ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
---|---|
เผยแพร่ |
หนังตะลุงไม่ได้มีเฉพาะภาคใต้ หากแต่ได้แพร่หลายขึ้นมายังภาคกลาง ภาคอีสานจนแม้กระทั่งเชียงใหม่ด้วย
เรื่องนี้ผมเคยเขียนไปแล้ว ให้ดูได้จากหนังสือ หนังตะลุง-หนังใหญ่ สำนักพิมพ์พิมพ์คำ จัดพิมพ์ พ.ศ. 2546
หนังตะลุงมาเลย์ก็มี ชวาก็มี ตุรกีก็มี จีนก็มี ฝรั่งก็มี
ต่างคนต่างตัดรูปหนังเล่นกับเงากันไปตามความสามารถของแต่ละชาติแต่ละคน
การเล่นเงาของฝรั่งนั้นน่าสนใจมาก เพราะเขาพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
จากเล่นเงามือรูปหมา รูปนก ฯลฯ + เงาที่ตัดจากแผ่นโลหะหรือกระดาษ ….ก็มาเป็นภาพยนตร์ และการแสดงเงาคน
คนสองคน สามคน สี่คน ห้าคน ฯลฯ เล่นเงาซ้อนไปซ้อนมาจนเกิดภาพแปลกๆขึ้นบนจอดังเห็นได้จากคลิปในโลกอินเตอร์เนตปัจจุบัน
ไม่เชื่อก็พิมพ์คำว่า shadow play บนยูตุ๊บดู รายการ Britain’s Got Talent 2013 เป็นตัวอย่างที่ดี
- shadow play รายการ Britain’s Got Talent 2013 บนยูตุ๊บ
หนังตะลุงหนังใหญ่เรายังคงเล่นแบบโบราณ
อย่างเก่งก็คือพัฒนาการพูด การพากย์ เพลงประกอบ และตัวหนัง ให้กระชับทันสมัยขึ้นดังตัวอย่างหนังน้องเดียว เป็นต้น
แต่ถึงอย่างไรการเล่นเงาแบบพื้นบ้านก็ยังมีมนต์ขลังอยู่นั่นแหละ
สมัยผมเป็นเด็ก เพื่อนๆ ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านชอบทำโรงหนังเล่นกันในหมู่พี่น้องของเขา
ขึงจอ เอาใบจามจุรีแห้งมาโปรยรองนั่ง ตัดหนังจากกระดาษ เอาหม้อไหมาตีแทนกลอง
โน้งเหน่งโน้งแกระ โน้งเหน่งโน้งแกระ
ครึกครื้นสนุกสนานกันมาก คิดถึงเรื่องนี้แล้วอยากจะลุกขึ้นไปเต้น!!!
วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ผมมีงานต้องไปบรรยายให้เด็ก ม.1 โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ ฟัง ไกลถึงรังสิต
ต้องเตรียมภาพ เตรียมกิจกรรมไปให้เด็กเล่นแก้เบื่อเป็นระยะๆ เด็กเขาเก่ง กล้าแสดงออก ยกมือออกมาเล่นด้วยทุกเรื่อง
ผมให้ครูขึงจอ แล้วหาไฟฉายแรงสูง มาช่วยสอดส่อง ให้เด็กเชิดตัวหนังที่เตรียมไป 5 ตัว
สนุก และภาพออกมาสวยแฮะ ผมคิดอย่างนั้น แล้วก็เลยอยากเขียนถึงหนังตะลุงขึ้นมา
- เล่นหนังตะลุงที่โรงเรียนสาธิตแห่งธรรมศาสตร์ เอนกถ่าย-พุธ 29 ส.ค. 2561
คำว่าหนังตะลุงมาจากไหน เป็นคำถามยอดฮิต
คำว่าตะลุงน่ะ มาจากไหนฮึ ???
ยุค 2510-2520 เป็นยุคอาจารย์ตามภาคต่างๆ สนใจจัดสัมมนาเรื่องพื้นบ้านพื้นเมืองกันมาก
แต่กระนั้นก็ยังหาที่มาของคำว่าตะลุงแบบดีๆ ไม่ได้
ได้แต่เดากันข้างๆ คูๆ ว่า กร่อนมาจากคำว่า พัทลุงบ้าง มาจากหลักล่ามช้างที่เรียกว่า เสาตะลุงบ้าง (เดาว่าใช้หลักล่ามช้างขึงจอหนัง)
เดาแบบนี้ ผมไม่เชื่อ
หลายปีผ่านไป ผมบังเอิญอ่านงานวิจัยของ รศ.ชวน เพชรแก้ว แห่ง ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานีเข้าที่ไหนก็ไม่รู้
อ.ชวนให้ข้อคิดที่น่าสนใจมากคือ ตะลุงน่าจะมาจาก….
แต่ด้วยความประมาท ทำให้ผมไม่จด และที่สุดก็ลืม….
- อ.ชวน เพชรแก้ว (คนกลาง) เอนกถ่าย BW-0721-034
เสียเวลาไปอีกหลายปีจนเมื่อผมลงไปสงขลา พ.ศ. 2559 อ.ประเสริฐ รักษ์วงศ์ ซึ่งเป็นทั้งครูและนายหนังอยู่ทางหาดใหญ่ ก็ถ่ายเอกสารหนังสือที่ผมตามหามานาน มามอบให้ที่สนามบินเมื่อวันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559…
หนังสือเล่มนั้นชื่อ “หนังตะลุงในประเทศไทย” ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยประจำปี 2543 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ.2548
อ.ชวน แห่งสำนักศิลปะและวัฒนธรรม ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวในหน้า 25 ว่า ที่อินเดีย มีการเล่นหนังที่รัฐเกราลา และโออริสสา ตัวหนังที่ใช้เป็นตัวหนังขนาดเล็กอย่างทางภาคใต้ของไทย
ทางรัฐทมิฬนาดู แต่เดิมก็เคยมีการเล่นหนังแบบนี้
คนรัฐทมิฬนาดูเรียกตัวหนังดังกล่าวว่า “Tolungu”
อ.ชวนเห็นว่าออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า “ตะลุง” มาก จึงคิดว่า Tolungu น่าจะเกี่ยวพันกับคำว่า หนังตะลุงของไทย…..
รศ.ชวนลงรูปหนังตะลุงรัฐเกราลาท้ายเล่ม 1 หน้า ตามด้วยหนังตะลุงชวา เขมร และไทย…แต่ไม่เห็นลงตัวหนังตะลุงจากรัฐทมิฬนาดู
ผมไม่เคยไปอินเดีย ก็เลยได้แต่รอว่านักท่องโลกคนไหนจะเอารูปหนังตะลุงรัฐทมิฬนาดูมาอวดกันมั่ง
อินตรเดียไม่ได้มีแต่เรื่องศาสนากับโรตีนะแจ๊ะ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กันยายน 2561