ผู้เขียน | เสี่ยวจิว |
---|---|
เผยแพร่ |
“อาคิว” ตัวละครอมตะของ “หลู่ซิ่น” จากผลงาน “ประวัติจริงของอาคิว” ที่ไม่ว่ายุคใด วงการใด ตัวละครนี้ก็ยังมีชีวิตอยู่เสมอ
หลู่ซิ่น เป็นนามปากกาของ โจวซู่เหริน (25 ก.ย. 2424 – 19 ต.ค. 2479) นักประพันธ์ผู้หนึ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีนใหม่ เมื่อหลู่ซิ่นอายุ 23 ปี ได้รับทุนไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่น เขาเลือกเรียนวิชาการแพทย์ด้วยความหวังที่จะเป็นเครื่องมือ “กู้ชาติ” แต่ภายหลังเขาก็เปลี่ยนมาศึกษาทางปรัชญาและวรรณคดี
เขาให้เหตุผลว่า “เมื่อประชาชนของประเทศที่อ่อนแอและล้าหลังแล้ว ไม่ว่าจะมีร่างกายแข็งแรงเพียงไร จะเป็นได้ก็แต่แบบอย่างในการถูกตัดหัวเสียบประจานกับผู้ชมเหตุการณ์ที่ปราศจากความหมายเท่านั้น…เพราะเหตุนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงได้แก่ การเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา นับแต่นั้นเป็นต้นมาข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกว่า วรรณคดีคือปัจจัยที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้”
พ.ศ. 2461 นามปากกาหลู่ซิ่นก็ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในนิยายเรื่องสั้นชื่อ “บันทึกประจำวันของคนบ้า” เป็นนิยายสมัยใหม่เรื่องแรกที่โจมตีจริยธรรมของศักดินาอย่างตรงตัว หลังจากนั้นก็มีผลงานอื่นๆ ตามมา หากผลงานเขียนโด่งดังของที่สุดของหลู่ซิ่นคือ “ประวัติจริงของอาคิว” ใน พ.ศ. 2464
เรื่องประวัติจริงของอาคิวแปลเป็นภาษาอังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, ไทย ฯลฯ ประวัติจริงของอาคิวฉบับภาษาไทย พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2500 ที่สำนักพิมพ์เทวเวศม์ โดยผู้แปลคือ เดชะ บัญชาชัย
“อาคิว” เป็นตัวละครสำคัญ อาคิว เป็นคนงานรับจ้างทั่วไปในหมู่บ้านชนบทที่ชื่อ เว่ยจวง โดยเรื่องราวของอาคิวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2454 ที่จีนเกิดเหตุการณ์โค่นล้มราชวงศ์ชิง ที่น่าสนใจคือ “บุคลิกภาพ” หรือนิสัยจำเพาะของอาคิวที่หลู่ซิ่นสร้างขึ้น ทำให้อาคิวเป็นตัวละครอมตะที่ว่า
“ความจริง อาคิวเป็นทาส แต่เป็นทาสที่ไม่ยอมรับตรงๆ ซึ่งหน้าว่าตนเป็นทาส อาคิวจึงเป็นยอดปรารถนาของชนชั้นปกครองในทุกยุคทุกสมัย เพราะไม่ว่าจะถูกกดขี่เพียงใด ก็ถือว่าตนเป็นผู้ชนะอยู่ในใจ ถ้าถูกคนที่แข็งแรงกว่าข่มเหง ก็หันมาออกตัวกับคนที่อ่อนแอกว่า
อาคิวในวงการธุรกิจได้แก่คนที่มีหนี้สินท่วมตัว แต่มีความสุขใจอยู่ด้วยการคุยอวดร่ำอวดรวย คนประเภทต้องเช่าบ้านอยู่ แต่ขับรถยนต์คันโตๆ
อาคิวในวงการศึกษาก็คือคนที่มีความรู้ครึ่งๆ กลางๆ แต่ก็มีความสุขถ้าได้มีโอกาสคุยโตโอ้อวดความรู้ หลอกตนเองว่ารู้ในเรื่องที่ตัวไม่รู้ เพราะการพูดความจริงว่าตัวเองไม่รู้เป็นความอัปยศที่คนอย่างอาคิวยอมรับไม่ได้เป็นอันขาด…”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ทวีปวร. กวีนิพนธ์หลู่ซิ่น, สำนักพิมพ์สุขภาพใจ. พิมพ์ครั้งที่ 2, 2543
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มิถุนายน 2564