจจุบัน โดยวัดจากการรับงานซึ่งแทบไม่มีวันหยุด
ราคาในการรับหนังน้องเดียวขนาดจอเล็กยาว 5 เมตรอยู่ที่ 30,000 บาท และจอคอนเสิร์ตยาว 12 เมตรอยู่ที่ 60,000 บาท แบบหลังใช้โปรเจคเตอร์เพิ่มอีก 4 ตัว กล่าวคือ 2 ตัวส่องไปยังหน้าจอทั้งสองข้างเพื่อให้ภาพบริบทเรื่องราวที่หนังตะลุงกำลังเล่นอยู่ในขณะนั้น เช่น พระราชวัง ป่า วัด ฯลฯ อีก 2 ตัวฉายให้เห็นภาพด้านหลังจอเพื่อให้ผู้ชมเห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นด้านหลังฉาก มีเครื่องปั่นไฟเพื่อลดปัญหาไฟตกและรถหกล้อบรรทุกเก้าอี้เพื่อบริการผู้ชมตัวละ 20-50 บาท เขาได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นทางการจากบริษัทบ้านดนตรี KOY และปุ๋ยไข่มุกตราเรือไวกิ้ง
นิยามวัฒนธรรมจากข้างล่าง
หนังตะลุงน้องเดียว ต่างจากหนังตะลุงคณะอื่น ๆ ตรงที่ไม่ใช้เวลาในการเล่นบทออกโรงนานเกินไป ซึ่งน้องเดียวเล่าว่าเป็นช่วงเวลาที่น่าเบื่อ เพราะคนยุคปัจจุบันไม่ได้มีเวลาว่างมาก หากแต่ต้องรีบกลับไปพักผ่อนเพื่อทำงานและเรียนหนังสือในวันรุ่งขึ้น เขาจึงเริ่มเล่นตั้งแต่เวลา 20.00 น. และเลิกราวเที่ยงคืน ขณะที่หนังอื่น ๆ เริ่มราว 22.00 น. และเลิกประมาณตีสอง
น้องเดียวยืนยันว่าเขามิได้ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิม เพราะเขาก็ยังใช้รูปฤษีและพระอิศวรเป็นตัวออกโรงแม้จะใช้เวลาเพียง 10 นาที มีการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น รุกขเทวดา นางเมขลา นางธรณี พระภูมิเจ้าที่ และพระรัตนตรัย การกล่าวถึงเทพเจ้าท้องถิ่นสะท้อนว่าหนังตะลุงผูกพันกับความเชื่อท้องถิ่นมากกว่าศาสนาใหญ่ ๆ
ต่อด้วยฉากที่นายหนังทักทายผู้ฟัง เขาพัฒนารูปหนังซึ่งทันยุคอยู่เสมอ เช่น โดเรมอน อุลตร้าแมน ตัวหนังตะลุงขี่ได้โนเสาร์ บ้างก็นั่งเฮลิคอปเตอร์บินลงมาจากด้านบนของจอ โดยพาดพึงถึงตำรวจว่า “เดี๋ยวนี้ตำรวจตั้งด่านเยอะจนเกินไป หากนั่งรถมาก็กลัวจะเสียเงินและเวลา” เขาได้รับการปรบมือและโห่ร้องต้อนรับอย่างล้นหลาม เพราะนวัตกรรมที่ใช้ดูแปลกใหม่และมุขที่สื่อออกมาตรงกับปัญหาที่ผู้คนประสบอยู่ในชีวิตประจำวัน
น้องเดียวถูกตั้งคำถามว่าการปรับรูปแบบหนังตะลุงของเขาจะทำลายวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือไม่ ซึ่งเขาอธิบายว่า “วัฒนธรรมต้องดำเนินไปตามยุคสมัย ต้องมีทั้งคนเล่นและคนดู ไม่ใช่มีแต่ความดั้งเดิมแต่ไม่มีคนดู วัฒนธรรมต้องไม่มีแต่ชื่อ แต่ต้องจับต้องได้และดำรงอยู่จริง” (บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง: 2560) ความหมายของคำว่า วัฒนธรรม ของน้องเดียวจึงมีความเป็นพลวัตที่ต้องปรับตามวิถีของผู้คน ซึ่งต่างจากการนิยามแบบตายตัวของราชบัณฑิตยสภา (2555) ที่ว่า “วัฒนธรรมเป็นสิ่งดีงาม…เป็นความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติและศีลธรรมอันดีของประชาชน”
วัฒนธรรมในมิติหลังนี้สื่อนัยไปทางวัฒนธรรมของชาติที่เป็นสากลมากกว่าท้องถิ่น ขณะที่วัฒนธรรมของน้องเดียวหมายถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน สิ่งที่คนทั่วไปทำกันจนเป็นธรรมเนียมโดยไม่ต้องตัดสินว่าดีงามหรือไม่ก็จัดเป็นวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมการกิน การเที่ยวหรือการวิจารณ์ เป็นต้น นิยามนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับกันในโลกสมัยใหม่เพราะเชื่อว่าค่านิยมของคนมีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงไม่ควรถูกนิยามให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้อำนาจรัฐชาติ
หนังตะลุงเปิดรับวิถีทุนนิยม
น้องเดียวไม่เคยโจมตีทุนนิยมว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายในแบบที่ศาสนาเสนอ ในทางตรงกันข้าม เขาเน้นให้ผู้คนอยู่กับทุนนิยมและนำเอาวิธีให้บริการในรูปแบบใหม่มาประกอบธุรกิจ 7-Eleven เป็นตัวอย่างหนึ่งในการให้บริการที่สุภาพ โดยเปรียบเทียบกับร้านขายของชำในชุมชนที่เป็นบ้านสกปรก ไม่มีแอร์และยังจัดสินค้าไม่เป็นระเบียบ ราคาไม่ชัดเจน ที่ยิ่งกว่านั้น คนขายไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ เพราะบางคนเพิ่งทะเลาะกับสามี พูดไม่เพราะ และที่สำคัญร้านค้าเหล่านั้นไม่รู้จักเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
เป็นเหตุผลที่ถุงยางอนามัยไม่สามารถขายได้ เพราะหากสามีไปซื้อ คนขายก็จะเก็บเรื่องนี้ไว้บอกกับคนอื่น ๆ และภรรยาของคนนั้นว่า “เมื่อวานแฟนเธอมาซื้อถุงยาง เขาได้เอาไปใช้กับเธอหรือเปล่า” ซึ่งน้องเดียวมองว่า นี่เป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวจนอาจทำให้สมาชิกในครอบครัวต้องทะเลาะกัน เขาแนะนำให้ร้านค้าเหล่านั้นปรับตัวตาม 7-Eleven คือทำหน้าที่บริการให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องสนใจอยากรู้เรื่องคนอื่น
น้องเดียววิจารณ์ข้าวหลามที่ขายในงานวัดว่ามีขนาดเล็กและแพงเกินไป เมื่อซื้อกระบอกใหญ่หลายครั้งก็กินไม่หมดและยากในการเก็บรักษา เขาเสนอให้ออกแบบกระบอกเหมือนลิปสติก ที่ใช้วิธีการหมุนเพื่อจะกินและสามารถหมุนเก็บกลับเข้าที่เดิมได้ และเลียบแบบการชิงโชคใต้ฝาเหมือนเครื่องดื่ม “อิชิตัน” แต่ไม่ใช่การลุ้นว่าจะได้รถเบนซ์หรือไม่ เป็นการลุ้นว่าข้าวหลามจะดิบหรือสุก มุขตลกเหล่านี้ถูกเพิ่มเข้าไปเพื่อลดความตึงเครียดของแม่ค้ารุ่นเก่าที่ถูกพาดพิงโดยตรง
หนังตะลุงสอนจริยธรรมนอกศาสนา
ทัศนะเรื่องหลายผัวหลายเมียถูกเน้นย้ำหลายครั้งในการแสดงของน้องเดียว เจ้าเมืองมีเมียน้อยหลายคนซึ่งไม่เป็นที่พอพระทัยของพระมเหสี แต่พระองค์ก็อธิบายว่าเป็นธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการของแปลกใหม่ การมีเซ็กส์เป็นคนละเรื่องกับความรัก นั่นคือแม้จะมีเมียน้อยจำนวนมาก แต่พระองค์ก็ยังรักมเหสีมากที่สุดและยังสามารถกลับวังตรงเวลาพร้อมทั้งบริหารบ้านเมืองได้ตามปกติ ซึ่งสุดท้ายพระมเหสีก็รับได้
ทำนองเดียวกัน เมียของนายโถมีผัวใหม่ขณะที่ยังไม่ได้หย่าร้างกัน นายโถรับรู้และสนับสนุนให้เป็นเช่นนั้นเพราะตนต้องเป็นทหารรับใช้เจ้าเมืองซึ่งอาจไม่มีเวลาให้กับเมียได้มากพอ ขณะที่นายเท่งแย้งด้วยภาษิตท้องถิ่นว่า “หนามตอกเล็บ เห็บเข้าหู เมียคบชู้ มันช่างเจ็บปวด” นายแก้วเสริมว่า “ผัวเดียวเมียเดียว กลมเกลียวจนตาย ผัวมากเมียมาก ลำบากยากไร้” นายโถตอบว่า “นั่นไม่ใช่การคบชู้ เพราะชู้คือการคบหาโดยที่แฟนของอีกฝ่ายไม่ทราบ” โถมองว่าตนเป็นผัวผู้พี่ ส่วนผู้ชายอีกคนเป็นผัวผู้น้อง ต่างฝ่ายต่างช่วยให้เมียของตนมีความสุข ที่สำคัญ “การแต่งงานไม่ได้หมายความว่าร่างกายของผู้หญิงต้องตกเป็นของเรา เธอยังมีสิทธิที่จะเอาร่างกายนี้ไปทำอะไรก็ได้และเราควรให้โอกาสกับเธอ ต้องยอมรับว่าผู้ชายหลายคนเป็นคนแก่ สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ขณะที่ผู้หญิงยังมีความต้องการมาก” (บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง, 2555)
อาชีพทหารของนายเท่ง ยอดทอง หนูนุ้ย และโถ เป็นชีวิตที่ต้องเดินทาง คนเหล่านี้พบเจอผู้หญิงมากมายในต่างเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “แม่หม้าย” การซื้อบริการหรือยอมเป็นผัวแม่หม้ายพร้อมกันหลายคนจึงเป็นเรื่องปกติ นอกจากน้องเดียวได้เสนอวิธีจีบสาวและทักษะในการรับมือกับผู้ชายแล้ว การใช้ถุงยางอนามัยเป็นสิ่งที่ถูกเน้นให้ต้องใช้ เขายังเสนอให้ทุกโรงเรียนมีบริการถุงยางหยอดเหรียญและให้ผู้หญิงทุกคนพกถุงยางอนามัยโดยไม่ต้องกลัวสังคมรังเกียจ จะเห็นว่า น้องเดียวไม่ได้สอนเรื่องความซื่อสัตย์ต่อคู่รักหรือศีล 5 ในกรอบศาสนา หากแต่สอนวิธีการมีเซ็กส์ที่ถูกต้องด้วยการป้องกัน และเซ็กส์เช่นนี้เป็นสิ่งที่รับได้ตราบที่ไม่ใช้กำลังขืนใจผู้หญิง
ลูกสาวของนายบองหลาหนีตามผู้ชายหลายครั้งจนเป็นที่นินทา หลายครั้งเธอเป็นเมียน้อย แต่บองหลาไม่ได้สนใจด้วยเหตุผลว่า อย่างน้อยเขามีทักษะในการใช้ชีวิต แม้จะไม่จบการศึกษาแต่เลี้ยงดูตัวเองได้ ไม่เคยของเงินพ่อแม่ เพราะหากไม่มี มันจะแอบขโมยของพ่อโดยไม่ต้องขอ (มุขนี้เสริมขึ้นมาเพื่อลดความกดดันอีกเช่นเคย) ลูกสาวมักได้ผัวรวยและส่งเงินให้พ่อใช้ ผัวคนปัจจุบันของเธอซื้อรถฟอร์จูนเนอร์ 4 ประตูให้กับพ่อตา บองหลากล่าวว่า “ลูกคนอื่นที่มีการศึกษาและแต่งงานตามกฎหมายไม่เห็นจะมีความสามารถทำเพื่อพ่อได้เท่ากับลูกกู บางคนชีวิตมันเองยังเอาไม่รอด ทุกอาชีพสำคัญในตัวมันเอง จึงไม่ควรดูถูกอาชีพผู้อื่น”
แนวคิดที่มองการใช้ร่างกายหาเงินว่าไม่ใช่สิ่งสกปรกเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะการเป็นโสเภณีจะถูกมองในทางตรงกันข้าม คนเหล่านี้จึงต้องส่งเงินไปทอดกฐินที่บ้านและบวชชีเพื่อชำระภาพลักษณ์ของการเป็นโสเภณีที่ผิดศีลธรรมอันดี (สุรางค์ อาจณรงค์, 2560) น้องเดียวเสนอว่า ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การเลี้ยงชีพอย่างสุจริต สำหรับพ่อแม่ แค่ได้เห็นลูกมีกินมีใช้และมีความสุขก็ภูมิใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นใหญ่เป็นโต และน้องเดียวไม่ได้มองว่าสิ่งนั้นขัดต่อศีลธรรมหรือจารีตที่ดีงามจนต้องชำระด้วยศาสนา
ท้าทายระบบอาวุโสของสังคมไทย
น้องเดียวท้าทายระบบอาวุโสด้วยการชี้ให้เห็นว่าเด็กที่ฉลาดสามารถเอาชนะผู้ใหญ่ได้ด้วยตรรกะที่ดีกว่า เด็กสามารถพูดทุกเรื่องได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เช่น เด็กบอกว่าไม่พอใจอย่างมากที่หนังตะลุงมาเล่นที่สนามโรงเรียน น้องเดียวก็ตอบว่า ทางคณะได้จ่ายเงินค่าดูแลสนามให้กับครูใหญ่ไปแล้ว แต่เด็กก็ยังแย้งว่า “ครูใหญ่ได้เงินไป แต่สุดท้ายก็มาบังคับให้พวกเราเก็บขยะอยู่ดี ทำไมน้าไม่ไปเล่นในวัดล่ะ พระจะได้ทำงานบ้าง” พระก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในฐานะคนทั่วไปโดยปราศจากความศักดิ์สิทธิ์ พระสามารถฉันมาม่าในกุฏิ ร้องเพลง (ได้ไพเราะมาก) และบางครั้งถูกยายแก่ข้างวัดขอ ID ไลน์เพื่อจะทักมาคุยในคืนที่นอนไม่หลับ สิ่งเหล่านี้เรียกเสียงหัวเราะได้มาก ซึ่งในชีวิตจริงน้องเดียวเองมีอัธยาศัยนอบน้อม เขาจะเข้ากราบและพูดคุยกับเจ้าอาวาสทุกครั้งก่อนเริ่มการแสดง
หนังน้องเดียวได้ปรับตัวอย่างมากทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น โปรเจคเตอร์ การผลิตรูปตัวละครใหม่ ๆ ที่ทันยุค ตลอดจนเนื้อหาที่ท้าทายกับจริยธรรมศาสนาและจารีตท้องถิ่น สิ่งนี้สะท้อนชัดว่า วัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและคนที่จะทำหน้าที่รักษาวัฒนธรรมได้ดีต้องเป็นคนที่ปรับตัวตามยุคสมัยได้ มิใช่การผลิตซ้ำของเก่าโดยแยกขาดจากบริบททางสังคมจนผู้คนไม่ให้ความสนใจ
มโนทัศน์ของชาวใต้ก็มิได้คงที่หรือเป็นหนึ่งเดียว ในอดีตพื้นที่นี้เป็นเมืองท่าซึ่งรับเอาวัฒนธรรมที่หลากหลายผ่านการเดินทางของผู้คน (cosmopolitanism) และปัจจุบันภาคใต้ยังถูกเชื่อมต่อกับพื้นที่อื่นทั่วโลกผ่านอินเตอร์เน็ต การศึกษาวัฒนธรรมหรือกรอบคิดของชาวใต้จึงควรถูกมองว่าหลากหลาย อนึ่ง จริยธรรมที่น้องเดียวเสนอสะท้อนว่าคนใต้ไม่ได้เชื่อแบบเดียวและมิได้อยู่ในกรอบศาสนาหรือความเชื่อท้องถิ่นแบบที่เข้าใจกัน หากแต่มีการเปิดรับสิ่งใหม่และเป็นโลกวิสัยที่เน้นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในระดับที่มากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม :
- อ้ายเท่ง อ้ายหนูนุ้ย ตัวตึงหนังตะลุง (เชื่อกันว่า) มาจากคนที่มีชีวิตอยู่จริง
- คำว่า “หนังตะลุง” มาจากไหน ?
- ตัวตลกในหนังตะลุงภาคใต้ สื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน สู่กำเนิด “บักหำศิลปิน”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
Ramstedt, M. (Eds). (2004). Hinduism in modern Indonesia: A minority religion between local, national and global interests. London, England: Routledge.
ทวีลักษณ์ พลราชม. (2559). อัตลักษณ์แบบผสมผสานกลายพันธุ์ของผู้หญิงมุสลิมปาตานี “สามรุ่น” ผ่านระบบการศึกษาแผนใหม่ระหว่าง พ.ศ. 2500-2525. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ 10 โรงแรมราชมังคลาสงขลาเมอร์เมด.
บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง. (2560). รายการ “แกะกล้า” ตอน นายหนังตะลุงตาบอดอัจฉริยะ. อมรินทีวี ออกอากาศเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2560.
บัญญัติ สุวรรณแว่นทอง. (2555). หนังตะลุงเรื่อง “รักข้ามภพ”. แสดงเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ที่อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช.
สุรางค์ อาจณรงค์. (2560). การสร้างอำนาจต่อรองของผู้หญิงขายบริการในเมืองชายแดน: ศึกษากรณีเมืองเบตง จังหวัดยะลา. ดุษฎีนิพนธ์ สาขาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์.
อนุรักษ์ เจ้ยทอง (2551). หนังตะลุงกับการเผยแผ่ธรรมะแก่ประชาชน: กรณีหนังตะลุง คณะสุรเชษฏ์บันเทิงศิลป์ จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์พุทธศาสตร์มหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2555). วัฒนธรรม. เข้าถึงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 จากเว็บไซด์ www.royin.go.th/?knowledges=วัฒนธรรม-๗-สิงหาคม-๒๕๕๕
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 สิงหาคม 2562