เหตุใดเรียกทะเลน้ำจืดว่า ทะเลสาบ ทําไม “ทะเล” ต้อง “สาบ” ?

โตนเลสาบ ทะเลสาบ ทะเลน้ำจืด ชาวเขมร กัมพูชา ชาวประมง
โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา เมื่อ ค.ศ. 1998 (ภาพโดย ROB ELLIOTT / AFP)

ทะเลสาบ แม้ไม่แปลความก็คงทราบกันอยู่โดยทั่วไปว่า หมายถึง ทะเลน้ำจืด แต่อาจมีบางท่านคิดไปว่า เหตุที่ จืด นั้น เพราะเป็นทะเลที่ถูก สาป กระมัง จึงได้ชื่อว่า ทะเลสาบ ที่หมายถึงทะเลน้ำจืด

สาบ ในคำว่า ทะเลสาบ เป็นคนละคำกับคำว่า สาป เพราะฉะนั้น ที่คิดว่า ทะเลสาบ เป็นทะเลน้ำจืด เพราะถูกสาปนั้นจึงไม่ใช่ เพราะ สาบ กับ สาป มีความหมายต่างกัน

คําว่า สาบ ที่สะกดด้วย เป็นคำยืมภาษาเขมร มาจากคำว่า สาบ ออกเสียงตามภาษาเขมรว่า ซาบ มีความหมายว่า จืด นอกจากนี้ อาจหมายถึงว่า “เสื่อม, ไม่มีค่า” ก็ได้เช่นกัน

ส่วนคำว่า สาป นั้นเป็นคำที่ไทยยืมมาจากภาษาสันสกฤตว่า ศาป ซึ่งมีความหมายว่า “การหรือคำสาป, การหรือคำด่า, อปวาท, ศบถ”

ส่วนคำว่า ทะเล นั้น ก็เป็นภาษาเขมรอีกเช่นเดียวกัน โดยมาจากคำว่า ทนฺเล ออกเสียงในภาษาเขมรว่า ต็วนเล มีความหมายว่า แม่น้ำ เช่น ทนฺเลเมกุง ก็หมายถึง แม่น้ำโขง

แต่เมื่อไทยนำคำนี้มาใช้ได้เปลี่ยนความหมาย ดังนั้น ทะเล จึงหมายถึง ทะเล (แหล่งน้ำเค็มขนาดใหญ่) ไม่ใช่แม่น้ำ ตามความหมายในภาษาเขมร

ดังนั้น เมื่อรวมคำว่า ทนฺเล เข้ากับคำว่า สาบ จึงกลายเป็นคำใหม่ว่า ทนฺเลสาบ ซึ่งแปลความตามศัพท์ได้ว่า ทะเลน้ำจืด และคำนี้มีใช้ในภาษาเขมรปัจจุบันด้วย ดังที่ พจนานุกรมเขมร ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ พ.ศ. 2512 ให้ความหมายไว้ว่า

“ทนฺเลสาบ น. ชื่อบึงใหญ่มองไม่เห็นฝั่งตรงข้าม คล้ายกับทะเล แต่มีน้ำจืด, ในกัมพุชรัฐมีทะเลสาบแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศพายัพของกรุงพนมเปญ เป็นที่สมบูรณ์ มัจฉาชาติเป็นที่สุดยิ่งกว่าบึงยิ่งกว่าแม่น้ำแห่งใดในโลก

หากค้นคว้าหาต้นกำเนิดของคำว่า ทนฺเลสาบ นี้ ควรเข้าใจว่า สยามเรียกสมุทร (ทะเล) ว่า ทะเล, สาบ เขมรว่า ‘ไม่เค็ม’ สยามว่า ‘จืด’

สยามจึงควรเรียกบึงใหญ่คล้ายกับสมุทรว่า ‘ทะเลจืด’ = ‘ทะเลสาบ’

สยามใช้คำว่า ‘ทะเล’ หมายถึง ‘สมุทร’ เขมร ใช้คำว่า ทนฺเล หมายถึง ‘แม่น้ำใหญ่’

ทนฺเลสาบ หมายถึง ‘แม่น้ำไม่เค็ม’ คือ แม่น้ำมีน้ำจืด หากเป็นเช่นนั้น แม่น้ำเค็มอยู่ที่ไหน ก็ไม่มี

เมื่อไม่มีแม่น้ำเค็ม จะมีแม่น้ำจืดได้อย่างไร?

หากเขมรเรียกบึงใหญ่นี้ว่า ‘สมุทรสาบ’ สยามเรียกว่า ‘ทะเลจืด’ เช่นนี้จึงจะสมควร

เพียงแต่หากเราจะแก้คำนี้เป็น ‘สมุทรสาบ’ หรือ ‘ทะเลจืด’ ก็คงไม่ได้ เพราะว่า ทนฺเลสาบ มีอยู่ในแผนที่โลกแล้ว และเรียกกันโดยทั่วไปว่า ทนฺเลสาบ และทะเลสาบแล้ว ก็คงต้องปล่อยไว้เป็นเช่นนี้ไม่ควรแก้”

โตนเลสาบ ประเทศกัมพูชา เมื่อ ค.ศ. 1998 (Photo by ROB ELLIOTT / AFP)

จะเห็นว่า เขมรมีวิธีคิดเกี่ยวกับที่มาของคำต่างไปจากไทยบ้าง และเขมรก็คงอาจลืมไปแล้วว่า คำว่า ทนฺเล เป็นคำที่เขมรใช้มาตั้งแต่เขมรโบราณสมัยเมืองพระนคร เนื่องจากพบในศิลาจารึกเขมรโบราณ และมีใช้ในความหมายว่า “แหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่, แม่น้ำ, ทะเลสาบ และทะเล”

ดังตัวอย่างการใช้ในศิลาจารึก K. 383 มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “ชฺยก ทนฺเล ติ เหา ศฺริทิวากรตฏาก” แปลว่า “ขุดแหล่งกักเก็บน้ำอันเรียกว่า ศรีทิวากรตฏากะ”

ผู้เขียนสันนิษฐานว่า เหตุหนึ่งที่เขมรใช้ ทนฺเล ในความหมาย “แหล่งเก็บกักน้ำ หรือแม่น้ำ” อาจเป็นเพราะว่า กลุ่มเขมรที่ตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองพระนครเป็นกลุ่มชาวบก (คือเป็นกลุ่มเขมรที่อยู่ทางตอนเหนือของทะเลสาบขึ้นไป) ไม่ใช่ชาวน้ำ ดังนั้น จึงแทบไม่รู้จัก หรือให้ความสำคัญกับทะเลมากเท่าแม่น้ำ

ความหมายของคำว่า ทนฺเล ในความรู้สึกของชาวเขมร จึงใช้ในแง่ความหมายว่า แม่น้ำ มากกว่าที่จะหมายถึง ทะเล ทั้ง ๆ ที่มีความหมายว่าทะเลด้วย

ดังนั้น ในภาษาเขมรปัจจุบัน ทนฺเล จึงมีความหมายเพียง แม่น้ำ และหากจะกล่าวถึง ทะเล ก็จะใช้คำว่า สมุทร ซึ่งเป็นคำบาลี-สันสกฤตที่ภาษาเขมรปัจจุบันรับเข้ามาใช้ จะสงวนความหมายเดิมไว้บ้างก็เพียงในคำว่า ทนฺเลสาบ ที่หมายถึง ทะเลสาบ เท่านั้น

ส่วนไทยรับคำนี้โดยผ่านมาทางวัฒนธรรมเขมร ความหมายของคำว่า ทนฺเล จึงหมายถึง ทะเล มากกว่า แม่น้ำ เพราะไทยมีศัพท์คำนี้ใช้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น คำว่า ทนฺเล จึงเป็นคำภาษาเขมรอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วต่อมาเมื่อไทยยืมมาใช้จึงเปลี่ยนความหมายไป และกลายเป็น ทะเล เพียงความหมายเดียว

เมื่อรวมความแล้ว ทะเลสาบ หรือ ทนฺเลสาบ จึงควรจะเป็นภาษาเขมรในภาษาไทยอีกคำหนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่า ทะเลน้ำจืด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “แลหลังคำเขมร-ไทย” เขียนโดย รศ. ดร. ศานติ ภักดีคำ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน, 2562


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม 2564