
ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | ไมเคิล ไรท์ |
เผยแพร่ |
ความนำ
ทุกชาติทุกภาษาทั่วโลกรู้จักคำว่ากิน และมีศัพท์เฉพาะเรียกกริยานั้น เช่น อังกฤษว่า Eat ฝรั่งเศสว่า Manger เวียดนามว่าอัง จีนว่าชื่อะ มอญว่าเจีย เขมรว่าซี มาเลย์ว่ามะกัน ไม่เห็นมีใครละอายกัน
คนไทยก็เช่นกัน อาหารการกินเป็นชีวิตจิตใจ และชาวบ้านมีคำว่ากิน ไม่เห็นน่ารังเกียจตรงไหน แต่ในสังคมสมัยปัจจุบัน “ผู้ดี” ละทิ้งคำว่ากิน ว่าหยาบคายแล้วนำคำรับประทานมาใช้เป็นกริยา หมายถึง “ผู้ดี” ขยับข้าวปลาเข้าปาก
แปลกดีไหม? คำว่ารับประทานโผล่มาจากไหน?
หลักฐานนิรุกติศาสตร์
คำว่าทาน (Dāna) เป็นคำนาม หมายถึงของที่ให้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งของที่คนมีมอบให้คนอนาถา (Alms, Charity) การตักบาตรหรือเลี้ยงพระคือทาน (Dāna) ในพุทธศาสนา และทุกศาสนาถือว่าการให้ทานแก่ผู้ขัดสนเป็นคุณอันประเสริฐ
คำว่าประทาน เป็นกริยา หมายความว่ามอบให้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ท่านผู้ใหญ่ยกของมีค่าให้ผู้น้อย เช่น “ท่านประทานรางวัลแก่ผู้ชนะ” ดังนั้นเมื่อใคร “รับประทานกล้วย” ก็น่าสงสัยว่า ท่านผู้ใดประทานกล้วยนั้นไป?
ภาษาไทย (สันสกฤต) ยังมีอีกคำคล้ายประทาน คือประสาท ที่มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น ในวลี ประสาทพร ประสาทปริญญา คำนี้ยังปรากฏในพิธีกรรมพราหมณ์-ฮินดู
หลักฐานจากเทวสถาน
สาธุชนชาวฮินดูที่หมายจะบูชาเทพเจ้าย่อมซื้อ “กระจาดบูชา” ที่ประกอบด้วยธูป เทียน กล้วย อ้อย มะพร้าว เครื่องหอม และธนบัตร พ่อพราหมณ์จะนำกระจาดเข้าไปถวายเทพเจ้าในปราสาท เก็บส่วนที่เป็นของพราหมณ์แล้วท่านจะนำเศษกล้วย อ้อย มะพร้าว ออกมา แกว่งประทีป เจิมหน้า และยกเศษนั้นให้สาธุชน เศษกล้วย อ้อยนั้น นัยหนึ่งเรียกว่า Mangalam (มังคลัม) คือของศักดิ์สิทธิ์ อีกนัยว่า Prasādam (ประสาท) คือของที่เทพเจ้าทรงประสิทธิ์ประสาทมาเป็นเครื่องมงคลประดับความเจริญในชีวิต สาธุชนย่อมรับประทานเองบ้างและนำกลับไปให้ญาติรับประทานที่บ้าน


หลักฐานจากเทวสถานฮินดูอาจจะสำคัญ เพราะท่าน “วิศวมิตร์” (ในไทยเขษมรีวิว เดือนเมษายน 2475) เคยเสนอว่า ราชาศัพท์ของสยามหลายสำนวนแปลมาจากทมิฬคำต่อคำ
ข้อสันนิษฐานจากสยาม
ผมไม่มีหลักฐาน แต่ขอสันนิษฐานดังนี้
1. สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้าราชการผู้ใหญ่ที่มาอยู่เวรในวังหลวงคงขัดสนเรื่องเสบียงอาหาร จะนำปิ่นโตเข้าไปก็ไม่ควร จะสั่งซื้อก๋วยเตี๋ยวจากข้างนอกก็ไม่สะดวก ท่านจึงคงอาศัยอาหารจาก “ครัวหลวง” ในวัง และสมควรพูดได้ว่า “ข้าพเจ้ารับประทานอาหาร” คือได้กินข้าวปลาอาหารที่พระมหากษัตริย์ประทานให้ (ของหลวง)
2. หลังจากที่เลิกระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2475 บรรดาข้าราชการที่ยึดอำนาจต่างอยากอวดอ้างความเป็นผู้ดีที่มีสิทธิอำนาจปกครองสามัญชนชาวไทยธรรมดาๆ จึงยึดภาษาชาววังเป็นเครื่องมือ
จะเรียกกันเองต้องใช้คำว่า “คุณ” คำว่า “ตีน”, “หมา”, “หมู”, กลายเป็นคำหยาบคาย ต้องเปลี่ยนเป็น “เท้า”, “สุนัข”, “สุกร” แล้วผู้ดีเทียมเหล่านี้ “กินข้าว” ไม่เป็น หาก “รับประทานอาหาร” เยี่ยงชาววังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์
3. ในที่สุดคำว่ารับประทานเล็ดลอดเข้ามาในภาษาผู้ดีชาวกรุงโดยทั่วไปจนลืมที่มาของคำนี้ คุณชายชาวไฮโซจึงกล่าวกับแขกผู้มีเกียรติว่า “เชิญรับประทานอาหารค่ะ” ทั้งๆ ที่อาหารนั้นออกมาจากครัวของเธอเอง (ไม่ใช่ครัวหลวง) และเธอไม่มีสิทธิ์จะ “ประทาน” อะไรแก่ใครทั้งนั้น
ความส่งท้าย
ทั้งนี้ผมเพียงสันนิษฐานครับ หากผิดผมขออภัยใครๆ มีสิทธิ์พูดจาตามใจชอบ อย่างไรก็ตามผมรักคำว่า กิน ข้าวปลา ตีน หมู หมา ที่ต่างซื่อสัตย์สุจริตไม่แบ่งชนชั้น หากท่านผู้อ่านนิยม “รับประทานอาหาร” ผมก็ไม่ขัดข้อง
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2559